สมเด็จพระบรมฯ ทรงเป็น ‘เจ้าฟ้านักบิน’ พระผู้บำบัดทุกข์-บำรุงสุข

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรง​ทำ​การ​บิน​ด้วย​เครื่องบิน​โบ​อิ้ง 737-400 เที่ยว​บิน ที​จี 8870 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เที่ยว​บิน​พิเศษ​มหา​กุศล สายใย​รัก​แห่ง​ครอบครัว ช่วยเหลือ​ผู้​ประสบ​อุทกภัย​และ​จัดหา​อุปกรณ์​ด้าน​การ​แพทย์​สำหรับ​โรง​พยาบาล​ใน 3 จังหวัด​ชาย​แดน​ภาค​ใต้ เมื่อ​วัน​ที่ 5 มกราคม

ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรชาวไทย ทรงเปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถหลากหลายด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ด้านอากาศยานและการบิน” ทรงสนพระราชหฤทัยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงพระวิริยะอุตสาหะในการเพิ่มพูนความรู้และพระประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา ทำให้ทรงเปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถด้านการบินทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทรงเป็น “เจ้าฟ้านักบิน” ทรงมีความชำนาญในการบังคับอากาศยานชนิดต่างๆ ทั้งอากาศยานทหารและอากาศยานพาณิชย์ ยากจะมีผู้ใดเทียบเทียมได้

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเข้าศึกษาในระดับเตรียมทหารเมื่อปี 2513 ที่โรงเรียนคิงส์ เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงศึกษาอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม 2514

จากนั้นในปี 2515 ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา นับตั้งแต่ภาคแรกแห่งการศึกษาเป็นต้นไป หลักสูตรของวิทยาลัยการทหารแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหาร รับผิดชอบและดำเนินการโดยกองทัพบกออสเตรเลีย นักเรียนสำเร็จตามหลักสูตรนี้จะได้เป็นนายทหารยศร้อยโท ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ รับผิดชอบการวางหลักสูตร แบ่งออกเป็นสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นักเรียนนายร้อยที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับปริญญาตรีตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา พระองค์ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อ 2519

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว ในปีเดียวกันทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานด้านทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนของกระทรวงกลาโหม และทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษที่นครเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย

Advertisement

ทรงรับการฝึกอบรมหลักสูตรทางการทหารและการบิน ได้แก่ หลักสูตรวิชาอาวุธพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีการรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง และหลักสูตรส่งทางอากาศ

ระหว่างเดือนธันวาคม 2522 ถึงเดือนมกราคม 2523 ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบยูเอช-1 เอช ของบริษัทเบลล์ จำนวนชั่วโมงบิน 59.36 ชั่วโมง และทรงเข้าศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบเอเอช-1 เอช คอบรา ของบริษัทเบลล์จำนวนชั่วโมงบิน 1 ชั่วโมง

ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม 2523 ทรงเข้ารับการฝึกและศึกษาตามโครงการช่วยเหลือทางทหารของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ที่ฟอร์ตแบรกก์ รัฐนอร์ธแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา

Advertisement

เดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคม 2523 ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบยูเอช-1 เอช และเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบยูเอช-1 เอ็น ของบริษัทเบลล์ จำนวนชั่วโมงบิน 249.56 ชั่วโมง

เดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม 2523 ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ (แบบยูเอช-1 เอช ของบริษัทเบลล์) ของกองทัพบกไทย จำนวนชั่วโมงบิน 54.50 ชั่วโมง

เดือนธันวาคม พุทธศักราช 2523 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2524 ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัว แบบ Siai-Marchetti SF 260 MT จำนวนชั่วโมงบิน 172.20 ชั่วโมง

เดือนมีนาคม ถึงเดือนกรกฎาคม 2524 ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัวแบบ Cessna T-37 จำนวนชั่วโมงบิน 240 ชั่วโมง

เดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม 2524 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการทางทหารและตำรวจที่ประเทศอังกฤษ เบลเยียม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส และออสเตรเลีย

