ในหลวง ร.9 ทรงเป็นแรงบันดาลใจ คนใช้ ‘หญ้าแฝก’ เผยพืชมหัศจรรย์ อนุรักษ์ดินและน้ำ

ในหลวง ร.9 ทรงเป็นแรงบันดาลใจ คนใช้ ‘หญ้าแฝก’ เผยพืชมหัศจรรย์ อนุรักษ์ดินและน้ำ

จากที่เคยมองเป็นวัชพืชหนึ่งต้องกำจัด ด้วยพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

วันนี้คนไทยได้รู้จัก ‘หญ้าแฝก’ พืชที่หาได้จากธรรมชาติ หากนำมาใช้ให้ถูกวิธี จะสร้างความอุดมสมบูรณ์แก่ดินและน้ำในพื้นที่นั้นๆ จึงต้องรณรงค์คนไทยให้รู้จักและปลูกหญ้าแฝกมากขึ้น

เป็นที่มาของ “การประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2563-2565 และงานมหกรรมเครือข่ายคนรักษ์แฝก” จัดโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนา กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ณ บริษัท ปตท.ฯ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

ภายในงานมีเสวนาหญ้าแฝกน่าสนใจ ด้วยการนำเกษตรกรที่เคยได้รับรางวัลประกวดมาแล้วหลายปี และยังคงทำอยู่จนถึงปัจจุบัน ด้วยศรัทธาในแนวพระราชดำริ มาถ่ายทอดความคิด และประสบการณ์ที่ตกผลึก การใช้ประโยชน์หญ้าแฝก

Advertisement
ในหลวง ร.9 ทรงเป็นแรงบันดาลใจ คนใช้ ‘หญ้าแฝก’ เผยพืชมหัศจรรย์ อนุรักษ์ดินและน้ำ

 

พระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก

ก่อนการเสวนา มีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับหญ้าแฝก

Advertisement

ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกถึง 32 วาระ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534-2554 ตั้งแต่ทรงให้ศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝก การขยายพันธุ์ และนำมาใช้ประโยชน์

จากพระราชดำริได้นำมาสู่การสำรวจหญ้าแฝก ตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของประเทศนำมาศึกษา พบหญ้าแฝกทั้งสิ้น 28 สายพันธุ์ และ 1 สายพันธุ์นำเข้าจากศรีลังกา นำมาคัดเลือกเหลือ 10 สายพันธุ์ เพื่อใช้ประโยชน์และพัฒนาสายพันธุ์

ขณะที่ รศ.ดร.สมชัย อนุสนธิ์พรเพิ่ม อาจารย์ประจำภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า อยากให้มีการใช้หญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรมากขึ้น เนื่องจากการทำเกษตรกรรมปัจจุบัน ทำให้หน้าดินเสื่อมโทรมและพังทลายลงทุกปี โดยเฉพาะที่ดอน ยกตัวอย่าง จ.น่าน เดี๋ยวนี้ปลูกมันสำปะหลังบริเวณเชิงเขา ซึ่งพืชนี้ไม่ช่วยยึดเกาะและอนุรักษ์หน้าดินเลย

“หญ้าแฝกเป็นทางเลือกดีที่สุด ง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด ในการอนุรักษ์และเพิ่มความสมบูรณ์ของดินในระบบเกษตร ตอนนี้เราศึกษาเรื่องหญ้าแฝกจนมีข้อมูลมากพอแล้ว จากนี้ควรไปสู่การรณรงค์ปลูกหญ้าแฝก ก็อาจต้องเริ่มจากการสอนเยาวชน

รวมถึงการส่งเสริมเกษตรกรปลูก เช่น มีมาตรการหญ้าแฝกคนละครึ่ง ด้วยการให้เกษตรกรรายใดปลูกหญ้าแฝกร่วมกับการทำเกษตรกรรม ให้สามารถนำมาขอลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ทางการเกษตรกับสถาบันการเงินได้ ซึ่งหากมีมาตรการอย่างนี้ คงไม่มีเกษตรกรรายใด ไม่อยากปลูกหญ้าแฝก”

รศ.ดร.สมชัย อนุสนธิ์พรเพิ่ม อาจารย์ประจำภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

ประโยชน์ของหญ้าแฝก

หลายคนทราบถึงประโยชน์ของหญ้าแฝกบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่ทั้งหมด โครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงาน กปร. ได้อธิบายไว้ ดังนี้

หญ้าแฝกสามารถใช้ประโยชน์ในการฟื้นคืนสิ่งแวดล้อมที่วิกฤต ส่วนต่างๆ ของหญ้าแฝกมีประโยชน์ ได้แก่

 

ต้น/ใบ

-ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในอากาศได้ดีมาก

-กรองเศษพืชและตะกอนดินที่ถูกชะล้างมาเก็บไว้

-นำมาทำเครื่องใช้ต่างๆ เช่น มุงหลังคา เสื่อ หมวก ตะกร้า เชือก ทำปุ๋ยหมัก

 

