ศาสตร์พระราชา คือ ทางรอด ‘สพญ.วิภาวดี’ เดินตามรอย ร.9 หลักประกันชีวิตสู่ความสุขยั่งยืน

ศาสตร์พระราชา คือ ทางรอด ‘สพญ.วิภาวดี’ เดินตามรอย ร.9 หลักประกันชีวิตสู่ความสุขยั่งยืน

 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักคิด นักสร้างนวัตกรรม นักเกษตร และยังทรงเชี่ยวชาญในทุกๆ ด้าน ตลอด 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติพระราชกรณียกิจนานัปการล้วนเป็นไปเพื่อความอยู่ดีมีสุขของพสกนิกรชาวไทย และทุกวันนี้ก็ยังทรงทิ้งมรดกไว้ให้ลูกหลานชาวไทยได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทอย่างยั่งยืน

หนึ่งในนั้นคือ “ศาสตร์พระราชา” ในเรื่อง “เกษตรทฤษฎีใหม่” ที่ทุกวันนี้นำมาประยุกต์ใช้สู่ “โคก หนอง นา” ที่เป็นทางรอดและความยั่งยืนของชีวิตในยุคโควิด-19 เศรษฐกิจผันผวน และสงคราม

เป็น “ทางรอด” ที่ไม่ได้เป็นที่พึ่งของเกษตรกรเท่านั้น หากเป็นทางรอดของทุกคน ดั่งเช่น “สพญ.วิภาวดี ปฐมรพีพงศ์” หรือหมอติ๊ก ที่น้อมนำศาสตร์พระราชา เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ มาปรับใช้โดยประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ลงมือปฏิบัติจนเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้เวลาเพียง 11 เดือน

Advertisement
เกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”
เกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”
เกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”

พื้นเพ สพญ.วิภาวดีเป็นคนบุรีรัมย์ จบสัตวแพทยศาสตร์ ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเป็นเจ้าของคลินิกวิภาวดีสัตวแพทย์ กรุงเทพฯ เป็นสัตวแพทย์อินฟลูเอนเซอร์ ที่เปิดเพจวิภาวดีสัตวแพทย์ มีผู้ติดตามเพจ 1.4 แสนคน

ตั้งแต่จบการศึกษาปริญญาตรีก็มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ และใช้ชีวิตสาวชาวกรุงมาตลอด 21 ปี แม้จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทุกอย่างเพียบพร้อม หากเธอก็โหยหาธรรมชาติและอาหารปลอดภัย อีกทั้งเมื่อครอบครัวบิดามารดาอยู่บุรีรัมย์ ในบั้นปลายชีวิตหลังเกษียณอายุ เธอจึงอยากจะกลับไปอยู่บ้านเกิด

แต่กลับไปแล้ว อะไรคือหลักประกันที่จะทำให้ชีวิตของเธออยู่ได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน คำตอบของเธอคือ “ศาสตร์พระราชา” เพราะเชื่อมั่นว่า คือ “ทางรอด”

Advertisement

“คิดไว้ตลอดว่า วันหนึ่งในอนาคตที่เราเกษียณจากงานที่เลี้ยงวิชาชีพของเราแล้ว บั้นปลายเราอยากมีสวน มีนา มีปลา มีสัตว์ มีไข่ ซึ่งเราติดตามศาสตร์พระราชามาตลอด และเมื่อได้มรดกที่ดินจากพ่อแม่ เราจึงนำที่ดินมาปรับเปลี่ยนรูปแบบตามศาสตร์พระราชาประยุกต์สู่โคกหนองนา เพราะถ้าเราไปทำตอนเกษียณเราอาจจะไม่มีแรง

หรือถ้าเราทำผิด เราอาจจะไม่มีเวลาไปแก้ไข และเราไม่ได้รีบทำทีเดียว แบบใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่ เราสามารถค่อยๆ วางแผนและทำไปทีละอย่าง เก็บเงินเดือนของเรา ทยอยทำ ประจวบเหมาะกับพี่สาวส่งลูกเรียนจบแล้ว เราก็เลยขอให้พี่มาเป็นผู้จัดการช่วยดูแล และทำตามโมเดลที่เราวางแผนไว้”

สพญ.วิภาวดี ปฐมรพีพงศ์ และบิดามารดา

เธอลงมือทำตามแผนโดยเปลี่ยน “ที่ดินแห้งแล้งที่มีแต่ซังข้าว 7 ไร่” ตามทฤษฎีต่างๆ ที่รัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวทางไว้

