กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566

เมื่อเวลา 16.24 น. วันที่ 24 มกราคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จฯ แทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง การนี้ ได้พระราชทานพระราชดำรัส พร้อมกับพระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล พร้อมด้วยคู่สมรสเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ และพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในพระบรมมหาราชวัง สมควรแก่เวลา เสด็จฯ กลับ

ทั้งนี้ ในปีพุทธศักราช 2566 มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทั้งสิ้น 92 ราย จาก 31 ประเทศ ผลปรากฏว่า ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2566 สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา จากอิตาลี สหรัฐอเมริกา และสาขาการสาธารณสุขได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค จากสหรัฐอเมริกา

Advertisement

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า “การศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อรักษาโรคใดโรคหนึ่ง หรือรักษาภาวะพิษจากยาชนิดใดชนิดหนึ่งนั้น จำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจถึงพยาธิสภาพ กลไกการเกิดโรคหรือภาวะพิษ รวมทั้งพยาธิสรีรวิทยาของโรคหรือภาวะพิษนั้นๆ จึงจะสามารถค้นพบวิธีการรักษาโรค และต้านภาวะพิษดังกล่าวได้ ดังเช่นผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา ที่ได้ค้นพบและสกัดโปรตีนวีอีจีเอฟ ซึ่งเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคมะเร็งหลายชนิดและโรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมจากอายุรุนแรงขึ้น นำไปสู่การพัฒนายาต้านโปรตีนวีอีจีเอฟ เพื่อรักษาโรคดังกล่าว กับผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมคที่ได้ศึกษาภาวะพิษจากการกินยาพาราเซตามอลเกินขนาด แล้วประดิษฐ์เครื่องมือประเมินความเสี่ยงอันนำไปสู่การวินิจฉัยและรักษาภาวะพิษจากยาพาราเซตามอลได้อย่างเหมาะสม เป็นประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความนิยมชื่นชมกับทั้งสองท่านที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ด้วยผลงานอันเกิดจากความวิริยอุตสาหะ ความเสียสละอดทน และความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์อย่างสูงยิ่ง”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา กล่าวว่า รู้สึกประหลาดใจมากไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีการเสนอชื่อผมเป็นผู้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งผมมีความสนใจในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นอย่างมาก จึงได้ศึกษาพระราชประวัติเพิ่มเติม เมื่อศึกษาแล้ว พบว่าพระองค์ทรงทุ่มเทมากทั้งการแพทย์และการสาธารณสุข จึงมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับพระราชทานรางวัลนี้

“สำหรับการต่อยอดผลงานที่ได้รับรางวัลนั้น ยังมีเรื่องหลอดเลือดวิทยาและเรื่องอื่นๆ ที่สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ ซึ่งโรคศูนย์กลางจอภาพเสื่อมสภาพไปตามอายุ ได้รับการค้นพบและแก้ไขแล้ว แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีอีกโรคหนึ่งที่เป็นลักษณะของจอภาพมีการฟื้นตัวหรือเพิ่มตัวหลอดเลือดขึ้นมา ซึ่งอันนี้ก็เป็นโรคเช่นเดียวกัน จึงมองแนวทางในอนาคตต่อไปว่า อยากจะศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขรักษาต่อไป ซึ่งผลงานครั้งนี้ ตอนแรกที่ทำงานไม่คิดว่าจะเห็นผลอย่างรวดเร็ว มันเป็นเพียงการค้นพบทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเริ่มเห็นผลเมื่อแอนตี้บอดี้ที่มีการนำมาใช้ เป็นประโยชน์ในห้องฉุกเฉินและโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วโลก ช่วยให้รักษาผู้ป่วยและโดยเฉพาะผู้สูงวัย” ศาสตราจารย์ นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา กล่าว และว่า