ราก

-ดูดซับน้ำและรักษาความชุ่มชื้นในดิน

-ดูดซับแร่ธาตุอาหาร แล้วสลายกลายเป็นอินทรีย์วัตถุในดิน ทำให้ดินร่วนซุย

-ดูดซับสารพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

-ช่วยทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินดีขึ้น

-ทำสมุนไพร เครื่องประทินผิว กลั่นทำน้ำหอม ส่วนผสมของสบู่

-ป้องกันแมลงและหนู

 

ทั้งนี้ หากมีความประสงค์ขอรับพันธุ์หญ้าแฝก เพื่อปลูกในพื้นที่อนุรักษ์ดินและน้ำและปรับปรุงสภาพแวดล้อม สามารถติดต่อขอรับพันธุ์หญ้าแฝกได้ที่

-สำนักงานพัฒนาที่ดินทั้ง 12 เขต หรือสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

-ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 ศูนย์ ที่มีอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

รศ.ดร.สมชัย อนุสนธิ์พรเพิ่ม อาจารย์ประจำภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

เกษตรกรเปิดประสบการณ์หญ้าแฝก

ด้านเกษตรกรและหมอดินอาสาต่างมาเปิดประสบการณ์ การรู้จักและใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี อีกทั้งแต่ละคนยังเคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดงานนี้มาแล้ว

เริ่มที่ จ่าเอกเขียน สร้อยสม เกษตรกรจากตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เคยได้รับรางวัลชนะเลิศโล่พระราชทาน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2549 การปลูกหญ้าแฝกเพื่อทำลายชั้นดาน ลดการพังทลายขอบบ่อ และอนุรักษ์ความชื้นในดิน

จ่าเอกเขียนเล่าว่า ก่อนปลูกหญ้าแฝก ที่ดินของผมเคยทำนามาก่อน ก็ทำมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จนมารุ่นผมทำนาแล้วได้ผลผลิตน้อย จึงเปลี่ยนมาปลูกพืชอย่างอื่นๆ ก็ประสบปัญหาปลูกพืชอะไรก็ตายหมด เนื่องจากที่ดินมีสภาพเป็นดินดาน ดินมีความด่างสูง ดินเค็ม หลังจากนั้นพยายามลองขุดบ่อเลี้ยงปลา ก็พบว่าปลาไม่โต ลองขุดเป็นร่องสวน ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

หลังจากนั้น จ่าเอกเขียนมีโอกาสได้รู้จัก ‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ เขาเข้าไปอบรมการทำเกษตร ทำให้ได้มีโอกาสรู้จักเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดิน เขาเล่าถึงสภาพปัญหาที่ดินและการเพาะปลูก ก่อนได้รับคำแนะนำให้นำพันธุ์หญ้าแฝกมาปลูก

“ตอนแรกก็ไม่เชื่อว่ารากหญ้าแฝกจะหยั่งลึกทะลุดินดานที่แข็งได้ จนวันหนึ่งที่รถขุดดินมาขุดปรับพื้นที่ พบว่าบริเวณที่ปลูกหญ้าแฝกขุดง่ายกว่าบริเวณที่ไม่ปลูกเยอะเลย”

จ่าเขียนเริ่มเอาพันธุ์พืชผักสวนครัวมาปลูก ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้น แล้วล้อมรอบด้วยหญ้าแฝกที่ปลูกเป็นวงกลม เขายืนยันว่าการทำวิธีนี้ช่วยเก็บกักปุ๋ยและความชุ่มชื้นให้ต้นไม้ได้ ยิ่งเมื่อรากของต้นไม้ไปถึงรากหญ้าแฝก รากต้นไม้ก็จะได้รับปุ๋ยและความอุดมสมบูรณ์จากหญ้าแฝกและอยู่ได้ตลอดไป

จ่าเขียนแนะนำพันธุ์หญ้าแฝกศรีลังกา ทนมาก ปลูกในที่แสงรำไร ก็ไม่ตาย อายุต้นยาวนานถึง 8 ปี แต่ทั้งนี้ ก็ควรเลือกพันธุ์แฝกให้เหมาะกับปัญหาที่ดิน

แปลงเกษตรของ จ่าเอกเขียน สร้อยสม
แปลงเกษตรของ จ่าเอกเขียน สร้อยสม
จ่าเอกเขียน สร้อยสม

 

ส่วน อุดร สีหาบุตร เกษตรกรบ้านห้วยไทรงาม ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เคยได้รับรางวัลชนะเลิศโล่พระราชทาน ครั้งที่ 4 ประจำปี 2552 ต้นแบบการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ภูเขาที่มีการปลูกไม้ยืนต้น

อุดรเล่าว่า พื้นที่เกษตรกรรมของผมส่วนหนึ่งอยู่บริเวณเชิงเขา ด้วยเป็นเมืองที่มีสภาพอากาศฝน 8 แดด 4 ทำให้การเพาะปลูกบริเวณเชิงเขาพบปัญหาดินสไลด์ หน้าดินหายเป็นร่องนำ ลงปุ๋ยไปเจอฝนตก ปุ๋ยไหลออกหมด

