สมเด็จพระราชินี องค์ผู้นำใช้ ‘ไทยโทน’ ในฉลองพระองค์ รสนิยมไทย สวยสง่า

สมเด็จพระราชินี องค์ผู้นำใช้ ‘ไทยโทน’ ในฉลองพระองค์ รสนิยมไทย สวยสง่า

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ในการสนองพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในด้านต่างๆ

หนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญที่ประจักษ์ชัดในสายตาพสกนิกรไทยและคนทั่วโลก นั่นคือ การสืบสาน รักษา และต่อยอด “ภูมิปัญญาไทย” ให้คงอยู่เพื่อเป็นมรดกแก่ลูกหลานสืบไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “ผ้าไทย” พระองค์ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ด้วยการทรงเป็น “องค์ผู้นำ” ในการสวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส ทรงพระสิริโฉมงดงามยามปรากฏพระองค์ในฉลองพระองค์ผ้าไทยทั้งในการเสด็จฯปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และในการพระราชพิธีต่างๆ

Advertisement

หนึ่งในความงดงามที่ได้รับการกล่าวขานไปทั่วโลก นั่นคือ ครั้งที่พระองค์โดยเสด็จฯตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯเยือนสหราชอาณาจักร ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ซึ่งเป็นพระราชพิธีประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร

(Photo by Mark Cuthbert/UK Press via Getty Images)

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยให้เป็นที่จับตาจับใจพสกนิกรชาวไทยและคนทั่วโลก ซึ่งได้รับความชื่นชมว่าทรงฉลองพระองค์ได้อย่างงดงามยิ่งนัก รวมถึงพระกระเป๋าย่านลิเภาที่ก็ได้รับคำชื่นชมเช่นกัน

มิเพียงเท่านั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังทรงนำ “เอกลักษณ์ไทย” เรื่อง “โทนสีของไทย” หรือที่นิยมเรียกว่า “ไทยโทน” มาทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ให้คงอยู่คู่ลูกคู่หลานไทยอีกด้วย

Advertisement

ดร.ไพโรจน์ พิทยเมธี อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบนิเทศน์ศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้รวบรวมและศึกษาโทนสีของไทยซึ่งเป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ ปัจจุบันสามารถรวบรวมสีไทยโทนได้กว่า 300 สี กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ทรงฉลองพระองค์ผ้าไทย โดยเฉพาะฉลองพระองค์ชุดไทยพระราชนิยมผ้าไหมยกดอกลำพูน ลวดลายต่างๆ กันไป เช่น ลายพิกุลกลีบซ้อน ลายดอกแก้วถมเกสร เป็นต้น ส่วนสีของฉลองพระองค์นั้น เมื่อมาเทียบกับสีไทยแล้ว ทุกฉลองพระองค์มีความเกี่ยวพันกับสีไทยทั้งหมด

“สีฉลองพระองค์ทุกองค์เป็นสีมีรสนิยม ดูสง่า ทรงทำให้เห็นว่าสีธรรมชาติก็โก้หรูได้ และอยู่ในเทรนด์แฟชั่นได้ โดยสีที่ทรงมีทุกเฉด และสีสวยทั้งหมด และสีที่ย้อมจากสีจากธรรมชาติ ซึ่งการใช้สีธรรมชาติ กำลังเป็นเทรนด์ของโลกที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การใช้สีธรรมชาติจึงถือเป็นอนุรักษ์ธรรมชาติ และอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย”

“พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของการสวมใส่ผ้าไทยที่ย้อมจากสีธรรมชาติ ซึ่งจะเห็นว่าเวลาทรงฉลองพระองค์จะทรงทั้งชุด ทำให้ความเป็นสีไทยโดดเด่นมาก ในฐานะผู้วิจัยเรื่องสี เมื่อเห็นก็ชื่นชมว่าสีสวยและสง่า พระองค์ทรงเป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้นำในเรื่องการใช้สีธรรมชาติ เรื่องสีไทยโทน เพราะแต่ก่อนนี้ เรื่องไทยโทนยังไม่มี สีธรรมชาติยังไม่มี คนไทยจะมีหมวดสีหนึ่งเป็นสีงานวัด ซึ่งเป็นสีสดๆ แจ๊ดๆ มันจะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง แต่สีไทยโทนอย่างนี้ บุคลิกอย่างนี้ พระองค์ทรงเป็นผู้นำเทรนด์ให้กลับมาอยู่ในรสนิยมในรั้วในวัง”