Advertisement

“สำหรับปัญหาใหญ่ของนักวิจัยคือเรื่องเงินทุนที่นำมาใช้ในการวิจัย มีผู้รับพระราชทานรางวัลของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลท่านหนึ่ง เคยเกิดปัญหาลักษณะเช่นนี้ ซึ่งทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องยา มหาวิทยาลัยชิคาโก ต้องเก็บตัวอย่างปัสสาวะมากมายจากประชาชน และนำมาแยกแยะเกี่ยวกับการใช้ยา แต่ปรากฎว่าทางมหาวิทยาลัยไม่สนใจ และไม่สนับสนุนทุนวิจัย”

“ตัวผมเองแม้จะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ก็ต้องมีการพยายามหาจุดสมดุลและหาผู้สนับสนุนในสิ่งที่ตัวเองค้นคว้าให้ได้ ท้ายที่สุด นักวิจัยต้องมีแรงบันดาลใจในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ต้องมีความชอบ และรักในงานที่ทำ” ศาสตราจารย์ นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา กล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค กล่าวว่า รู้สึกประหลาดใจมาก เพราะการเสนอชื่อครั้งนี้ไม่เคยมีใครทราบมาก่อน เมื่อได้รับจดหมายก็รู้สึกแปลกใจมากที่เป็นผู้ได้รับพระราชทานรางวัล แต่มีหลายคนที่มหาวิทยาลัยโคโรลาโดที่รู้จักรางวัลนี้ เข้ามาแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับผมหลายคน ซึ่งก็เป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลนี้

ศาสตราจารย์ นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค

“สำหรับการต่อยอดผลงานที่ได้รับรางวัลนั้น ตอนนี้เริ่มศึกษาผลของยาตัวอื่นๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย สำหรับเมืองไทยอาจจะยังไม่ได้ข่าว แต่ที่สหรัฐมีแนวโน้มที่จะเป็นเหมือนยาพาราเซตามอล ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเป็นผลดี แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้คือเรื่องทุพโภชนาการของเด็ก เด็กที่ขาดสารอาหารที่เหมาะสมจะติดเชื้อหรือเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ง่าย การให้ยากับเด็กเหล่านั้นก็ยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะแก้ไขยังไง จำนวนของเด็กที่เสียชีวิตด้วยทุพโภชนาการและภาวะการขาดสารอาหารก็ยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ”

“ซึ่งจากสถิติ ปี 2018-2021 เด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการมีจำนวน 728 ล้านคนจากทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา และประเทศด้อยพัฒนา ขณะเดียวกันก็มีที่สหรัฐด้วย ในกรณีที่เด็กๆ ได้สารอาหาร แต่ขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น โปรตีน รวมทั้งขาดสารอาหารอื่นๆ ที่ช่วยเรื่องของการพัฒนาการของร่างกาย เช่น กินอาหารพวกมัน หรือเผือกมากเกินไป” ศาสตราจารย์ นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค กล่าวและว่า

“ส่วนเรื่องเงินทุนในการวิจัยนั้น ก็ประสบปัญหา โดยตอนแรกยังไม่มีผู้สนับสนุนการวิจัย และในตอนหลังมีการพูดคุยเพิ่มเติม และเมื่อมีอัตราของคนที่มีความเสี่ยงหรือคนเสียชีวิตจากการที่ได้รับยาพาราเซตามอลเยอะเกินไป ผมจึงได้ไปคุยกับบริษัทยาไทลินอล จึงได้งบประมาณมาทำการวิจัย ซึ่งการทดลองเชิงคลินิกต้องเก็บตัวอย่างเยอะมาก ซึ่งผมเก็บตัวอย่าง 11,000 ราย และนำมาวิเคราะห์ ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการทำเช่นนี้” ศาสตราจารย์ นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค กล่าว

 

ทั้งนี้ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์

ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัลและด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ

ในระยะเวลา 31 ปีที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล รวม 94 ราย เป็นคนไทย 4 ราย และมีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จำนวน 6 ราย ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image