อุดรพยายามหาวิธีแก้ปัญหา หนึ่งในนั้นคือ หญ้าแฝก ที่เขาเคยได้ไปเห็นการใช้ประโยชน์จากของจริง และแรงบันดาลใจจากการไปอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ก่อนไปขอกล้าหญ้าแฝกกับพัฒนาที่ดินจังหวัด ได้รับแจกกล้ามา 5 หมื่นกว่าต้น นำมาปลูกเป็นขั้นบันได และเห็นผลตั้งแต่ปีแรก

“ตอนแรกคิดว่าขั้นบันไดที่ผมกับภรรยาขุดไว้ปลูกต้นไม้ จะค่อยๆ หายไปเวลาฝนตกลงมา กลายเป็นว่าหญ้าแฝกช่วยรักษาหน้าดินให้คงอยู่ พื้นที่ผมเป็นพื้นที่เดียวที่ไม่มีปัญหาดินสไลด์ และร่องน้ำในพื้นที่อีกเลย”

อุดรตกผลึกในคุณค่าของหญ้าแฝก เขาแบ่งปันความรู้และพันธุ์หญ้าแฝกให้เพื่อนๆ รอบแปลง และตอบตกลงเป็นหมอดินอาสา คอยให้คำปรึกษาการพัฒนาที่ดินประจำหมู่บ้าน เป็นงานที่ไม่มีเงินเดือน

“บางคนอาจกังวลว่าหญ้าแฝกไปปลูกใกล้พืช จะแย่งน้ำแย่งอาหารหรือไม่ จากที่ผมได้ศึกษามาคือไม่แย่ง เขากินอาหารแค่บางอย่าง อันไหนที่ไม่กินก็เก็บไว้ให้ต้นไม้ สามารถลดการใช้ปุ๋ยไปได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญยังช่วยป้องกันเชื้อราในรากอีกด้วย” อุดรกล่าว

แปลงเกษตรของ อุดร สีหาบุตร
อุดร สีหาบุตร

พนม ชมพล เกษตรกร อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ โล่พระราชทาน ครั้งที่ 11 ประจำปี 2561-2562 ต้นแบบการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ภูเขาที่มีการปลูกพืชอายุสั้น

พนมเล่าว่า ยืนยันว่าหญ้าแฝกมีประโยชน์จริง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาที่ผมทำเกษตรอยู่ ปลูกเป็นแนวชะลอน้ำ เก็บกักตะกอน บริเวณรอบต้นไม้ หากเป็นที่ลาดเชิงเขา จะปลูกครึ่งวงกลม ส่วนพื้นที่ราบจะปลูกไว้รอบต้นไม้ ไว้รับน้ำสร้างความชุ่มชื้นและเก็บปุ๋ย

อย่างไรก็ตาม ก็ควรดูแลเอาวัชพืชอื่นๆ ออกบ้าง คอยตัดแต่งหญ้าแฝกให้เป็นพุ่มยาวกำลังดี จะทำให้ดอกออกเร็ว

แปลงเกษตรของ พนม ชมพล
แปลงเกษตรของ พนม ชมพล
แปลงเกษตรของ พนม ชมพล
พนม ชมพล

 

ปิดท้ายด้วย สนิท ชาวป่า เกษตรกร จังหวัดอุทัยธานี เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ โล่พระราชทาน ครั้งที่ 12 ประจำปี 2563-2566 ต้นแบบการปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการพังทลายของถนนในไร่นา

สนิทกล่าวว่า เดิมผมพื้นที่ผมและใกล้เคียงปลูกข้าวโพด หรือทำพืชเชิงเดี่ยวมาตลอด ใช้สารเคมี เก็บเกี่ยวเสร็จก็เผาหน้าดินมาตลอด ทำมา 20-30 ปี ไม่เคยปรับปรุงบำรุงดิน จนดินไม่ดี คือปลูกแล้วได้ผลผลิตน้อย เริ่มขาดทุน และสังเกตเห็นว่าเวลาฝนตกจะมีร่องน้ำตลอด

เขาไปปรึกษาพัฒนาที่ดินจังหวัด ได้รับการแนะนำและให้พันธุ์หญ้าแฝกมาปลูกแซมกับข้าวโพด ผลปรากฏว่าดีขึ้น แปลงเกษตรเขาไม่มีร่องน้ำอีกเลยเวลาฝนตก และแฝกช่วยคลุมหน้าดินช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้ต้นไม้ได้อีก

“ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จากในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานแนวพระราชดำริ และทรงเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเรา” สนิทกล่าวทิ้งท้าย

แปลงเกษตรของ สนิท ชาวป่า
แปลงเกษตรของ สนิท ชาวป่า
แปลงเกษตรของ สนิท ชาวป่า
แปลงเกษตรของ สนิท ชาวป่า
สนิท ชาวป่า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image