“ถามว่า ทำไมถึงเชื่อมั่นในศาสตร์พระราชา เพราะเราเชื่อว่าคือทางรอดของคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ คนต้องกินอาหาร ถึงคุณจะไม่ได้ผลิตอาหารเอง คุณต้องหาเงินเพื่อไปซื้ออยู่ดี ทำไมเราไม่ตั้งต้นเลยว่า เราผลิตอาหารได้เอง โดยเฉพาะอาหารปลอดภัย ที่เรารู้กระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ทำไมเราไม่ไปทำตรงนั้นเลย เพราะในเมืองเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า หน้าตาของอาหารที่สวยมันผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง อันนี้ก็เป็นการจุดประกายเริ่มต้นให้อยากผลิตอาหารเอง เพื่อให้เราและคนในครอบครัวได้กิน”

ซึ่งนี่คือ การระเบิดจากข้างใน ที่ไม่ได้ทำตามกระแส สพญ.วิภาวดีลงมือทำทีละขั้นตอนตามที่วางแผนไว้ ทั้งค้นคว้าข้อมูลที่หาได้จากออนไลน์ และยูทูบ ศึกษาจากผู้สำเร็จ

“ก่อนลงมือทำ เราต้องจัดสรรความคิดของตัวเองให้ได้ก่อน ถ้าเราระเบิดจากข้างในตัวเองได้แล้วว่า เราจะเริ่มทำโคกหนองนาตามศาสตร์พระราชาแล้ว ความรู้จะหลั่งไหลมาเอง และบางอย่างไม่ต้องลงทุน”

จากนั้นก็เริ่มจัดสรรวิธีคิดและงบประมาณที่ต้องใช้ในแต่ละเดือน โดยจัดสรรพื้นที่ น้ำ 30 พื้นที่เพาะปลูก 60 และที่อยู่อาศัย 10 รวมได้ 100 เปอร์เซ็นต์

“วิธีคิดของเราคือ เราจะต้องวางแปลนใหญ่ให้ได้ก่อน ต้องมีสเกตช์ไว้ในหัว เวลาเราทำ อาจจะไม่เหมือนภาพเป๊ะ แต่มันจะไม่ทำให้เราหลงทาง ซึ่งน้ำสำคัญที่สุด เราจะทำยังไงให้พื้นที่ของเรามีน้ำใช้ตลอดปี เพราะน้ำคือชีวิต ตามที่รัชกาลที่ 9 ตรัสไว้ ต่อมาจัดสรรที่ดินเพื่อปลูกพืช ทำการเกษตรและพื้นที่ปศุสัตว์ เมื่อจัดสรรได้แล้ว เราก็หาคนที่จะทำตามที่เราวางแผนไว้ ก็คือ ขุดบ่อ ซึ่งเราขุดบ่อเก็บน้ำ 2 บ่อ เพื่อกักเก็บน้ำและทำประมงเลี้ยงปลา รวมทั้งทำคลองไส้ไก่เพื่อกระจายความชื้นในพื้นที่”

เกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”
เกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”

การดำเนินงานตั้งแต่ขุดเริ่มในช่วงเดือนธันวาคม 2564 จากนั้นก็ดำเนินการปลูกพืชที่จะเลี้ยงดูชีวิตได้ในระยะยาว หมอติ๊กเลือกมะพร้าวน้ำหอม เธอปลูก 200 ต้นรอบขอบสระน้ำ ที่หมอติ๊กวางแผนว่า ปลูกมะพร้าวครั้งเดียว แต่จะให้ผลผลิตเธอได้ในอนาคตอีก 30 ปี

“มะพร้าวเราดูแลแค่ 2-3 ปีแรก ต่อไปเราเก็บกินได้ตลอดชีวิต”

นอกจากมะพร้าว เธอปลูกกล้วยหลากหลายสายพันธุ์คู่กันไปด้วย เพราะกล้วยเป็นพืชพี่เลี้ยงที่ปลูกง่าย ดูดเก็บน้ำไว้ที่ลำต้นได้ สามารถเก็บน้ำให้พืชอื่นๆ ได้ ส่วนพื้นที่ที่เหลือก็ปลูกทุกอย่างที่อยากกินทั้งพืชผัก ผลไม้

“เราอยากกินอะไร ก็ให้ปลูกอันนั้น ซึ่งเราก็ปลูกทุกอย่างที่ชอบ ทั้งชมพู่ มะขาม ละมุด มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ทุเรียน แนวรั้วของเราจะปลูกไผ่กับชะอม สะเดา และยังปลูกต้นยางนาเป็นป่าเล็กๆ ด้วย”

ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังทำประมงเลี้ยงปลา ทั้งปลาทับทิม ปลาไน ปลาตะเพียน ปลาดุก ปลาหมอ และปลาบึก เลี้ยงกบ 1,000 ตัว เลี้ยงไก่ไข่ และเลี้ยงเป็ดไข่

“พวกนี้เลี้ยงไว้กินหมดเลย เพื่อที่ว่าเราอยากกินอะไรเราต้องมี เราชอบอะไร เราอยากกินอะไรให้เราทำอันนั้น เรายังไม่ขาย”

เกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”
เกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ยกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สัตวแพทย์หญิงได้ลงมือทำ อย่างไรก็ตาม ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่หมอติ๊กลงมือทำตลอด 11 เดือนที่เดินตามรอยในหลวง ร.9 พลิกจากผืนดินแห้งแล้ง เป็นความอุดมสมบูรณ์ มองไปทางไหนก็มีแต่ความเขียวขจี

“แค่ 11 เดือน ต้นไม้ขึ้นเต็มพื้นที่ เรามีอาหารปลอดภัยรับประทานในครอบครัว เพราะเราปลูกพืชอายุสั้น ผักสวนครัวต่างๆ พืชหมุนเวียนด้วย สวนของเราเหมือนตลาดสดที่อยากกินอะไรก็ไปเก็บกินได้เลย ช้อปปิ้งได้ 24 ชั่วโมงไม่มีปิด และเมื่อเหลือกินแล้วก็ขาย ทุกวันนี้ เรามีรายรับทุกวัน วันละ 500-1,000 บาท ไข่ไก่ขายได้ทุกวัน วันละประมาณ 60 ฟอง ปลาไม่อยากขาย แต่มีคนขอมาซื้อ เพราะว่าเขาไม่มีอะไรจะกิน”

ไม่เพียงมีกินมีใช้ ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ที่อื่นน้ำท่วมกันหมด แต่ที่นี่ “สวนแม่หมอ บ้านบุตาแพง อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์” น้ำไม่ท่วม

“ปีแรกที่เราทำ เราสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ เพราะว่าปีนี้น้ำมาเยอะมาก”

จากรักษาสัตว์เล็กมาตลอด 21 ปี ต้องลงไปจับจอบขุดดิน เกี่ยวข้าว ปลูกต้นไม้ หมอติ๊กบอกไม่เคยรู้สึกท้อ หากคือความสุขที่ได้ทำ

“ไม่มีคำว่าท้ออยู่ในความคิด มีแต่ความคิดว่า เดือนนี้ที่เรากลับไป เราจะทำอะไรให้มันดี ในแต่ละวันที่เราคิดเรื่องงาน โคกหนองนาคืออีกหนึ่งเรื่องที่อยู่ในสมองตลอดเวลา เพราะสุดท้ายคือ ทางรอดของเราที่เราจะอยู่ตรงนั้น ในช่วงที่เราเกษียณ”

เกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”
เกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”
เกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”

11 เดือนที่ลงมือทำ หมอติ๊กบอกว่า “เป้าหมายที่เราวางไว้ ยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราคิดว่า เราเดินทางถูก เราตีเส้นตรงที่สุด เพื่อไปถึงเป้าหมายให้เร็วที่สุด ทุกครั้งที่คิดถึงโคกหนองนา นอกจากความภูมิใจแล้ว มันเป็นความสบายใจว่า นี่คือหลักประกันของเราในอนาคต ถามว่าทำสิ่งนี้แล้วรวยไหม ถ้าจะคิดให้รวยก็รวยได้ แต่ความรวยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สมมุติเราทำโคกหนองนา เราอาจจะทำเพิ่ม เช่น ทำร้านกาแฟก็ได้ หรือเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ เช่น ถ้าจะขายปลาสด คุณขายปลาแดดเดียวไหม หรือมะพร้าว คนบางคนอาจจะขายมะพร้าวลูกเดียว ขายได้ 20 บาท แต่ถ้าจะเพิ่มมูลค่าเพื่อให้คุณรวย คุณเอามาทำเป็นอาหารได้ไหม ของหวานได้ไหม มันอยู่ที่คุณคิด ถ้าคุณอยากรวยมันจะมีวิธีเสมอ แต่ที่แน่ๆ ไม่จน ไม่อดตายแน่ๆ แข็งแรงด้วย อากาศก็ดี อาหารก็ดี เชื่อว่าบั้นปลายชีวิต รอดแน่นอน สบายแน่นอน”

“และพอได้เดินตามศาสตร์พระราชาแล้ว เรารู้สึกว่า สิ่งที่พระองค์ทรงแนะนำให้ทำมันจริง (เสียงหนักแน่น) เราทำไม่ได้เท่าที่พระองค์ทรงแนะด้วยซ้ำ เอาเพียงแก่นมานิดเดียวเท่านั้น แล้วเอามาตีความตามความเข้าใจ และความชอบของเรา มันยังได้ดีขนาดนี้เลย สิ่งที่พระองค์พระราชทานไว้ให้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทำให้ชีวิตเราอยู่ได้ มีความสุขอย่างยั่งยืน เป็นหลักให้ได้ใช้ชีวิตตลอดไป”

สพญ.วิภาวดี ปฐมรพีพงศ์ หรือหมอติ๊ก
เกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”
เกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”
เกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”
เกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”
เกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image