พระเมตตาจาก “ในหลวง” กับ “โครงการทุ่งลิปะสะโง”

โครงการทุ่งลิปะสะโง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นหนึ่งในโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างยั่งยืน ที่ตั้งของโครงการอยู่ที่ ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ตามที่เนื้อหาจากหนังสือพระราชกรณียกิจ ระหว่างเดือนตุลาคม 2519-กันยายน 2520 และตุลาคม 2520-กันยายน 2521 กล่าวไว้ตอนหนึ่งถึงความเป็นมาของโครงการนี้ สรุปได้ว่า

“วันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปยังคลองระบายน้ำ ในโครงการแม่น้ำปัตตานี พื้นที่บ้านมะพร้าวต้นเดียว ต.ลิปะสะโง

พระองค์ทรงทอดพระเนตรสภาพพื้นที่เกี่ยวกับระบบชลประทานและโครงการเตรียมจัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎร ก่อนพระราชทานพระราชดำริว่า ควรขุดคลองซอยแยกจากคลองระบายน้ำสายใหญ่ให้เพียงพอสำหรับใช้ประโยชน์ ทั้งในด้านการช่วยระบายน้ำในช่วงฤดูมรสุม และใช้ในการจ่ายน้ำเพื่อการชลประทาน บริเวณพื้นที่บางแห่งที่มีน้ำขังตลอดปี ก็ควรปรับปรุงให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด สำหรับการจัดรูปที่ดินนั้น ควรแบ่งเขตเป็นหมู่บ้าน 3 แห่ง แต่ละหมู่บ้านจะมีสิทธิทำกินในที่ดินจัดสรรให้ไปจนชั่วลูกชั่วหลาน และส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ควบคุมดำเนินงานไปตามนโยบายที่วางไว้ และให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านต่างๆ ในการนี้จะต้องเตรียมพื้นที่สำหรับขยายในกรณีที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้น ส่วนพื้นที่ที่ปลูกข้าวไม่ได้ก็อาจให้ปลูกพืชไร่ที่เหมาะสม และใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์หมุนเวียนกันไป จะทำให้ดินได้รับปุ๋ยธรรมชาติจากมูลสัตว์และจะค่อยๆ มีความสมบูรณ์ขึ้น จากนั้นได้เสด็จฯไปทอดพระเนตรบริเวณที่ทำการทดลองปลูกข้าวในพื้นที่ 400 ไร่ ริมครองระบายน้ำสายใหญ่”

โครงการทุ่งลิปะสะโง

Advertisement

หนังสือดังกล่าวยังระบุต่อมาว่า “วันอังคารที่ 29 สิงหาคม 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ไปยังโครงการหมู่บ้านพระราชดำริทุ่งลิปะสะโงอีก เมื่อเสด็จฯถึงศาลาประชาคม หมู่ 1 ต.ทุ่งลิปะสะโง ได้ทอดพระเนตรแผนผังโครงการหมู่บ้านพระราชดำริทุ่งลิปะสะโง ส่วนที่ 1 2 และ 3 มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 15,845 ไร่ ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ เนื่องจากโครงการชลประทานปัตตานียังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ถูกน้ำท่วมในฤดูฝน และขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง เป็นประจำทุกปี จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันปรับปรุงที่ดิน สร้างเส้นทางคมนาคม จัดระบบชลประทาน ทางเข้าหมู่บ้าน และจัดแปลงเพาะปลูก ตลอดจนจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎร ในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานต้นเงาะและต้นมะขามแก่ผู้แทนกรรมการหมู่บ้าน หมู่ 1 ตลอดจนทรงมีพระราชปฏิสันถารกับคณะกรรมการแล้วปล่อยปลานิล จำนวน 9,999 ตัว ลงในบ่อเลี้ยงปลาของโครงการ”

ต่อมา วันพุธที่ 21 กันยายน 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯไปทอดพระเนตรโครงการชลประทานลิปะสะโง และโครงการจัดที่ดินช่วยชาวนา ชาวไร่ ทุ่งลิปะสะโง เมื่อเสด็จฯถึงบริเวณคูส่งน้ำสายใหญ่ สายที่ 1 บ้านยาบี ต.ยาบี ได้เสด็จฯไปตามคูส่งน้ำ เมื่อได้ทอดพระเนตร ได้พระราชทานพระราชดำริว่า บริเวณที่ลุ่มระหว่างคลองระบายน้ำและคลองส่งน้ำที่มีน้ำขังตลอดปี หากพิจารณาจัดเป็นบ่อเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่จะเป็นประโยชน์กับราษฎรที่ต่อไปจะเข้าไปทำกินในโครงการ”

อีกตอนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าโครงการสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างดี โดยจังหวัดปัตตานีได้ดำเนินโครงการ “จัดที่ดินหมู่บ้านพระราชดำริทุ่งลิปะสะโง” ด้วยการขอความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆ มาดำเนินการสนองพระราชดำริ จัดที่ดินทำกินให้ราษฎรที่เป็นสมาชิก ครอบครัวละ 15 ไร่ พร้อมจัดตั้งหมู่บ้าน 3 หมู่บ้าน จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรทุ่งลิปะสะโง เสร็จเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2522 มีสมาชิกครั้งแรก 164 คน

Advertisement

“มติชน” มีโอกาสได้ย้อนเวลาไปสู่โครงการที่เป็นพระเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผ่านนายมูซอ ลือแมะ อายุ 75 ปี ชาวบ้านหมู่ 2 บ้านแนบุ ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่นำไปดูและอธิบายถึงเรื่องราวในวันนั้น ว่า “ผมได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯมาถึงแปลงนา พระองค์ทอดพระเนตรเห็นราษฎรที่เป็นเกษตรกรในขณะนั้น พระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารว่า มีความลำบากอะไรบ้าง อยากให้ช่วยอะไรบ้าง ผมตอบพระองค์ไปว่า ลำบาก เพราะในหน้าน้ำหลากน้ำจะเพิ่มสูงถึงระดับคอ ท่วมขังอยู่เวลานาน 3-4 เดือน ต้องอยู่อย่างเดือดร้อนและแร้นแค้นมากๆ จะปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ปลูกอะไรก็ตายหมด แต่เมื่อพระองค์เสด็จฯมาวันนั้นทำให้ทุกอย่างดีขึ้น โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตดีขึ้น จากครั้งนั้นที่พระองค์ทรงช่วยเหลือ จนวันนี้เปลี่ยนไปแบบพลิกฟื้นแผ่นดิน ทั้งน้ำประปา น้ำดื่มน้ำใช้ทุกอย่าง เมื่อก่อนถนนหนทางเข้าออกหมู่บ้านลำบากมากๆ จากเคยอยู่ในที่มืดๆ ก็มีแสงสว่างจากไฟฟ้าที่พระองค์ทำให้พวกเรา หากเมื่อก่อนจะเดินทางไปอำเภอต้องใช้เวลาครึ่งชั่วโมงกว่า แต่ตอนนี้เพียง 10-15 นาทีก็เดินทางถึงแล้ว”

โครงการทุ่งลิปะสะโง

นายมูซอกล่าวอีกว่า แนวคิดตามที่พระองค์ท่านเคยมีพระราชปฏิสันถารในสมัยนั้น ทุกวันนี้ยังคงจำแม่น ยังคงนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันอยู่ สิ่งเหล่านั้นเมื่อปฏิบัติตามได้ จะรู้ว่าคือสิ่งที่ดีต่อการใช้ชีวิตให้มีความสุขได้จริงๆ โดยเฉพาะเรื่องการเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง พระองค์มาช่วยให้น้ำไหลออกสู่คลองชลประทาน นำไปช่วยเหลือพื้นที่อื่นๆ ประโยชน์มากมาย ที่ดินของบรรพบุรุษเมื่อก่อนทำนาได้เพียงระยะสั้นๆ เสี่ยงกับถูกน้ำมาท่วมขังนานจนต้นข้าวเน่า แต่หลังจากพระองค์วางแผนจัดการบริหารน้ำ ทุกอย่างก็ดีขึ้น และจุดที่พระองค์เสด็จฯมาและมีพระราชปฏิสันถารกับครอบครัวของผม บัดนี้สภาพบริเวณเหล่านี้ กลายเป็นพื้นที่ปลูกต้นยางพารา ต้นปาล์ม และทำนาได้ทั้งหมด

“พระองค์เสด็จฯมาอีกในปีต่อมา และยังพระราชทานมอบเงินให้ปู่ของผมจำนวน 500 บาท พวกเราดีใจและซาบซึ้งอย่างมาก ส่วนคลองชลประทานที่พระองค์ทรงคิดแก้ปัญหาให้ ชาวบ้านทุกคนเรียกเหมือนกันว่าคลองในหลวง เพราะชาวบ้านทุกคนรักและเทิดทูนในหลวงเหมือนพ่อจริงๆ”