เดือนตุลาคม 2525 ถึงเดือนกันยายน พุทธศักราช 2526 ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรการบินเปลี่ยนแบบเป็นเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-5 (พิเศษ) รุ่นที่ 83 (พุทธศักราช 2526) เอ ที ดับบลิว และหลักสูตรเครื่องบินขับไล่ชั้นสูง

รุ่นที่ 83 (พุทธศักราช 2526) เอ วี ดับบลิว ที่ฐานทัพอากาศวิลเลียมส์ รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา จำนวนชั่วโมงบินมากกว่า 2,000 ชั่วโมง

นอกจากทรงผ่านการศึกษาอบรมเครื่องบินรบจนมีพระปรีชาสามารถและมีจำนวนชั่วโมงบินสูงมากแล้ว พระองค์ได้ทรงศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์จากสถาบันการบินพลเรือน ทรงสอบได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี และต่อมาในพุทธศักราช 2547 ได้ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์เอก จากบริษัทการบินไทย จนกระทั่งทรงสำเร็จการศึกษาและการบินด้วยเครื่องบินพาณิชย์จริง ทรงได้รับใบอนุญาตเป็นกัปตันเครื่องบินโบอิ้ง 737

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทำการบินด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 เที่ยวบิน ทีจี 8870 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เที่ยวบินพิเศษมหากุศล สายใยรักแห่งครอบครัว ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 5 มกราคม
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทำการบินด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 เที่ยวบิน ทีจี 8870 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เที่ยวบินพิเศษมหากุศล สายใยรักแห่งครอบครัว ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 5 มกราคม

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีชั่วโมงฝึกบินอย่างต่อเนื่องสูงมาก ถือว่าเป็นสิ่งยากมากสำหรับนักบินทั่วโลกที่จะทำได้

ทรงเป็น “เจ้าฟ้านักบินขับไล่ไอพ่น” พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี ทำการบินกับเครื่องบินกองทัพอากาศเกือบทุกรูปแบบ

จากพระอัจฉริยภาพในวิทยาการด้านการบิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด “เที่ยวบินพิเศษมหากุศล” เพื่อช่วยเหลือพสกนิกร พระราชทานเงินบริจาคโดยไม่หักค่าใช้จ่าย และทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นนักบินที่ 1 ในเที่ยวบินมหากุศลถึง 3 ครั้ง

เที่ยวบินมหากุศล ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อ 3 จว.ชายแดนภาคใต้

วันที่ 5 มกราคม 2550 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทำการบินเที่ยวบินมหากุศล กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ ที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดขึ้นตามพระราชดำริ ทรงมีน้ำพระทัยห่วงใยพสกนิกรประสบอุทกภัยและประสบปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในชื่อเที่ยวบิน “สายใยรักแห่งครอบครัว ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”

ในครั้งนี้ พระองค์ทรงเป็นนักบินที่ 1 ทรงทำการบินด้วยพระองค์เอง ในเที่ยวบินทีจีที่ 8870 และทีจี 8871 โดยเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 โดยมีผู้โดยสารวีไอพีจำนวน 80 คน เป็นผู้ร่วมบริจาคเงินสำหรับภารกิจดังกล่าวรายละ 1 ล้านบาท มียอดบริจาคทั้งสิ้น 80 ล้านบาท

กัปตันอัษฎาวุธ วัฒนางกูร นักบินที่ 2 กล่าวภายหลังเสร็จภารกิจการบินว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทำการบินได้ราบรื่นเป็นปกติ พระองค์ทรงมีชั่วโมงบินเฉพาะแบบโบอิ้ง 737-400 มากถึง 1,800 ชั่วโมง หลังจากบริษัทการบินไทยมีโครงการเที่ยวบินมหากุศลครั้งนี้ ได้กราบทูลเชิญพระองค์มาเป็นนักบิน พระองค์รับสั่งตกลงทันที ส่วนสาเหตุที่ทรงเลือกเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 เพราะเป็นเครื่องบินประเภทเดียวกับเครื่องบินพระที่นั่งและทางบริษัทการบินไทยก็มีเครื่องบินประเภทนี้จึงได้จัดหลักสูตรการบินถวายพระองค์

