‘ดอกไม้จันทน์’จากใจ ถวาย’ในหลวง ร.9’

ตามคติความเชื่อของชาวพุทธไทยแต่โบราณ การจัดงานฌาปนกิจให้ผู้เสียชีวิต ถือได้ว่าเป็นการแสดงความเคารพและไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย และด้วยความเชื่อว่าจะนำไปสู่สุคติและพบแต่สิ่งที่ดีงามในภพหน้า สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือดอกไม้จันทน์ และธูปทอง เทียนทอง เพราะเชื่อว่ากลิ่นหอมของดอกไม้จันทน์นี้จะนำดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปสู่สรวงสวรรค์ แต่ด้วยดอกไม้จันทน์เป็นของสูงที่มีราคาแพง จึงเริ่มมีผู้คิดประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์เทียมขึ้นจากวัสดุต่างๆ ขึ้นแทน

และในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชขึ้น หัวใจของพสกนิกรทั่วไทยจึงต่างหลั่งไหลมุ่งไปที่ท้องสนามหลวง น้อมส่งเสด็จฯพระองค์สู่สวรรคาลัยเป็นครั้งสุดท้าย


รู้จักดอกไม้จันทน์แบบต่างๆ

ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้เปิดศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) อาคารกีฬาเวสน์ 1 และโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร 10 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร ดินแดง1 บ่อนไก่ และหนองจอก ให้ประชาชนได้เรียนรู้วิธีการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ทั้ง 36 รูปแบบ อาทิ กุหลาบเวียงพิงค์ กุหลาบหนู คาร์เนชั่น แคทลียา พุดซ้อน มาลีศรีจันทร์ และนางพญานิรมล ซึ่งประชาชนสามารถไปลงชื่อรับอุปกรณ์เพื่อนำกลับไปทำที่บ้าน หรือหาซื้ออุปกรณ์ และรวบรวมส่งที่โรงเรียนฝึกอาชีพฯ สาขาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง

Advertisement

สุริยน มาจากกาญจน์ จิตอาสาผู้ออกแบบดอกไม้จันทน์แบบต่างๆ 10 แบบ อันแฝงไว้ด้วยความหมายลึกซึ้งที่ใช้ในครั้งนี้ อธิบายถึงดอกไม้จันทน์แบบต่างๆไว้ อาทิ

“กรประทีป” หรือมือแห่งแสงสว่าง เปรียบดั่งพระหัตถ์ของพระองค์ที่ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ กว่า 4,000 โครงการให้ประชาชนไทยอยู่ดีมีความสุข, “นางพญานิรมล” หรือดอกโบตั๋น อันเป็นสิ่งมงคลของจีน คือลาภยศ ความมั่งคั่ง, “ปทุมวดีศรีบงกช” อันหมายถึงบัวเหนือบัว เบ่งบานอยู่ชั้นบนสุด, “สุริยาฟ้าประทาน” จากดอกทานตะวัน ส่องโลกสว่างสดใสและ “กุหลาบเวียงพิงค์” อันสื่อถึงความรักของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อคนไทย

สุริยน มาจากกาญจน์

สองมือประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์

Advertisement

ศรีพัจฌาย์ หันไชยเนาว์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร หนองจอก หนึ่งใจวิทยากรจิตอาสาที่มาสอนขั้นตอนง่ายๆ ในการทำดอกไม้จันทน์แบบต่างๆ อธิบายว่า การประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์นั้นมีอุปกรณ์ง่ายๆ คือ เปลือกข้าวโพด กลีบสำเร็จรูป ด้ายกรรไกร กาว ฟลอร่าเทป ธูปเทียนขนาด 1 นิ้ว และหนวดจันทน์ ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ทำดอกไม้ทั่วไป ย่านปากคลองตลาด จตุจักร

อุปกรณ์ต่างๆ

ซึ่งศรีพัจฌาย์ได้สอนประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์แต่ละประเภทอย่างละเอียด 3 รูปแบบได้แก่

“ดอกดารารัตน์” หรือดอกแดฟโฟดิล เป็นดอกไม้ที่ในหลวง ร.9 ทรงโปรดและพระราชทานแก่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะประทับ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ขั้นตอนการประดิษฐ์เริ่มจากเตรียมกลีบสำเร็จรูป 3 กลีบวางประกบกัน ตัดให้เป็นกลีบปลายแหลม ด้านล่างตรง 6 กลีบ จากนั้นทำเกสรด้านใน ใช้กลีบ 2 กลีบวางประกบกันตัดด้านบนให้เป็นฟันปลา และคลี่ออก ทากาวด้านข้าง 1 นิ้วด้านบน ประกบทั้ง 2 ใบให้เป็นกรวยซ้อนกัน 1 ซม. เมื่อได้กลีบและเกสรแล้วนำหนวดจันทน์ตัดให้เป็น 4 ส่วน พันรวมกันด้วยด้ายตรงกลางก้านเพื่อเป็นเกสรด้านใน จากนั้นนำกรวยหุ้มเกสรระหว่างกลางของก้านดอก นำมือขยุ้มเป็นดอก พันด้ายให้แน่น ก่อนนำกาวทากลีบแปะประกบตรงโคนของดอกนำด้ายพัน ชั้นละ 3 ดอก ประกบเป็น 2 ชั้น นำเอาฟลอร่าเทปมาพัน กดให้แน่นตั้งแต่โคนลงมา และนำเอาหนวดจันทน์แบ่งครึ่งหนึ่งวางด้านข้างและพันเทป ขั้นตอนสุดท้ายคือการธูปและเทียนวางและพันเทปจนถึงก้านดอก ตัดให้เรียบร้อย

