ในหลวง ทรงห่วงใยประชาชน พระราชทานความช่วยเหลือวิกฤตโควิด บรรเทาทุกข์พสกนิกร

ในหลวง ทรงห่วงใยประชาชน พระราชทานความช่วยเหลือวิกฤตโควิด บรรเทาทุกข์พสกนิกร

ในยามที่ประเทศไทยประสบกับมหาวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องมาตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดของโรค ทรงรับเป็นพระราชภารกิจสำคัญในการดูแลสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ได้พระราชทานความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์พสกนิกร

ด้วยพระราชวิสัยทัศน์อันยาวไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงคาดการณ์ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะไม่จบลงในเร็ววัน จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์รวมแล้วกว่า 1,100 ล้านบาท เพื่อใช้จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ แก่กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานการณ์นี้คลี่คลายโดยเร็ว และให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติสุขได้อีกครั้ง

พระราชดำรัส

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์ในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า “เครื่องมือที่ใช้ต่างๆ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ แต่หลักๆ ก็มาจากคน อะไรที่สำคัญในคนก็คือทัศนคติที่ดี เข้าใจปัญหา มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด เมื่อมีเครื่องมือเครื่องใช้มาสนับสนุน ก็ใช้เครื่องมือเครื่องใช้ให้ถูกจุด ใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อที่จะเสริมในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป”

Advertisement

อุปกรณ์การแพทย์รับมือโควิด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชบายให้เร่งจัดหาเครื่องช่วยหายใจให้ทั่วถึง และได้พระราชทานเครื่องช่วยหายใจ ในโครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน ตั้งแต่ห้วงของการแพร่ระบาดระลอกแรก จนถึงปัจจุบัน รวมแล้ว 488 เครื่อง ให้แก่โรงพยาบาล 123 แห่ง ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ

ทั้งนี้ พระองค์ทรงให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทราบผลและจำนวนผู้ติดเชื้อ เพื่อควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที จึงมีพระบรมราโชบายให้จัดสร้างรถตรวจเชื้อชีวนิรภัย เพื่อใช้ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก พระราชทานรถตรวจเชื้อชีวนิรภัย รวมแล้วทั้งสิ้น 36 คัน

อีกทั้ง ยังได้พระราชทาน รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ จำนวน 5 คัน สำหรับใช้งานคู่กับรถชีวนิรภัย มีลักษณะเป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่พร้อมกับเครื่องมือที่จำเป็นติดตั้งภายในรถ ด้วยสมรรถนะที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ทำให้สามารถทราบผลตรวจได้ภายใน 3 ชั่วโมง สามารถตรวจได้ 800-1,000 ตัวอย่าง/วัน ช่วยค้นหาผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว

Advertisement

รวมทั้ง ทรงให้จัดสร้างรถเอกซเรย์ ระบบดิจิทัลขึ้น จำนวน 2 คัน เป็นรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัลคันแรกในประเทศไทย ที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ สามารถส่งข้อมูลวินิจฉัยของผู้ป่วย ผ่านสัญญาณระบบ 5G ให้แพทย์ช่วยทำการวิเคราะห์ ประเมินคัดกรองผู้ป่วยผ่านจอมอร์นิเตอร์

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ จำนวน 30 เครื่อง ที่สามารถนำไปใช้ตรวจในพื้นที่ภาคสนามได้อีกด้วย

โดยนับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ลงพื้นที่ตรวจผู้ติดเชื้อเชิงรุกให้ประชาชนแล้วกว่า 630,000 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพิ่มความรวดเร็วในการค้นหาผู้ป่วย ณ จุดที่มีการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

พร้อมกันนี้ ยังได้พระราชทานพระราชดำริในการสร้างห้องตรวจหาเชื้อให้กับโรงพยาบาลต่างๆ โดยบริษัทเอสซีจีดำเนินการสร้างห้องตรวจหาเชื้อ Modular Swab Unit ให้กับโรงพยาบาล 20 แห่งทั่วประเทศ มีคุณลักษณะพิเศษ คือ เป็นห้องมีที่ระบบควบคุมแรงดัน และคุณภาพอากาศที่เหมาะสม ช่วยป้องกันทีมแพทย์ที่อยู่ในห้องตรวจจากผู้ที่มาเข้ารับบริการ

