กอร.รส. ย้ายสะพานเบลี่ย์ หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ เพื่อเร่งระบายคนเข้าสนามหลวง

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 16 พฤศจิกายน ที่กองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง (กอร.รส.) พล.ต.พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอร.รส. กล่าวภายหลังการประชุมร่วม กอร.รส.ว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งของ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ย้ายสะพานเบลี่ย์จากหลังกระทรวงกลาโหม ไปยังบริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยขณะนี้ทางกองพันทหารช่างที่ 9 ค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี กำลังรื้อถอนสะพานอยู่ เนื่องจากมีประชาชนหลายหมู่คณะเดินทางมาบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความล่าช้าในการนำคนเข้าไปยังพื้นที่สนามหลวง เพราะต้องผ่านจุดคัดกรอง และทางเข้าออกมีทางเดียว ในส่วนภาพรวมของการอำนวยความสะดวกประชาชนที่เต้นท์พักคอยสนามหลวงโซนเหนืออยู่ในขั้นตอนติดตั้งระบบอำนวยน้ำ ไฟฟ้า และระบบระบายอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น ขณะนี้ทราบว่าประชาชนชนอาจจะไม่ได้รับความสะดวกมากนัก แต่เราก็พยายามดำเนินการ ซึ่งวันนี้ที่ประชุมมีมติเบื้องต้นอำนวยความสะดวกด้วยการขยับรถสุขา และเพิ่มเต็นท์แพทย์ ในบริเวณสนามหลวงฝั่งเหนือ เนื่องจากทราบว่ามีประชาชนหลายคนเป็นลมกันเป็นจำนวนมาก

ในส่วนการพิจาณาการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติจากภาคส่วนต่างๆ ทาง กอร.รส. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณากิจกรรมโดยเบื้องต้นก่อน ก่อนส่งให้ศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ (ศตส.) พิจารณาอีกขั้นหนึ่ง โดยหลักการพิจารณาจะเน้นไม่ให้กิจกรรมไปกระทบการการยืนรอแถวของประชาชนที่รอสักการะพระบรมศพ โดยเบื้องต้น กทม. ได้จัดพื้นที่นอกสนามหลวงเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ สวนสันติชัยปราการ ลานคนเมือง ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เป็นต้น ในส่วนของกิจกรรม “รวมพลังทำความดี” ตามแนวคิดของนายกรัฐมนตรี ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22  พ.ย. ทางเราคงไม่มีอะไรพิเศษ อีกทั้งสิ่งที่เราดำเนินการอยู่นั้น ก็เข้าข่ายความดี 3 ด้านทั้งกาย วาจา และใจอยู่แล้ว ดังนั้นเราจะต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มารอสักการะพระบรมศพให้ดีที่สุด

ด้านพญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ หัวหน้ากลุ่มฉุกเฉินทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ด้วยอากาศในช่วงนี้ค่อนข้างร้อนเป็นสาเหตุหลักของโรคลมแดด เป็นลม ซึ่งมาจากการที่ประชาชนพักผ่อนน้อย ขาดน้ำ โดยกลุ่มเสี่ยงจะอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ และเด็ก เบื้องต้นจึงขอความร่วมมือให้ประชาชนที่เดินทางมา พักผ่อนให้เพียงพอ และเตรียมน้ำดื่มให้พร้อม ถ้าเป็นไปได้อยากให้แต่งการด้วยชุดผ้าระบายความร้อนได้ และไม่จำเป็นต้องใส่สูทระหว่างยืนรอ อย่างไรก็ดีขอแนะนำให้ผู้ที่เดินทางมาคนเดียว และมีโรคประจำตัว ให้เขียนบัตรประจำตัว เหมือนที่ติดตัวกับเด็ก โดยให้ระบุว่าเป็นโรคอะไร แพ้ยาอะไรบ้าง เพื่อให้เจ้าหน้าที่แพทย์รักษาได้รวดเร็วและง่ายขึ้น

ขณะที่นายวิกร เพิ่มพวก ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร Volunteers For Dad กล่าวว่า ทางศูนย์อาสาฯได้ออกแบบบัตรประจำตัวอาสาสมัครแบบใหม่ โดยได้เพิ่มสติ๊กเกอร์บาร์โค้ดที่สามารถระบุชื่อนามสกุลจริง และเลขประจำตัว 13 หลักของอาสาสมัคร ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ง่ายเพียงแค่ยิงบาร์โค้ด อีกทั้งตัวสติ๊กเกอร์ยังได้ระบุวันที่ออกบัตรด้วย โดยบัตรประจำตัวของอาสาสมัครจะใช้วันต่อวันเท่านั้น นอกจากนี้หลังบัตรยังได้มีการเพิ่มตราปั้มว่า อาสาสมัครคนนั้นทำหน้าที่อะไร โดยทั้งหมดเป็นมาตรการเพื่อป้องกันคนที่แอบอ้างเป็นอาสาสมัคร หรือทำหน้าที่ไม่ตรงกับที่ได้แจ้งไว้ อย่างไรก็ดีหากประชาชนพบอาสาสมัครที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม หรือคนที่แอบอ้างให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการทั้งตำรวจและทหารได้ทันที

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image