“ในหลวงร.9” ในความทรงจำ นภันต์ เสวิกุล ช่างภาพตามเสด็จ

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 30 ปีก่อน เป็นยุคสมัยที่ “ช่างภาพมืออาชีพ” ในประเทศไทยนั้น นับจำนวนคนได้ เป็นเหตุผลให้ นภันต์ เสวิกุล ช่างภาพอิสระ ซึ่งถ่ายภาพให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสมัยนั้น ได้มีโอกาสตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ตลอด 30 ปี โดยนภันต์ได้นำเอาเรื่องราวความประทับใจนี้มาเปิดเผยในงานไนท์แอทเดอะมิวเซียม ในรัชกาลที่ 9 ณ มิวเซียมสยาม

จุดเริ่มต้นของการได้ทำหน้าที่อันสำคัญนี้ นภันต์เล่าว่า ในช่วงปี 2522 นั้น เป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาคอมมิวนิสต์ ทำให้สำนักงานเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี อยากจะเสนอภาพลักษณ์ที่ดีของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้มีโอกาสได้เข้าไปถ่ายภาพ

ในช่วงแรกนั้นในเวลาตามขบวน มักจะได้ตามขบวนในคันที่ 23 วิ่งไม่ค่อยทันถ่ายนัก เป็นคนแปลกหน้า เวลาถ่ายจึงต้องใช้เลนส์ยาวเพื่อถ่ายภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับกล้อง 2-3 ตัวในแต่ละครั้ง ซึ่งได้ตามเสด็จฯ ครั้งแปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักต่างๆ ทั่วประเทศ ก่อนจะพัฒนามาเข้าใกล้มากขึ้นเรื่อยๆ

“ผมเป็นช่างภาพที่แหวกแนวกว่าคนอื่น เพราะการถ่ายภาพพระบรมวงศานุวงศ์นั้น จะมีธรรมเนียมชัดเจน อย่างถ่ายภาพต้องไม่มาก ไม่ใช้แฟลช และถ่ายพระบรมวงศานุวงศ์ในพระอิริยาบถที่เรียบร้อย แต่เราอยากได้ภาพที่แตกต่าง จึงเป็นคนแรกถ่ายภาพพระองค์พระเสโทหยด พระดำเนิน หรือภาพทรงงาน เผยแพร่ผ่านสำนักนายกฯ ตลอดระยะเวลาที่ได้ตามเสด็จฯรู้ซึ้งในจิตใจเลยว่าทุกขณะพระองค์ทรงคิดถึงแต่ประชาชนจริงๆ”

Advertisement

พร้อมกันนี้ นภันต์ยังได้ยกเอาภาพความประทับใจที่หลายคนคุ้นตามาเล่าต่อ

k23

เริ่มต้นจาก “ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงฉลองพระองค์เสื้อสีแดง ทรงพิงรถยนต์ในขบวนทรงงาน”

Advertisement

นภันต์เล่าว่า ภาพชุดนี้ถือเป็นภาพความประทับใจ เพราะเป็นครั้งที่พระองค์ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าพระองค์จะเสด็จฯไปที่ใด เมื่อเสด็จฯถึงสะพานในรูป ก็พบว่าถนนขาดและไม่สามารถเสด็จฯต่อได้ แต่มีชาวนา 1 คนอยู่ในท้องนา พระองค์จึงเสด็จลงไปพูดคุยกับชาวนาข้างรถยนต์พระที่นั่งในเรื่องน้ำ ใช้เวลานานกว่าครึ่งชั่วโมง ทำให้เรารู้สึกตื้นตัน

ขณะที่ภาพ “ในหลวง ร.9 ทรงถือแผนที่ผินหน้าไปทางภูเขา” ซึ่งถ่ายที่บ้านแกน้อย ห่างไปจาก จ.เชียงใหม่ ที่ประชาชนแชร์ไปกว่าสิบล้านครั้งนั้น

นภันต์เผยว่า พระบรมฉายาลักษณ์นี้ถ่ายขึ้นเมื่อพระองค์เสด็จฯไปบ้านแกน้อย อันเป็นสถานที่ที่ฝุ่นหนา แดดร้อน ขณะหนึ่งลมก็พัดเข้าในพระเนตรของพระองค์ ทำให้แผนที่หลุดออกจากพระหัตถ์ เราที่กำลังถ่ายภาพมองผ่านช่องของกล้อง ทำให้เรารู้สึกตื้นตันว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่อย่างสบายได้ แต่ก็ยังทำเพื่อประชาชน ถึงกับร้องไห้ไปถ่ายภาพไปด้วย เมื่อพระองค์สวรรคตแล้วจึงนำเอาภาพนี้ซึ่งได้ตกแต่งให้สวยงามมากขึ้นมาเผยแพร่ลงในโซเชียลมีเดีย อยากให้ทุกคนรู้ว่าจากวันนั้นจนวันนี้บ้านแกน้อยเจริญขึ้นได้ด้วยสองพระหัตถ์ของพระองค์

IMG_1587

ปิดท้ายด้วยภาพ “พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงงานร่วมกันในการช่วยเหลือชาวบ้าน” ที่ อ.ป่าพรุ และ “ภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงวิ่งตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงวิ่งลงไปทอดพระเนตร โรงเห็ดหอม” ที่บ้านป่าเมี่ยงบ่งบอกถึงความห่วงใยของพระองค์

“จากการติดตามพระองค์ทรงงาน ซาบซึ้งในความเป็นพระผู้ให้ของพระองค์อย่างมาก ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎร ฉลองพระองค์ตัวนอกของพระองค์โชกไปด้วยพระเสโทเสมอ ทรงพูดคุยกับประชาชนทุกคน บนพื้นหินฝุ่นที่คมบาด แต่พระองค์ก็ประทับอยู่ตั้งแต่บ่ายสองจนสามสี่ทุ่มทุกวัน โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์คอยแบ่งเบาพระราชภาระเสมอ ในมือของพระองค์จะทรงถือแผนที่เพื่อหาแหล่งน้ำเพื่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านตลอด

“ในฐานะที่เป็นช่างภาพ ช่างภาพคนอื่นมักถ่ายภาพอะไรสวยๆ งามๆ แต่พระองค์ทรงถ่ายแต่ภาพดิน หิน ทราย ดินแดง แหล่งน้ำ เพื่อนำไปทรงงาน ซึ่งแต่ละที่พระองค์จะทรงรู้ด้วยพระองค์เองว่า สิ่งนี้จะเปลี่ยนไปเป็นอะไร หลายสถานที่ได้กลับไปดูอีกครั้งก็ไม่นานมานี้ จากพื้นที่แห้งแล้งกลายเป็นป่าเขียว เพาะปลูกได้ ชาวเขามีรายได้จากโครงการหลวง ทุกหย่อมหญ้าดีขึ้นได้ด้วยทรงเป็นพระผู้ให้ที่แท้จริง” นภันต์กล่าว

ด้วยความประทับใจนี้ ทำให้นภันต์คิดอยากนำเอาภาพพระฉายาลักษณ์ต่างๆ มารวบรวมมอบให้พิพิธภัณฑ์ศิริราช เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ศึกษาต่อไป

Image196

Untitled-27

Untitled-44 copy

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
นภันต์ เสวิกุล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image