ในการนี้ พระราชทานห้องความดันลบ จำนวน 2 ห้อง ให้กับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมทั้งห้องความดันลบเคลื่อนที่ จำนวน 10 ห้อง ให้กับโรงพยาบาลบางขุนเทียน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ใช้แยกผู้ป่วยติดเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายขอเชื้อโรคจากห้องไปสู่บริเวณภายนอกอื่นๆ ในสถานพยาบาลได้ และห้องความดันลบเคลื่อนที่ยังสามารถนำไปใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามได้

และเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย ได้พระราชทานชุด PPE กว่า 704,000 ชุด พระราชทานชุด PAPR จำนวน 624 ชุด เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สวมใส่ปฏิบัติงานในห้องผ่าตัด ห้อง ICU โดยเฉพาะ

 

ทรงเคียงข้างประชาชน

ในสถานการณ์ครั้งนี้ทรงทราบถึงความทุกข์ร้อนของพสกนิกร ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้พระราชทานถุงยังชีพให้กับประชาชนพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวม 188,266 ถุง รวม 659 ชุมชน กว่า 130,000 ครัวเรือน และได้พระราชทานยาฟ้าทะลายโจรพระราชทานให้แก่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) จำนวน 2,000 ขวด

พระราชทานยาฟ้าทะลายโจร

ด้วยทรงห่วงใยและทรงให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ที่เสียสละกำลังกาย และอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอาหารปรุงสุกใหม่ แก่บุคลากรทางการแพทย์ ณ โรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามต่างๆ อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ด้วยการทรงประกอบอาหารพระราชทานด้วยพระองค์เอง อาทิ เมนูก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลูกชิ้น ก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋นมะระเครื่องยาจีน ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟลูกชิ้นเห็ดหอม ข้าวซี่โครงหมูอบกระชายขาวยอดผัก ไข่เจียวหมูสับกระชายซอย คั่วกลิ้งไก่กระชายขาว ลาบเหนือคั่วกระชาย ซึ่งล้วนเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ มีประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย

เมนูพระราชทาน

นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครัวพระที่นั่งอัมพรสถานและหน่วยงานทหารจัดอาหารพระราชทานให้แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง อาทิ เขตบางพลัด 2,250 กล่อง, เขตวัฒนา 6,900 กล่อง, เขตบางคอแหลม 5,700 กล่อง, เขตคลองเตย 9,000 กล่อง, เขตดุสิต 11,946 กล่อง, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 8,400 กล่อง

ขณะที่ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ อัญเชิญอาหารพระราชทานซึ่งทรงปรุงด้วยพระองค์เอง ในเมนู “กูลาซหมูกระชายขาว” และเจลแอลกอฮอล์ มอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลบุษราคัม กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจต่อไป

พลอากาศเอก สุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์ 904 ผู้แทนพระองค์ได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัส ความว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างใกล้ชิด ทรงห่วงใยประชาชน ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย ทรงห่วงใยและให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ที่เสียสละกำลังกาย และอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด 19”

โรงครัวพระราชทาน
เจลพระราชทาน
พระราชทานอาหารปรุงสุกใหม่บุคลากรทางการแพทย์

ใส่พระทัยผู้ต้องขัง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นว่า การแพร่ระบาดในพื้นที่เรือนจำ อาจจะระงับยับยั้งได้ยาก จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดหาเครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง กับโรงพยาบาลในสังกัดกรมราชฑัณฑ์ พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 200,000 เม็ด พระราชทานแก่กรมราชทัณฑ์ สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยในเรือนจำและทัณฑสถานต่างๆ
โดยทรงมีพระราชดำริว่า “ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ประสบปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากขาดแคลนเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ”

พระมหากรุณาธิคุณ

มิใช่เพียงสถานการณ์โควิด-19 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญในการดูแลทุกข์สุขของราษฎร ไม่ว่าพสกนิกรจะทุกข์ร้อนเรื่องอันใด น้ำพระราชหฤทัยจะแผ่ไปอย่างทั่วถึงทั้งแผ่นดิน