ทั้งนี้ ดร.ไพโรจน์อธิบายถึงสีไทยโทนว่า โทนสีของไทยหรือไทยโทน ถ้าเรียกเป็นกรุ๊ปสีทั้งหมด เรียกว่าคัลเลอร์พาเลทของไทย ยกตัวอย่าง ถ้าเราอยากรู้ว่ากลุ่มสีของแวนโก๊ะคือสีอะไร เขาก็จะไปดูพาเลทหรือจานสีของแวนโก๊ะ ส่วนคัลเลอร์พาเลทไทยโทน เป็นรสนิยมของช่างไทย ซึ่งชื่อเรียกของสี เป็นชื่อเรียกโบราณเกือบทั้งหมด แต่จะเรียกกันเฉพาะในหมู่ช่าง ถ้าคนทั่วไปจะเรียกแดง เหลือง น้ำเงิน แต่พอเรียก แดงชาด แดงจำปา แดงครั่ง อันนี้เป็นการระบุชื่อในหมู่ช่างเรียกกัน เพราะแดงมีหลายเฉด ซึ่งสีของไทยสามารถสืบค้นได้ถึงสมัยวรรณกรรมของสุโขทัยเลยทีเดียว

“ตัวของสี พอเป็นสีจากธรรมชาติ สีจะมีความหม่น ไม่โดดเด้งเหมือนสีฝรั่งทั่วไปที่เป็นสีสด อาจารย์บางท่านเรียกว่า สีไม่ประเดิด ไม่โดด ไม่เด้ง อันนี้ก็สอดคล้องกับรสนิยมของเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ก็จะชอบสีโทนดำ เทา น้ำตาล เพื่อที่จะคงความหรูหราในความเป็นสไตล์ของชุดหรือในจิตรกรรม ปัจจุบัน สีไทยโทนมีกว่า 300 สี และชื่อเรียกสีทั้งหมด เป็นสีโบราณของไทย ไม่ได้มีการตั้งชื่อใหม่ทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นองค์ความรู้ที่ไทยเคยมีอยู่แล้ว สีไทยโทนจะเป็นสีที่เกี่ยวกับธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งสีย้อม สีจิตรกรรมไทย และเท่าที่ศึกษามา ไม่ได้มีทุกประเทศที่มีเฉดสีเป็นของตัวเอง แต่เนื่องจากของเรา มีทั้งหลักฐานในวรรณกรรม อยู่ในเอกสารต่างๆ และมีการเรียนการสอนเยอะพอสมควร เรื่องนี้จึงเป็นอัตลักษณ์ เป็นเอกลักษณ์ ที่เพิ่งทำตอนยุคที่ผมเริ่มเผยแพร่ และเมื่อกระทรวงวัฒนธรรมนำไปจัดนิทรรศการไทยโทนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ถ้าคนไทยใช้กันเยอะๆ ก็จะกลายเป็นเอกลักษณ์แบบใหม่ ไทยโทนไม่ใส่อะไรที่เก่า แต่เป็นเรื่องร่วมสมัย สามารถต่อยอดได้ทุกสาขา และจะเป็นมูลค่าของไทย”

“สิ่งเหล่านี้ พอฝรั่งดูจะสามารถรับรู้ได้ เพราะเฉดสีแปลก และมีเอกลักษณ์บางอย่าง ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ถ้าฝรั่งมาดู เขาจะมีคำถามว่า สีอะไร ทำไมสวยอย่างนี้ และเมื่อไปสืบค้นก็จะรู้ว่าเป็นเฉดสีของไทย ก็จะทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีก กลายเป็นเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งเอกลักษณ์ของไทย ต้องมีผู้ใช้กันเยอะ คนไทยนิยมใช้กันเยอะ ถ้าเมื่อไหร่คนไทยใช้กันเยอะ พร้อมเพรียงกัน สิ่งนั้นจะเป็นเอกลักษณ์ไทย”

สำหรับสีฉลองพระองค์ในพระราชพิธีต่างๆ อาทิ

“ฟ้าแลบ” เป็นสีขาวอมชมพู ดูคล้ายสีของฟ้าแลบ ฟ้าผ่า จัดอยู่ในหมู่สีขาว และเป็นสีกายของยักษ์วิชุดา ผู้ดูแลป้อมปราการจากกองลาดตระเวน ริมฝั่งมหาสมุทร ฝ่ายอสุรพงศ์ จากเรื่องรามเกียรติ์ ทั้งนี้ “ฟ้าแลบ” เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบนท้องฟ้านามเกิดพายุคะนอง ปรากฏเป็นแสงวาบในอากาศ มีลักษณะเป็นเส้นหรือแผ่น ซึ่งเกิดจากประจุไฟฟ้าต่างชนิดถ่ายเทซึ่งกันและกันระหว่างเมฆกัยเมฆหรือเมฆกับพื้นดิน