“ตลอดเวลาที่พระองค์ทรงฝึกบิน ทรงมีใจรักและทรงตั้งพระทัยในการฝึกบินเป็นอย่างมาก ขณะนี้พระองค์ทรงสอบเป็นนักบินพาณิชย์เอกได้สำเร็จแล้ว และตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ทรงบิน ทรงทำการบินไปทั่วประเทศไทย” กัปตันอัษฎาวุธกล่าว

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงอุ้มพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ก่อนที่จะทรงปฏิบัติพระภารกิจนักบินขับเครื่องบินพระที่นั่งศรีสุราษฎร์ โบอิ้ง 737-400 เที่ยวบินพิเศษมหากุศล ช่วยผู้ประสบอุทกภัยและประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ เพื่อเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มกราคม
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงอุ้มพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ก่อนที่จะทรงปฏิบัติพระภารกิจนักบินขับเครื่องบินพระที่นั่งศรีสุราษฎร์ โบอิ้ง 737-400 เที่ยวบินพิเศษมหากุศล ช่วยผู้ประสบอุทกภัยและประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ เพื่อเสด็จฯกลับกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มกราคม

เที่ยวบินมหากุศล เนื่องในโอกาส 50 ปี การบินไทย

วันที่ 13 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2553 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงนำคณะพุทธศาสนิกชนจำนวน 123 คน กราบสักการะพุทธสังเวชนียสถาน สถานที่ตรัสรู้ ณ ตำบลพุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยเป็นเที่ยวบินที่ทีจี 8842 และทีจี 8843 เครื่องบินโบอิ้ง 737-400 เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อินเดีย

พระองค์ทรงทำการบินในตำแหน่งนักบินที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้จากการจำหน่ายบัตรที่นั่งละ 5 แสนบาท และผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเพื่อร่วมกุศลโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมทบมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมทบกองทุนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ (เพื่อผู้ประสบภัยพิบัติ) มียอดบริจาคทั้งสิ้น 50.5 ล้านบาท

เที่ยวบินมหากุศล เพื่อสมทบมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ.

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ วันที่ 28 กรกฎาคม 2555 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ทรงรับเป็นนักบินที่ 1 ในเที่ยวบินพิเศษมหากุศล นำคณะพุทธศาสนิกชนเดินทางกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดป่าวิเวกธรรม อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นการทำการบินไป-กลับ ในเส้นทางกรุงเทพฯ-ขอนแก่น จำหน่ายบัตรโดยสารในราคาที่นั่งละ 5 แสนบาท จำนวน 100 ที่นั่ง นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมทบมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.)

สำหรับโครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ก่อขึ้นตั้งแต่ปี 2552 และต่อมามีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นในปี 2553 เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไทยเรียนดีหรือมีความขยันหมั่นเพียร มีความประพฤติดี มีคุณธรรม มีความยากจน ยากลำบาก ให้ได้มีโอกาสศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพต่อเนื่องไปจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือจนจบการศึกษาขั้นสูงสุด ผู้ได้รับทุนพระราชทานพิจารณาจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละ 2 ทุน ที่ผ่านมามีนักเรียนได้รับพระราชทานทุนการศึกษาแล้ว 4 รุ่น รวมแล้วกว่า 600 รายทั่วประเทศ

ทั้งนี้ เที่ยวบินมหากุศลใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737-400 เที่ยวบินทีจี 8866 และทีจี 8867 มีผู้โดยสาร 113 คน โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำรายได้จากเที่ยวบินมหากุศลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมทบมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) โดยมียอดเงินบริจาคกว่า 50 ล้านบาท

พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้านักบินที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการบินเพื่อช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นนักบินที่ 1 ในเที่ยวบินพิเศษมหากุศลสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระอัฐิธาตุพระบูรพาจารย์ ณ วัดป่าวิเวกธรรม อ.เมืองขอนแก่น วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นนักบินที่ 1 ในเที่ยวบินพิเศษมหากุศลสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระอัฐิธาตุพระบูรพาจารย์ ณ วัดป่าวิเวกธรรม อ.เมืองขอนแก่น วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image