ชาวเขา 5 ชนเผ่าสักการะพระบรมศพ ‘ในหลวงร.9’ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งดำเนินมาเป็นวันที่ 276 ประชาชนทั่วไปและนักเรียนนักศึกษาต่างใช้โอกาสในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เดินทางมาต่อแถวเข้ากราบสักการะพระบรมศพในวันนี้อย่างเนืองแน่น

เวลา 08.40 น. มูลนิธิโครงการหลวงได้นำชาวเขาจำนวน 5 ชนเผ่า ได้แก่ คะฉิ่น ม้ง กะเหรี่ยง อาข่า และปะหล่อง พร้อมเจ้าหน้าที่และลูกจ้างมูลนิธิโครงการหลวงใน จ.เชียงใหม่ จำนวน 9 แห่ง ประมาณ 800 คนมากราบสักการะพระบรมศพบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

โดย นางพรนันท์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และการท่องเที่ยว มูลนิธิโครงการหลวง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เคยนำคณะชาวเขา เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างของมูลนิธิโครงการหลวงจากภาคเหนือ ประมาณ 1,200 คนมากราบสักการะพระบรมศพครั้งหนึ่งแล้ว แต่ยังมีชาวเขากลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้มา ทุกคนช่วยกันออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาสักการะพระบรมศพด้วยตนเอง โดยสารมากับรถบัสจำนวน 15 คัน และรถตู้ 7 คัน ซึ่งทางมูลนิธิโครงการหลวงรับหน้าที่ประสานงานกับทางสำนักพระราชวัง

นางพรนันท์กล่าวต่อว่า จากการนำคณะชาวเขามาครั้งที่แล้ว เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องคอยดูแลและช่วยประสานงาน โดยไม่ได้พักผ่อนเกินกว่า 24 ชั่วโมง แต่ชาวเขาทุกคนลำบากกว่ามาก เพราะต้องเดินทางลงจากบนดอยเข้ามาต่อรถในเมือง บางคนก็เมารถหนัก แต่ทุกคนยังมีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะมา และแต่งตัวกันมาเต็มยศ แม้สภาพอากาศจะร้อน แต่พวกเขาก็ยังอดทน ในฐานะเจ้าหน้าที่จึงอยากเข้ามาช่วยดูแล ถึงจะไม่ได้พักผ่อน แต่ก็รู้สึกมีพลังใจจากในหลวง รัชกาลที่ 9 และความตั้งใจของชาวเขา ที่ทำให้เราอดทนกันได้

Advertisement

“ชาวเขาทุกคนรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อก่อนชาวเขาจะปลูกฝิ่นกันมาก และต้องอยู่หลบๆ ซ่อนๆ เพราะทำผิดกฎหมาย แต่พระองค์ท่านทรงนำโครงการหลวงเข้าไปช่วยเหลือและส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น ทำให้พวกเขามีรายได้ที่แน่นอนและมั่นคง ลูกหลานได้เรียนหนังสือและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชาวเขาทุกคนจะเรียกในหลวง รัชกาลที่ 9 ว่า “พ่อหลวง” ซึ่งหลังจากที่พระองค์สวรรคต ชาวเขาก็เสียใจและพูดเสมอว่าคิดถึงพ่อหลวงมาก บางคนที่ไม่ได้มากราบสักการะพระบรมศพก็จะทำพิธีกรรมของแต่ละชนเผ่าอยู่ที่บ้าน เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลด้วย” นางพรนันท์กล่าว

 

นางพรนันท์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และการท่องเที่ยว มูลนิธิโครงการหลวง

 