ฉลองพระองค์สีฟ้าแลบ

“เทาเขียว” จัดอยู่ในหมู่สีโลหะ เป็นสีเขียวหม่นเทา หรือสีเทาหม่นเขียว เกิดจากการทำหมึกสีดำให้อ่อนลง จนได้สี “มอหมึก” แล้วเจือสีเขียวเล็กน้อย ทั้งนี้ การลดความเข้มของสีไทยในกลุ่มโทนเย็น จะใช้คำว่า “มอ” นำหน้าชื่อสี อย่าง “สีหมึกดำ” ที่ได้จากเขม่าตามปล่องควันไฟมาผสมกับสีขาว เกิดเป็นสีเทาหรือสีสวาท

ฉลองพระองค์สีเทาเขียว

“แดงชาด” เป็นสีแดงสด ที่ถือเป็นแม่สีหลักในสีไทย จัดอยู่ในหมู่สีแดง และมีที่มาจาก “ชาด” แร่ธรรมชาติคล้ายก้อนหิน มีสารปรอทและแร่เหล็กอยู่มาก เรียกกันว่า “Cinnabar” ทั้งนี้ “ชาด” เป็นสีที่นิยมใช้กันมากในวัฒนธรรมเอเชีย ตามความเชื่อในจิตรกรรมไทย “แดงชาด” ใช้แทนบรรยากาศของความว่างเปล่า สวรรค์ ความสูงส่ง ความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสีกายของสุครีพในเรื่องรามเกียรติ์

ฉลองพระองค์สีแดงชาด

“แดงดอกกระมุท” เป็นสีของดอกบัวสีแดงอ่อน จัดอยู่ในหมู่สีแดง มีที่มาจากดอกบัวสีแดงในตระกูลบัวสายที่เบ่งบานยามกลางคืน ในขณะที่หุบกลีบในเวลากลางวัน ทั้งนี้ “ดอกกระมุท” เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤตซึ่งสามารถแผลงคำได้คำว่า “กุมุท” และ “โกมุท” เป็นดอกบัวที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังที่ปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์กล่าวถึงการประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุทหรือดอกบัวแดง

ฉลองพระองค์สีแดงดอกกระมุท

“สังข์” เป็นสีขาวอมเหลือง คล้ายกับเปลือกหอยสังข์ และใช้เป็นคำเรียกสีโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา ทั้งนี้ “สังข์” เป็นหอยทะเลกาบเดี่ยว สามารถเรียกว่า “สังข์รดน้ำ” หรือสังข์อินเดีย มีความสำคัญในธรรมเนียมพิธีศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู อาทิ การหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ และการเป่าสังข์ในพระราชพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคล อีกทั้งเป็นหนึ่งในเทพศาสตราวุธประจำกายของพระนารายณ์ หนึ่งในเทพตรีมูรติ

ฉลองพระองค์สีสังข์

“เลื่อมประภัสสร” เป็นสีเลื่อมเหลือง เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สีสุวรรณประภัสสร” แปลว่า สีทองแปลบปลาบ อีกทั้งเป็นสีเลื่อมพรายคล้ายแสงพระอาทิตย์แรกขึ้น และเป็นสีผสมระหว่างสีขาวและสีเหลืองเจือสีครามและสีแดงเล็กน้อยแทนค่าสีของ “ไพฑูรย์” หนึ่งในอัญมณีนพเก้า และเป็นหนึ่งในสีธงฉัพพรรณรังสี ได้แก่ คราม หรดาล แดงชาด ขาวผ่อง หงสบาท และเลื่อมพราย

ฉลองพระองค์สีเลื่อมประภัสสร

ดร.ไพโรจน์ทิ้งท้ายว่า พระองค์ทรงเป็นผู้นำในการใช้สีไทยโทน ทรงทำให้เอกลักษณ์ไทยชัดเจนขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงนำเรื่องสีไทยมาอยู่ในฉลองพระองค์ ซึ่งจะทำให้เวลาเผยแพร่ออกไป จะกลายเป็นเทรนด์ว่ารสนิยมของไทยสวยสง่า ทำให้เป็นการส่งเสริมผ้าไทยบวกกับสีที่เป็นไทย สีของไทยจะได้รับความสำคัญขึ้น ทำให้คนไทยและชาวต่างชาติหันกลับมามองในภูมิปัญญา ทั้งผ้าไทยและสีไทยมากยิ่งขึ้น

ฉลองพระองค์สีเงิน
ฉลองพระองค์สีกากี
ฉลองพระองค์สีขาวกะบัง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image