สมเด็จพระราชินี ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด ‘งานผ้าไทย’ สมเด็จพระพันปีหลวง

สมเด็จพระราชินี ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด ‘งานผ้าไทย’ สมเด็จพระพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เป็นที่ประจักษ์ ทรงพระปรีชาสามารถเป็นเลิศและทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านการพัฒนาผ้าไหมไทย และผ้าพื้นเมืองของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ด้านหัตถกรรมในภูมิภาคต่างๆ และพระราชทานพระราชดำริเพื่อให้ราษฎรสามารถผลิต พัฒนา และจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมได้อย่างแพร่หลาย โดยทรงเป็นแบบอย่างในการฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหม และผ้าพื้นเมือง ในงานพระราชพิธีและในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ฉลองพระองค์ที่ออกแบบอย่างงดงามนั้น นอกจากจะสื่อความหมายถึงแหล่งผลิตผ้าไหมและผ้าพื้นเมือง ตลอดจนสถานที่ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรแล้วนั้น ยังสะท้อนให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยอันลึกซึ้ง ที่ทรงเห็นคุณค่าของผ้าไหมไทย และผ้าพื้นเมือง ด้วยทรงสนับสนุนการทอผ้าไหม การพัฒนาผ้าไหมไทย และผ้าพื้นเมืองต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในด้านการบรรเทาทุกข์แก่ราษฎรในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน และทรงมีพระราชดำริให้จัดถุงพระราชทานพร้อมบรรจุเครื่องอุปโภคบริโภค และเข็มกลัด “พระราชทานกำลังใจ”

ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงออกแบบและทรงเย็บเข็มกลัดให้ติดกับถุงพระราชทานด้วยพระองค์เอง พร้อมข้อความ “พระราชทานกำลังใจ” แก่บุคลากรทางการแแพทย์ และทรงเย็บหน้ากากผ้า สำหรับเป็นตัวอย่างในการผลิตเพื่อพระราชทานแก่ข้าราชบริพารและราษฎร ทั้งยังทรงถวายหน้ากากผ้าฝีพระหัตถ์ แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และพระราชทานแก่พระบรมวงศ์และประชาชนทั่วไป

Advertisement

ด้วยพระราชกรณียกิจนานัปการอันเปี่ยมล้นด้วยพระปรีชาญาณและยังประโยชน์อเนกอนันต์แก่ราษฎรด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จึงได้มีมติทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งทอและการออกแบบแฟชั่น แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายสรจักร เกษมสุวรรณ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งทอและการออกแบบแฟชั่น แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลยิ่งของปวงชนชาวไทย วันที่ 3 มิถุนายน 2565 วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 พระองค์มีพระราชดำรัสในงานวันสตรีไทย ว่าจะทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

“วันนี้เป็นที่ประจักษ์อย่างแน่ชัดว่า งานผ้าไทยซึ่งเป็นงานรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชาติ สืบสานภูมิปัญญาของคนในแผ่นดิน อีกทั้งยังสร้างานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จฯ แห่งหนไหนของประเทศ พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ชาวโอท็อปที่ทำผลิตภัณฑ์ผ้าไปจำหน่าย”

“นอกจากนี้ ยังเป็นแบบอย่างทรงฉลองพระองค์ในชุดผ้าไทยสวยงามทุกครั้งที่เสด็จฯ ออกงานกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พวกเราจะได้เห็นผ้าไทยที่มีความสวยงามในทุกฉลองพระองค์ อีกทั้งยังมีรูปแบบใหม่ที่ทรงเป็นแบบอย่างคือ กระเป๋าทรงถือผ้าไทยที่ออกแบบสวยงาม เป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้”

“ทรงเป็นต้นแบบในการใส่ผ้าไทย จากพระราชดำรัสในวันที่ 1 สิงหาคม เป็นที่ชัดเจนว่าพระองค์มีพระราชปณิธานที่จะรักษา สืบสาน และต่อยอดในเรื่องผ้าไทย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ เอกลักษณ์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของคนไทย ทั่วโลกที่มี 200 กว่าประเทศ มีเพียง 20 กว่าประเทศที่มีผ้าเป็นของตัวเอง หนึ่งในนั้นคือผ้าไทย”

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรื้อฟื้นผ้าไทยที่หายไปแล้วกว่า 70 ปี วันนี้ได้กลับคืนสู่สังคมไทย และด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีที่ทรงรักษา สืบสาน และต่อยอด ก็จะเชื่อมั่นได้ว่าประเทศไทยของเรา กลุ่มทอผ้าทั้งหลาย ก็จะมีผ้าไทยเป็นเอกลักษณ์ เป็นวัฒนะรรม ภูมิปัญญา อาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน” ดร.วันดีกล่าว

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image