Advertisement

นางเสาวนีย์ เตชะเลิศพนา อายุ 35 ปี ชาวเขาเผ่าม้ง โครงการหลวงหนองหอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวหลังเข้ากราบพระบรมศพบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมหาราชวังว่า เป็นความตั้งใจของชาวเขาทุกคนที่อยากจะมากราบพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ตนเองและคนในหมู่บ้านรวม 50 คนได้เดินทางมากรุงเทพฯและมากราบพระบรมศพ แม้ว่าอากาศจะร้อนหรือชุดที่ใส่อยู่จะค่อนข้างหนัก แต่ไม่รู้สึกเหนื่อยเพราะเป็นเรื่องเล็กน้อยที่เราได้ทำเพื่อพระองค์ท่าน ทั้งนี้ พวกเราชาวเขาแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า ซึ่งบางคนอาจจะไม่เข้าใจเพราะชุดอาจจะมีสีฉูดฉาด แต่ชุดนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจ เป็นงานฝีมือกว่าจะตัดเย็บออกมาใช้เวลาหลายปี ซึ่งชาวเขาอาจจะเลือกใส่ชุดดำธรรมดาทั่วไปได้ แต่การได้ใส่ชุดของเผ่าตนเองเป็นการแสดงความเคารพพระองค์ท่านในแบบของเราชาวเขา

“ได้เคยไปรับเสด็จพระองค์ท่านครั้งที่เสด็จฯไปพระราชทานผ้าห่มที่ ต.โป่งแยง แม้ว่าจะยังเด็กแต่ก็จำ ในภาษาม้งเราจะเรียกพระองค์ท่านว่า พระราชา หรือผู้ที่เป็นเจ้าของแผ่นดิน เราชาวเขาทุกคนซาบซึ้งใจในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน และพวกเรารู้ว่าพระองค์ท่านรักชาวเขามาก แล้วชาวเขาจะทำอะไรตอบแทนพระองค์ท่านได้บ้าง สิ่งที่ตั้งใจคือ การเป็นคนดี เป็นเรื่องเล็กๆ ที่เราเริ่มได้จากตนเอง ทั้งนี้ ทุกวันนี้น้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้และปลูกผักส่งโครงการหลวง ที่ชาวเขาเราอยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะในหลวงช่วยให้เรามีอาชีพและทำมาหากินได้” นางเสาวนีย์กล่าว

 

นางเสาวนีย์ เตชะเลิศพนา

 

ด้าน นายเอกสิทธิ์ แสงเดือน อายุ 64 ปี อดีตผู้นำชนเผ่าคะฉิ่น หมู่บ้านใหม่สามัคคี ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ดีใจที่สุดจนพูดไม่ออกที่ตนและตัวแทนชาวคะฉิ่น รวม 18 คนได้มีโอกาสเดินทางมากราบถวายบังคมพระบรมศพพ่อหลวง เพื่อมาแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน และถ้ามีโอกาสก็อยากจะเดินทางมาอีกครั้งโดยเฉพาะในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ

นายเอกสิทธิ์ยังจำได้ดี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2527 ตนในฐานะผู้นำชนเผ่าคะฉิ่นหมู่บ้านใหม่สามัคคี เคยได้เฝ้าฯรับเสด็จพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด รู้สึกภาคภูมิใจอย่างมาก ในการเสด็จฯเปิดโครงการหลวงบ้านหนองเขียว ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งก่อนนี้ชาวชนเผ่าคะฉิ่นมีความเป็นอยู่อย่างลำบาก ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ทำไร่เลื่อนลอยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน ต้องคอยหลบหนีทั้งทางการไทยและทหารพม่า แต่หลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จฯในพื้นที่แล้วพระราชทานที่อยู่อาศัย ให้ความปลอดภัย และให้วิธีการทำมาหากินและให้อาชีพ เช่น ปลูกอโวคาโด้และพืชผักส่งขายให้กับโครงการหลวง ทำให้ชนเผ่ามีรายได้ที่แน่นอน เด็กๆ ก็มีการศึกษาดีขึ้น

 

นายเอกสิทธิ์ แสงเดือน

 

สำนักพระราชวังได้สรุปยอดรวมประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม หลังปิดการขึ้นกราบถวายสักการะพระบรมศพ บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในเวลา 21.00 น.ว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 31,762 คน รวม 275 วัน มี 9,011,972 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเงิน 1,642,891 บาท รวม 275 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 685,382,964.51 บาท

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image