‘เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี’ ทรงดำน้ำสำรวจแนวปะการัง-เก็บกู้ซากอวน ในโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล

‘เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี’ ทรงดำน้ำสำรวจแนวปะการัง-เก็บกู้ซากอวน ในโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย เผยแพร่ภาพชุด สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงดำน้ำเพื่อสำรวจและอนุรักษ์เเนวปะการัง สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลไทย เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา พร้อมทรงเก็บกู้ซากอวนที่พันติดปะการังเทียม ภายใต้ “โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัตตานี และนราธิวาส”

จากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2552 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อต้นปี พ.ศ.2544 ในช่วงที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปทรงงานในภาคใต้ราษฎร บ.ละเวง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือ ให้ทรงพิจารณาช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในทะเล เนื่องจากสัตว์น้ำลดลงแทบไม่เหลือ ชีวิตฝืดเคือง มีรายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัวสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขอพระราชทานคำแนะนำจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งต่อมาได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้จัดตั้ง “โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัตตานี และนราธิวาส” โครงการดังกล่าวจะมีแผนงานการฟื้นฟูระบบนิเวศสัตว์น้ำ โดยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (ปะการังเทียม) ซึ่งใช้วัสดุจำพวกคอนกรีต ท่อระบายน้ำ ซากเรือ หรือวัสดุขนาดใหญ่ที่ไม่ใช้งานแล้ววางลงไปในทะเล เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้ฟื้นคืนชีพ กองทัพบกจึงได้นำรถถังปลดประจำการ มาทำเป็น “ปะการังเทียม” ในน่านน้ำ จ.นราธิวาสการนำรถถังมาเป็นแนวปะการังเทียมช่วยให้การทำการประมงประเภทอวนรุนและอวนลากไม่สามารถทำได้ เพราะรถถังมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก หากลากอวนมาเกี่ยวก็จะได้รับความเสียหายหนัก และความแข็งแกร่งของเนื้อเหล็กก็สามารถทนทานการกัดกร่อนของน้ำทะเลได้อีกนาน นับว่าการสร้างแนวประการังเทียมจากรถถังสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนให้แก่ท้องทะเลไทย

จวบจนปัจจุบัน สภาพของรถถังได้เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนมีปลาจำนวนมากว่ายเข้าออกผ่านช่องว่างของตัวรถถัง พื้นผิวเหล็กที่ว่างเปล่ามีทั้งเพรียงและหอยชนิดต่างๆ มาจับจองพื้นที่จนปกคลุมทั่วไปทั้งคัน ค้นพบปลาชนิดต่างๆ ชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นปลาเศรษฐกิจอย่างปลากระมง ปลาสาก ปลาแก้วกู่ หรือปลาสวยงามอย่างปลาการ์ตูนอานม้า ปลาผีเสื้อ แม้กระทั่งทากเปลือยสีสันสดใสก็เข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้

Advertisement

หลังจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงดำน้ำสำรวจเเละเก็บกู้ซากอวนดังกล่าว ทรงประเมินความเสียหายของเเนวปะการัง  ซึ่งเศษอวนเหล่านี้นับเป็นภัยคุกคามระบบนิเวศทางทะเลอย่างร้ายแรง เต่าทะเล วาฬ โลมา และสัตว์ทะเลจำนวนมากเสียชีวิตจากการกินหรือถูกรัด ในขณะเดียวกัน ปะการังก็ไม่สามารถเติบโตได้ จากการถูกปกคลุมโดยเศษแหอวนเหล่านี้ ทรงวางเเผนดำเนินการเเนวทางการอนุรักษ์เเละฟื้นฟู อาทิ การปลูกปะการังทดแแทน เพื่อรักษาแนวปะการังให้มีสภาพสมบูรณ์ และสวยงามเหมาะแก่การเป็นที่อยู่อาศัยและหากินของเหล่าสัตว์น้ำ ภายใต้กิจกรรมของมูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image