ดอกดารารัตน์

“กุหลาบเวียงพิงค์” ขั้นตอนเริ่มจากนำหนวดจันทน์มาตัดออกเป็น 4 ส่วน พันด้ายรวมกันให้แน่นนับจากด้านบน 1 ซม. จากนั้นกลีบสำเร็จรูปมาพับเข้าหากันให้เป็นมุม ทากาวเพื่อความคงทน ทั้งหมด 7 กลีบ จากนั้นนำเกสรมาพันกับกลีบชั้นแรกให้มีลักษณะตูม ทากาวและพันด้ายให้แน่น เสร็จแล้วนำเอากลีบต่อไปทากาว และพันด้ายให้แน่นจนครบ 7-9 กลีบ พันฟลอร่าเทปติดหนวดจันทน์ ธูป และเทียน

ดอกกุหลาบเวียงพิงค์

และ “ดอกกุหลาบหิน” ที่จะใช้เปลือกข้าวโพดเป็นวัสดุแทนกระดาษสำเร็จรูป โดยขั้นตอนเริ่มจากการทำเกสร โดยฉีกเปลือกข้าวโพดเป็น 3 ชิ้น กว้างชิ้นละ 1 ซม. แต่ละชิ้นนำมาปั่นให้แข็งแรงจากนั้นผูกตรงกลางพับขึ้นและปั่นไว้ ทำให้ครบทั้ง 3 เส้น แล้วนำด้ายพันนับจากเกสรลงมา 2 ซม. ต่อมาขั้นตอนการทำกลีบ แบ่งเปลือกข้าวโพดให้กว้างประมาณ 2 ซม. 3 กลีบ พับครึ่งลงมา จับจีบยาวประมาณ 1.5 ซม. นำเกสรที่ได้มาประกบ พันด้ายให้แน่น จากนั้นทำเช่นเดียวกันให้ครบ ชั้นละ 3 กลีบ กว้างขึ้นเล็กน้อย เมื่อเป็นดอก 3 ชั้นแล้ว จึงพันฟลอร่าเทป ติดหนวดจันทน์ ธูป เทียน

ดอกกุหลาบหิน
ศรีพัจฌาย์ หันไชยเนาว์


ดอกไม้สื่อดวงใจรักของลูก

ภายหลังจากที่กรุงเทพมหานครได้ประกาศให้จิตอาสาได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์นั้น พสกนิกรไทยหลายต่อหลายพันคนก็มุ่งหน้ามาร่วมกิจกรรม

วารินทร์ โพธิพฤกษ์ วัย 81 ปี ผู้สูงอายุที่แม้จะไม่แข็งแรง แต่ด้วยใจที่อยากจะทำดอกไม้ให้ในหลวง ก็ชักชวนเพื่อนๆ นั่งแท็กซี่มาที่ศูนย์กีฬาฯ โดยได้ฝึกทำแบบคาร์เนชั่น และกุหลาบเวียงพิงค์ เผยว่า มาทำด้วยใจ อยากจะตั้งใจทำให้ดีที่สุด ถึงไม่เคยทำมาก่อน แต่ก็ค่อยๆ ทำตามครูไปได้ เป็นความภูมิใจที่สำเร็จ เพราะรักพระองค์มาก ที่ผ่านมาไปรับเสด็จตามงานต่างๆ หลายครั้ง ไม่ว่าเสด็จฯไปที่ไหน

วารินทร์ โพธิพฤกษ์ (ขวา)

ขณะที่ ด.ญ.สิริน สุนทรีศาทูล วัย 10 ขวบ นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ที่ใช้โอกาสปิดเทอมติดตามคุณแม่มาร่วมทำดอกไม้จันทน์ เพราะคุณแม่บอกเล่าไว้ว่า ดอกไม้ดอกนี้จะเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนอยากจะส่งไปให้ในหลวง ร.9 จึงอยากมาใช้เวลาเพื่อพระองค์ และรู้สึกดีใจที่ได้ตั้งใจทำสิ่งนี้ แม้จะทำได้ไม่มากแต่ดอกไม้นี้ก็จะได้ส่งต่อถึงในหลวง ร.9 ได้

ด.ญ.สิริน สุนทรีศาทูล

ปิดท้ายที่ 2 เพื่อนสนิท มรกต อภิชิตานนท์ อายุ 39 ปี ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศออสเตรเลีย จึงชวนเพื่อนสมัยมัธยมอย่าง สุภาวรรณ เชนส้ม วัย 39 ปี มาร่วมทำดอกไม้จันทน์ เปิดเผยร่วมกันว่า ก่อนหน้านี้ครั้งในหลวง ร.9 ทรงประทับอยู่ที่ รพ.ศิริราช ก็ได้เดินทางไปเฝ้า ไปรับเสด็จที่ต่างๆ บ้าง รวมถึงไปกราบพระบรมศพ ครั้งนี้จึงตั้งใจมาเพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ เพื่อส่งเสด็จครั้งสุดท้าย เป็นความภูมิใจและดีใจที่ได้เห็นคนไทยร่วมกันทำสิ่งต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งจากนี้จะซื้อหาอุปกรณ์ไปทำดอกไม้จันทน์อีกด้วย

มรกต อภิชิตานนท์-สุภาวรรณ เชนส้ม

รวมดวงใจเพื่อพ่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image