ดั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ซอยกิ่งแก้ว 21 อำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ดำรัสสั่งให้ พระราชทานความช่วยเหลือ พสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เร่งช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน พระราชทานถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค และสิ่งของที่จำเป็น แก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน, จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน พระราชทานแก่ราษฎรที่มาพักที่ศูนย์อพยพ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ

พร้อมทั้งพระราชทานแจกันดอกไม้และตะกร้าสิ่งของแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บ และทรงรับศพนายกรสิทธิ์ ลาวพันธ์ อาสาสมัครดับเพลิงเสียชีวิตเหตุอาสาสมัครดับเพลิงที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด และพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ

นำมาซึ่งขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบเหตุการณ์เป็นอย่างมาก

เยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บ โรงงานหมิงตี้
พระราชทานความช่วยเหลือครอบครัวเจ้าหน้าที่

ผู้ปิดทองหลังพระ

นับตั้งแต่ปี 2561 จิตอาสาพระราชทาน ได้ออกช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง ตามพระบรมราโชบายที่มอบให้ หน่วยต่างๆ อาทิ กองทัพบก กองทัพภาคที่ 1 กรุงเทพมหานคร เครือข่ายเอกชน และจังหวัดต่างๆ ในโครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ“ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน ที่ผ่านมา แบ่งความช่วยเหลือเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. ซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้และด้อยโอกาสในชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพมหานคร และ25 จังหวัดภาคกลาง ดำเนินการแล้ว 277 หลัง (กรุงเทพฯ 176 หลัง และต่างจังหวัด 101 หลัง)

2. ปรับปรุงพื้นที่รกร้างในชุมชนแออัด ให้เป็นสวนหย่อมใจกลางชุมชนเพื่อเป็นที่ พักผ่อนหย่อนใจ ดำเนินการแล้ว 27 แห่ง

3. มอบอุปกรณ์ช่วยเหลือทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วย ปัจจุบันดำเนินการแล้ว การมอบเตียงคนไข้ให้กับผู้ป่วยติดเตียง จำนวน 155 เตียง การมอบรถเข็น จำนวน 74 คัน การมอบที่นอนลม จำนวน 79 ชุด และเครื่องดูดเสมหะ จำนวน 2 เครื่อง รวม 310 ราย

4. รับ – ส่งประชาชนผู้ยากไร้และด้อยโอกาสที่ป่วยติดเตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานครเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตามที่แพทย์นัด ดำเนินการแล้ว 543 ครั้ง

จดหมายถึงพระราชา

เพจจิตอาสาพระราชทาน ได้เผยแพร่เรื่องราวของ ด.ช. อีฟฟราน อายุ 12 ปี ซึ่งได้เขียนจดหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า

“ถึง พระเจ้าอยู่หัว ผมชื่อ ด.ช. อีฟฟราน อายุ 12 ปี ผมอยากให้พระเจ้าอยู่หัวช่วยรักษาพี่ชายของผม พี่ชายของผมชื่อ เรฟาดี้ อ้นบุตร อายุ 13 ปี พี่ผมเป็นมะเร็งและปอดติดเชื้อ ผมอยากให้พี่ผมหายแล้วกลับมาเล่นกับผม ผมมีพี่ชายคนเดียว พระเจ้าอยู่หัวช่วยผมด้วยนะครับ ขอบคุณครับ”

จดหมายถึงพระราชา

เป็นเรื่องเล่าจากเด็กชายวัย 12 ปี ที่เขียนจดหมายถวายฎีกาต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือ ให้ช่วยรักษาพี่ชายที่มีอาการป่วยหนักเป็นมะเร็งและปอดติดเชื้อ

เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระเมตตารับ ด.ช. เรฟาดี้ อ้นบุตร เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ สร้างความซาบซึ้งให้กับครอบครัว “อ้นบุตร” เป็นอย่างมาก

ไม่ว่าจะเกิดทุกข์ภัยอันใด ในหลวงไม่เคยทรงทอดทิ้งประชาชน

ขอบคุณข้อมูลและภาพบางส่วนจาก เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์, เว็บไซต์พระลาน โดยกรมประชาสัมพันธ์ เพจมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเพจจิตอาสาพระราชทาน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image