เฉลิมพระเกียรติ 64 พรรษา สมเด็จพระบรมฯ “สยามมกุฎพิสุทธิ์ศิลป์”

2160

2174

2161

เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุ 64 พรรษา ในปี 2559 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้จัดทำหนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ “สยามมกุฎพิสุทธิ์ศิลป์” อันมีเนื้อหาสะท้อนพระราชกรณียกิจด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อหน่วยงานต่างๆ และอาณาประชาราษฎร์

Advertisement

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2495 เวลา 17.45 น. ทรงพระนามเมื่อแรกพระราชสมภพว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”

2159

เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2515 มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร”

Advertisement

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเริ่มศึกษาชั้นอนุบาลและประถมศึกษาจากโรงเรียนจิตรลดา จากนั้นเสด็จฯไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมัลล์ฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ

2164

หลังจากนั้นทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์สกูล ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เสร็จแล้วทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงเคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย หลักสูตรของวิทยาลัยการทหารแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหาร และภาคการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี ทรงเลือกศึกษาต่อในสาขาอักษรศาสตร์ และทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย

เมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทย ทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 จากนั้นทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) และทรงศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร

ภายหลังจากทรงสำเร็จการศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บ่อยครั้งที่โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดาร หรือเมื่ออุทกภัยครั้งใหญ่ ในปี 2554 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีความห่วงใยในพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม พระองค์เสด็จฯไปทรงเยี่ยมและพระราชทานถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัย พร้อมกับมีพระราชปฏิสันถารเพื่อพระราชทานกำลังใจให้ต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ และให้มีความอดทน สร้างความรู้สึกปลาบปลื้มแก่ผู้ประสบอุทกภัยเป็นอย่างยิ่ง

2168

นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระราชศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนาด้วยพระองค์เอง เช่น ทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะเมื่อ พ.ศ.2509 ทรงผนวชเมื่อ พ.ศ.2521 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพุทธศาสนาต่างๆ ทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์และในฐานะของพระองค์เอง อาทิ วิสาขบูชา มาฆบูชา ทั้งยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมของศาสนาอื่นๆ อาทิ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์เปิดงานเมาลิดกลางของศาสนาอิสลาม ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ในการพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย ของศาสนาพราหมณ์ และร่วมกิจกรรมส่งเสริมคริสต์ศาสนา ศาสนาพราหมณ์ฮินดู และศาสนาซิกข์อยู่เสมอ

ในการก่อสร้างพระพุทธรูป “พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา” ณ หน้าผาเขาชีจรรย์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ.2539 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นประธานในการดำเนินงาน ทรงมีพระราชอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงควบคุมการจัดสร้างตั้งแต่ต้นจนแล้วเสร็จ เป็นพระพุทธรูปแกะสลักลายเส้นบนหน้าผาที่สง่างามดังปรากฏในปัจจุบัน

2166

2165

ด้านศิลปวัฒนธรรม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระด้านศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณีในวาระสำคัญของชาติ อาทิ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์และศาลหลักเมือง ตลอดจนในการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ได้เสด็จฯไปทอดพระเนตรแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม เช่น พิพิธภัณฑสถานและโบราณสถานสำคัญของประเทศนั้นๆ ด้วย

ทรงเล็งเห็นความสำคัญในด้านศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นสมบัติของชาติที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติไทย โดยพระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาอย่างสม่ำเสมอ อาทิ

“…ชาติไทยของเรามีความเจริญด้วยศีลธรรมจรรยา และศิลปวัฒนธรรมครบถ้วนทุกสาขา สิ่งเหล่านี้เป็นสมบัติล้ำค่าที่ได้รับการถ่ายทอดมาแต่บรรพชน ต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน บางสิ่งก็พัฒนาก้าวหน้างอกงามและแพร่หลาย แต่บางสิ่งก็กำลังจะเสื่อมสลายเลือนลาง สมบัติทางศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นนิมิตหมายสำคัญอย่างเอก ที่แสดงให้เห็นความเป็นชาติไทย คนไทย ซึ่งแตกต่างจากชาติอื่น คนอื่น จึงเป็นสิ่งที่บัณฑิตพึงศึกษาให้เห็นแจ้งถึงคุณค่า และพยายามถนอมรักษาไว้ด้วยความรู้ ความสามารถ และความฉลาดรอบคอบ เพื่อมิให้ต้องสูญหาย หรือแปรสภาพไปในทางเสื่อม ในการนั้น ขอให้ทุกท่านระลึกให้ได้ว่า การศึกษาและการรักษาศิลปวัฒนธรรม แท้จริงก็คือการจรรโลงรักษาอิสรภาพและความเป็นไทยของชาติไทยและคนไทยแต่ละคนไว้นั่นเอง…” พระราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยครู เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535

“วัฒนธรรมพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นของจังหวัดใด ภูมิภาคใด ล้วนเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีงามของคนไทยทั้งสิ้น บัณฑิตจึงควรศึกษาให้เห็นซึ่งในคุณค่าเพื่อจักได้สามารถรักษา พัฒนาและเผยแพร่ให้สมบัติอันมีค่าของคนไทยและชาติไทยยั่งยืนไป”

พระราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันราชภัฏ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2546

นับเป็นพระราชกรณียกิจที่ธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไทย

2162

2163

2175

2168

2169

2170

2172

2176

VEK_9404

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image