น้อมนำพระดำริ ‘เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา’ เครือข่ายเตือนภัยพิบัติ 3 จว.ชายแดนใต้

น้อมนำพระดำริ ‘เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา’ เครือข่ายเตือนภัยพิบัติ 3 จว.ชายแดนใต้

ด้วยพระเมตตาที่ทรงห่วงใยราษฎร โดยเฉพาะเรื่องภัยพิบัติต่างๆ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ดำเนินกิจกรรมด้านการเฝ้าระวังภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเหตุอุทกภัยและดินถล่ม เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอันเกิดจากเหตุอุทกภัยให้แก่ประชาชนคนไทยทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

โดยจัดให้มีระบบการเตือนภัยล่วงหน้าและการบริหารจัดการน้ำในระดับชุมชน รวมทั้งสร้างศักยภาพและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้มีองค์ความรู้ ความพร้อม และความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

เพื่อการดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จไปทรงเปิดการประชุมหลักสูตรบริหารจัดการน้ำและจัดการภัยพิบัติ เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ณ ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา

Advertisement

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิ กล่าวว่า มูลนิธิได้น้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการติดตามและเฝ้าระวังอุทกภัย โดยติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติสำหรับติดตามปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำ และจัดตั้งเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งในระยะแรก มูลนิธิได้ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติในพื้นที่ชุมชนที่มีความเสี่ยงภัยแล้วจำนวน 49 สถานี ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ต่อมามูลนิธิได้ขยายผลร่วมกับภาคีเครือข่ายอีก 7 หน่วยงาน ดำเนินโครงการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อตรวจวัดข้อมูลภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำ จำนวน 510 สถานี ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยในปี 2563 ติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำนวน 80 สถานี ในพื้นที่ป่าต้นน้ำทางภาคเหนือ ในปี 2564 จะติดตั้งอีก จำนวน 62 สถานี

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมูลนิธิได้จัดตั้งเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ทั้งหมด 20 เครือข่าย ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังภัย การเตือนภัยและอพยพกรณีประสบภัยพิบัติ และการบริหารจัดการน้ำในระดับชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งมูลนิธิได้ให้การสนับสนุนงบประมาณมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน

“สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่ภาคใต้ มีเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ของมูลนิธิ จำนวน 10 เครือข่าย ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ดำเนินงานตามแผนงานด้านเทคโนโลยี เช่น จัดหาวิทยุสื่อสาร เสาสูงส่งสัญญาณวิทยุ ติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ และแผนงานด้านฟื้นฟูและพัฒนาเชิงพื้นที่ เช่น การฟื้นฟูแหล่งน้ำ การเสริมโครงสร้างน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ และบรรเทาอุทกภัย และเมื่อชุมชนดำเนินงานประสบความสาเร็จแล้ว ก็จะเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่ได้ศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมขยายเครือข่ายไปยังพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น”

Advertisement

นอกจากนี้ มูลนิธิยังได้ร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานบูรณาการด้านการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขยายผลจากตัวอย่างความสำเร็จของเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนในลุ่มน้ำปัตตานี ซึ่งมีความพร้อมในการติดตามสถานการณ์น้ำ เฝ้าระวัง ป้องกัน บรรเทาภัยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ไปยังเครือข่ายประชาชนในระดับพื้นที่ให้เกิดการประสานงาน อำนวยการเหตุการณ์แบบเชิงรุก โดยร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) จัดตั้งศูนย์สารสนเทศการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้ติดตามสถานการณ์น้ำและวิเคราะห์ข้อมูลสนับสนุนแผนพัฒนาในภาวะปกติ ส่วนในภาวะเกิดเหตุอุทกภัยร้ายแรง ศูนย์ฯแห่งนี้จะทำหน้าที่อำนวยการ ประสาน เสริมการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ แจ้งเตือนสถานการณ์ ร่วมเตรียมรับมือ บริหารจัดการ และฟื้นฟูเยียวยา

“ในส่วนของการติดตามสถานการณ์นั้นจะเชื่อมโยงกับศูนย์ข้อมูลน้ำระดับจังหวัดที่อยู่ภายใต้การบัญชาการของผู้ว่าราชการจังหวัด และในขณะเดียวกันก็ประสานสู่ระดับชุมชนผ่านเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ชายแดนใต้ ได้แก่ เครือข่ายฯลุ่มน้ำปัตตานี และเครือข่ายฯอำเภอสุคิริน เพื่อเตือนภัยและเข้าให้ความช่วยเหลือบรรเทาภัยแก่ราษฎรได้ทันสถานการณ์

“หากทุกฝ่ายร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกันมากขึ้น การช่วยเหลือประชาชนก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งในวันนี้ มูลนิธิได้ขยายเครือข่ายการดำเนินงาน ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการดำเนินงานด้านการเฝ้าระวังภัยพิบัติ การบรรเทาทุกข์ และการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์กล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image