ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานความอุดมสมบูรณ์ชาวอีสาน 40 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ

ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานความอุดมสมบูรณ์ชาวอีสาน 40 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ

ย้อนไป 40 ปีก่อน หลายจังหวัดทางภาคอีสานประสบภัยแล้งอย่างหนัก สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากราษฎรขาดความรู้ ความเข้าใจ เข้าไปแผ้วถางป่าเพื่อตัดไม้มาทำฟืนและทำเกษตรกรรม

ทำให้สูญเสียแหล่งต้นน้ำลำธารไปจำนวนมาก กระทั่งในหน้าแล้งประสบวิกฤตไม่มีน้ำใช้ ในฤดูฝนแทนที่จะมีน้ำไว้เก็บใช้ ก็ประสบปัญหาน้ำไหลแรง สุดท้ายหายไปทั้งน้ำและหน้าดิน บางลงจนชั้นเกลือที่อยู่ข้างใต้ขึ้นเป็นหย่อมๆ

จะเพาะปลูกสร้างผลผลิตอะไรก็ลำบาก เพราะปลูกบนดินทราย ดินเค็ม และไม่มีน้ำ ราษฎรต้องวนเวียนอยู่ในวัฏจักรความยากจน

ในหลวง ร.9 เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน
ในหลวง ร.9 เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน

จากสายพระเนตรอันยาวไกลของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง ‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2525 เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาทดลองวิจัย สร้างต้นแบบการพัฒนาที่สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ และภูมิสังคมของภาคอีสาน อีกทั้งเป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จให้ประชาชน และเป็นพื้นที่การทำงานร่วมกันแบบบูรณาการของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ

Advertisement

เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2565 ถือโอกาสติดตามความก้าวหน้า การดำเนินงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ในโอกาสครบรอบก่อตั้ง 40 ปี

ในหลวง ร.9 เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน

นายสรรัตน์ ปวริญญานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ กล่าวว่า 4 ทศวรรษของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มีผลสำเร็จจากการศึกษาทดลองที่เหมาะกับภาคอีสานกว่า 291 เรื่อง แยกเป็นผลสำเร็จที่โดดเด่น เช่น การพัฒนาต่อยอดสายพันธุ์ไก่ดำภูพานเป็น 4 สายพันธุ์, เพิ่มกระต่ายดำภูพาน เข้ามาใน 1 ใน ‘4 ดำ มหัศจรรย์’, ต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมย้อมคราม, จัดทำเมล็ดพันธุ์ข้าวภูพาน 1 และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ฯลฯ

“ตอนนี้ศูนย์ภูพานเหมือนหนุ่มใหญ่วัยกลางคน ที่ต้องขยายผลความสำเร็จสู่เกษตรกรหรือผู้สนใจ”

Advertisement

ปัจจุบันมีประชาชนและคณะ เข้าศึกษาดูงานในศูนย์ไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนต่อปี ขณะเดียวกันศูนย์ยังนำองค์ความรู้เผยแพร่สู่ชุมชนผ่าน 22 หมู่บ้านรอบศูนย์, 4 ศูนย์สาขา, 36 เกษตรกรต้นแบบและเครือข่าย ใน 18 อำเภอของจังหวัดสกลนคร, 11 หมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติและหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบจังหวัดสกลนครและเครือข่าย, 32 ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริและเครือข่ายใน 22 หมู่บ้านรอบศูนย์ และพื้นที่ตามโครงการพระราชดำริ

หนึ่งในประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากศูนย์คือ การฝึกอบรมความรู้ 26 หลักสูตร เช่น โคเนื้อภูพาน ไก่ดำภูพาน สุกรภูพาน การผลิตข้าวครบวงจร การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ การผลิตวุ้นเส้นจากถั่วเขียว เกษตรทฤษฎีใหม่ การผลิตยางพารา การผลิตผ้าย้อมคราม การเพาะเลี้ยงกบครบวงจร การปลูกถั่วลิสงเพื่อการค้า การเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อจำหน่าย เป็นต้น

เป็นการเข้าอบรมที่ผู้อบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังมีที่พักอาศัยบริการให้ภายในศูนย์ภูพานฯ ระหว่างการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่สนใจและกิจกรรมต่างๆ จะแจกจ่ายปัจจัยการผลิตตั้งต้นให้แก่ผู้เข้าฝึกอบรมกลับไปด้วย เป็นคุณูปการแก่ราษฎรอีสานได้มีความรู้ มีอาชีพ มีรายได้ ท่ามกลางธรรมชาติที่ค่อยๆ ฟื้นคืน

บรรยากาศภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
บรรยากาศภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ขณะที่ทศวรรษที่ 5 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มองถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ให้ยั่งยืน โฟกัสไปที่เด็กเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ผ่านการตั้ง ‘ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงประเภทโรงเรียน’ เพื่อเป็นสาธิตแปลงเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้ ลงมือทำ เมื่อได้ผลผลิตสามารถนำมาประกอบอาหารเช้า เสริมจากอาหารกลางวันที่มีงบประมาณรองรับ ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 7 โรงเรียน

“เด็กๆ สนใจมาก ผมเชื่อว่าวันหนึ่งพวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญ ทำให้หลักเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ยั่งยืน เพราะต้องเข้าใจว่าตราบใดก็ตามที่เราพัฒนาเกษตร แต่ไม่พัฒนาถึงรุ่นลูกหลาน เมื่อถึงวันนั้นมาถึง เขาไม่ทำต่อ ฉะนั้นต่อไปจะมุ่งเน้นเยาวชนมากขึ้น ยิ่งหากเยาวชนมีไอเดียใหม่ๆ เราจะพยายามหาข้อมูล เอามาทดลองทำว่าสิ่งที่เขาคิดมีความเป็นได้ไหม หากทำได้ก็จะส่งเสริมต่อไป”

ในโอกาส 5 ธันวาคม ผอ.สรรัตน์กล่าวว่า ต้องถือว่าชาวจังหวัดสกลนครและพื้นที่ภาคอีสานโชคดี เป็นความโชคดีที่เรามีในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์เสด็จฯมาประทับจังหวัดสกลนครหลายครั้งตลอดช่วงรัชกาล ทอดพระเนตรพื้นที่มีสภาพปัญหาเกือบครบในภาคอีสาน จึงมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำตาดไฮใหญ่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น แล้วนำมาสู่การพัฒนาดินป่า จนเป็นศูนย์ภูพานในที่สุด

“แนวพระราชดำริที่พระองค์พระราชทานมา ไม่ใช่การเอาทฤษฎีมาสอนเหมือนครูสอนนักเรียน แต่ทรงศึกษาและทดลองทำจนประสบความสำเร็จมาก่อนแล้ว เราสามารถน้อมนำคำสอนที่พระราชทานมาปฏิบัติใช้ได้ทุกเรื่อง จะเห็นว่าสามารถทำได้จริง” ผอ.สรรัตน์กล่าว

โคเนื้อภูพาน
เมล็ดพันธุ์ข้าวภูพาน 1
บรรยากาศภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
นายสรรัตน์ ปวริญญานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ

จากพระมหากรุณาธิคุณ ทำให้ราษฎร จ.สกลนคร หลายคน จากที่เคยยากจนและรู้สึกมืดมนกับการทำมาหากิน หลังได้รับโอกาสเข้าอบรมเรียนรู้ที่ศูนย์ วันนี้พวกเขามีอาชีพและสามารถลืมตาอ้าปากได้อย่างภาคภูมิ

อย่าง นางดวงตา ดากาวงศ์ วัย 62 ปี ชาวบ้านนาเลา อ.เต่างอย จ.สกลนคร กล่าวว่า ดิฉันเป็นลูกชาวนาคนหนึ่ง จบการศึกษาแค่ ป.4 ก่อนหน้านี้มีรายได้จากการช่วยสามีรับจ้างเลื่อยไม้ รายได้รวม 400-500 บาทต่อปี กระทั่งในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาและมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ภูพาน ดิฉันได้รับโอกาสเข้าไปอบรมเรียนรู้ เช่น การทำน้ำยาล้างจาน แชมพู สบู่เหลว การทำเกษตรต่างๆ ก่อนออกมาปฏิบัติ ช่วงแรกสามารถลดรายจ่ายได้ เหลือก็ขาย จนช่วงหลังได้รับการส่งเสริมให้นำผลิตภัณฑ์มาต่อยอด อย่างข้าวฮาง ขายอยู่ 15 บาทต่อกิโลกรัม พัฒนาเป็นซีเรียล ขายได้ 70-80 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันสามารถพัฒนาเป็นขนมขบเคี้ยวขายได้ 500 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันสามารถพึ่งพาตัวเองได้ มีรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน

“ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง รัชกาลที่ 9 ดิฉันมีวันนี้ได้เพราะพระองค์ ทั้งพระราชทานความรู้ ที่สำคัญคือ พระราชทานความคิด ที่เปลี่ยนดิฉันจากคนไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก ให้กล้าพูด กล้าทำ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ” นางดวงตากล่าว

นางดวงตา ดากาวงศ์
ผลิตภัณฑ์ของ นางดวงตา ดากาวงศ์
ผลิตภัณฑ์ของ นางดวงตา ดากาวงศ์
ผลิตภัณฑ์ของ นางดวงตา ดากาวงศ์

อีกหนึ่งของขวัญจากพ่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image