นายมูซอกล่าวต่อว่า ช่วงที่ทราบข่าวพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว ตอนนั้นมีความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ พูดอะไรไม่ออก มีความรู้สึกจุกอยู่ภายในอก ในใจคิดถึงแต่เรื่องที่ผ่านมา รู้สึกเศร้าเสียใจแบบไม่รู้จะหาอะไรมาอธิบายบอกได้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา หมู่บ้านเราและชาวบ้านแม้จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่สำหรับพระองค์แล้วท่านเปรียบเสมือนพ่อผู้ทำให้ชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยความช่วยเหลือต่างๆ เกิดขึ้นได้เพราะในหลวง ไม่เคยคิดแยกไทยพุทธ ไทยมุสลิม พระองค์ทรงมีแต่ให้กับพวกเราอย่างหาที่สิ้นสุดไม่ได้

ด้านนายอัตรชัย เจะปอ นายก อบต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้กล่าวด้วยว่า “จำได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯมาที่ ต.ลิปะสะโง ผมอายุ 13 ปี เท่านั้น ได้ตามพ่อของผมไปรับเสด็จด้วย และรับรู้เรื่องราวต่างๆ สมัยนั้น มีปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ที่ถูกสุขลักษณะ ต้องไปขนน้ำจากบ่อน้ำที่อยู่ไกล ต่อมา พระองค์เสด็จฯมายังพื้นที่ตั้งเมื่อปี 2519-21 และเมื่อปี 2522 พระองค์ทรงดูแลเรื่องระบบสาธารณูปโภค จัดทำระบบประปาด้วยเครื่องยนต์สายพาน ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ดึงน้ำจากใต้ดินเข้าไปยังบ่อพักกรอง จากนั้นสูบน้ำส่งไปเก็บไว้ยังหอถังประปา ส่งน้ำที่มีความสะอาดไปยังบ้านเรือนไว้ใช้ดื่มและอาบน้ำได้ ปัจจุบันระบบประปาแห่งนี้ยังใช้การได้อย่างดี อีกทั้งยังได้รับอานิสงส์ขยายการแจกจ่ายน้ำประปาให้ประชาชนได้ใช้ออกไปถึง 3 หมู่บ้าน พระองค์เสด็จฯมาส่งผลให้พื้นที่ ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ปัญหาจากภัยแล้งและน้ำท่วมขังนานหลายเดือน เกิดน้ำหลากยาวนานกว่าพื้นที่อื่นไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน ก็ได้รับการแก้ไขอย่างมากมาย

“ปัจจุบันนี้ยังคงเก็บสิ่งของประดิษฐ์ที่พระองค์คิดดัดแปลงนำเครื่องยนต์สายพานในปี 2522 มาปรับใช้ในด้านประปา แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเอาเครื่องยนต์ระบบไฟฟ้ามาใช้แทน ตรงนี้แสดงถึงพระอัจฉริยะของพระองค์ ทรงคิดค้นระบบแล้วนำมาใช้ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยส่งเสริมจัดสร้าง พระองค์ทดสอบการเดินเครื่องด้วยการหมุนด้วยมือและทรงสอนวิธีการใช้ระบบเกียร์เพิ่มความแรงในการสูบน้ำจากใต้ดินมาใช้ ด้วยความแรงที่ต่างกัน อีกทั้งยังให้จัดทำป้ายประปาหมู่บ้านด้วยแผ่นทองเหลือง ระบุวันเดือนปีที่เริ่มก่อสร้าง และหน่วยงานที่เข้ามาช่วยสนับสนุนเครื่องมือและบุคลากรทำการก่อสร้าง และจำนวนงบประมาณที่พระองค์ให้การสนับสนุนก่อสร้างระบบประปาจำนวน 100,000 บาท และงบจัดสร้างอนามัยในบริเวณเดียวกับประปาหมู่บ้านอีกจำนวน 720,000 บาท

โครงการทุ่งลิปะสะโง

นายเอก ยังอภัยย์ นายอำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี กล่าวว่า ในส่วนของการพัฒนา พระองค์เน้นการจัดการบริหารน้ำจากพื้นที่ แต่ละปีต้องรองรับมวลน้ำมหาศาลจากพื้นที่อื่นๆ ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำใน ต.ลิปะสะโง กลายเป็นที่รองรับน้ำและท่วมขังจำนวนมากยาวนาน พระองค์ทรงแก้ปัญหาด้วยการเดินเท้าไปตามแผนที่และสอบถามความทุกข์ร้อนของประชาชน จากนั้นจึงได้มีพระราชดำริให้จัดโครงการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้

“ปัจจุบันทุกภาคส่วนยังคงยึดถือและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ประชาชนในพื้นที่ในยุคก่อนยังคงจดจำและสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างแม่นยำ” นายอำเภอหนองจิกกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image