สกู๊ปพิเศษหน้า 1 : 337 วันกราบพระบรมศพ น้อมสำนึก พระมหากรุณาธิคุณ ร.9

กว่า 1 ปีที่พสกนิกรชาวไทยจากทั่วสารทิศต่างมุ่งตรงไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ด้วยหัวใจหนึ่งเดียวกันคือ อยากถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ซึ่งเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ

ภายหลังปิดให้เข้ากราบพระบรมศพ สำนักพระราชวังได้แจ้งยอดประชาชนที่เข้ากราบพระบรมศพตลอดทั้งวันที่ 5 ตุลาคม มีทั้งสิ้น 110,889 คน ซึ่งถือว่าสูงที่สุด พร้อมสรุปยอดประชาชนเข้ากราบพระบรมศพตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2560 รวม 337 วัน มีประชาชนเข้ากราบพระบรมศพทั้งสิ้น 12,739,531 คน และสรุปยอดเงินบริจาคเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพ ทั้งสิ้น 889,545,100.01 บาท

การเปิดให้ประชาชนเข้ากราบพระบรมศพ ได้ก่อให้เกิดเรื่องราวประทับใจมากมาย บ้างมาเพื่อขอความอุ่นใจที่ได้ใกล้ชิดในหลวง ร.9 บ้างก็มาขอพร ขณะที่หลายคนเชื่อว่าเป็นบุญกุศลของตัวเองที่สุดแล้ว ที่มีโอกาสได้มากราบสักการะพระบรมศพ

Advertisement

นางสิริกาญจน์ เนติวิธวรกุล อายุ 72 ปี ชาวอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ อาชีพแม่บ้าน พสกนิกรที่ได้เข้ากราบพระบรมศพเป็นกลุ่มแรกในวันที่ 28 ตุลาคม 2559 และเข้ากราบพระบรมศพแล้ว 700 กว่าครั้ง เล่าด้วยสีหน้าปลาบปลื้มว่า ภายหลังสำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนเข้ากราบพระบรมศพ ตนเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้ากราบ ซึ่งย้อนไปตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าจะเปิดให้เข้ากราบสักการะ แต่ก็มานอนแถวมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เพราะคิดว่าถ้าสำนักพระราชวังเปิดให้เข้ากราบ คนที่อยู่ในบริเวณนี้จะได้เข้าเป็นคนแรกๆ ตอนนั้นจึงคิดว่าตัวเองจะกลับบ้านไม่ได้ ทั้งที่ในคืนนั้นมีคนมาถาม มาไล่บ้าง และในที่สุดช่วงเวลา 04.00 น. เจ้าหน้าที่ก็มาแจ้งว่าจะเปิดให้เข้ากราบพระบรมศพ ตนและเพื่อนๆ ที่มาด้วยกันก็สะดุ้งตื่น

“วินาทีแรกที่เข้าไปพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แทบไม่อยากเชื่อเลยว่าที่เห็นอยู่ตรงหน้าคือเรื่องจริง ตอนนั้นจำได้แม่นว่ารู้สึกหนาว จะเป็นลม เพราะเฝ้ารับเสด็จพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราชมาหลายปี ก็ไม่คิดว่าจะมามีวันนี้ จึงเริ่มตั้งสติและหายใจลึกๆ ฟังเจ้าหน้าที่แนะนำขั้นตอนการกราบ เมื่อเสร็จก็นำเงินในกระเป๋าทูลเกล้าฯถวาย เพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลพระบรมศพ ลงมาจากพระที่นั่งฯก็ร้องไห้ อธิษฐานว่าหากทำอะไรเพื่อพระองค์ได้ก็จะทำ ทุกวันนี้จึงไปสมัครจิตอาสาเราทำความ ดี ด้วยหัวใจ ไปขุดลอกคูคลองมาแล้วหลายแห่ง ทำเพื่อถวายในหลวง ร.9 และในหลวง ร.10 อีกทั้งสิ่งที่ได้กลับมาคือ ร่างกายของดิฉันแข็งแรงกว่าแต่ก่อน ไม่เจ็บไม่ป่วย และตั้งใจว่าจะทำจิตอาสาอย่างนี้ตลอดไปŽ” นางสิริกาญจน์กล่าว

สิริกาญจน์ เนติวิธวรกุล

ขณะที่ นางอัจฉรา โสวจันทร์ อายุ 60 ปี ชาวเขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ อาชีพแม่บ้าน เล่าว่า ได้ติดตามเฝ้ารับเสด็จในหลวง ร.9 มาตั้งแต่ปี 2549 ที่พระองค์เข้ารับการถวายการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช การได้เห็นพระองค์คือความดีใจที่สุดในชีวิตนี้ ทั้งนี้ เวลามาโรงพยาบาลศิริราชนอกจากมาเฝ้ารับเสด็จพระองค์ ยังกราบขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตก็กราบขอพรต่อหน้าพระบรมโกศ ว่าขอให้ลูกสาวที่เป็นโรคไต ได้มีโอกาสผ่าตัดเปลี่ยนไต ซึ่งเข้าโครงการรอที่โรงพยาบาลศิริราชมา 8 ปี จนมาได้สมใจเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 ซึ่งขณะนี้อาการลูกสาวดีขึ้นตามลำดับ ร่างกายเข้ากับไตบริจาคได้ดีมาก

“เวลามากราบพระบรมศพก็ขอพรจากพระองค์ให้ลูกสาว ไม่เคยขอโชคลาภให้ตัวเองเลย จนตอนนี้ลูกสาวเหมือนได้ชีวิตใหม่ ดิฉันดีใจอย่างบอกไม่ถูก ขอปฏิญาณทำความดีตามพระองค์ สิ่งใดที่ทำเพื่อประเทศได้ก็จะทำ และพระองค์จะสถิตอยู่ในหัวใจของดิฉัน
ตลอดไปŽ”
นางอัจฉราเล่าทั้งน้ำตา

Advertisement
อัจฉรา โสวจันทร์

ส่วนประชาชนที่มากราบพระบรมศพเป็นกลุ่มสุดท้ายในเวลา 02.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม 2560 นางธัญญาลักษณ์ แซ่เล้า อายุ 66 ปี ชาวอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เล่าด้วยสีหน้าเศร้าว่า ไม่รู้ว่าได้กราบพระบรมศพเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้ว เพราะมาจนนับครั้งไม่ถ้วน และในวันนี้ที่สำนักพระราชวังเปิดให้เข้ากราบพระบรมศพเป็นวันสุดท้าย จึงตั้งใจมาเป็นพิเศษ เพราะถ้าไม่มาวันนี้ คงไม่มีโอกาสอีกแล้ว จึงรู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้ได้มีโอกาสเข้ากราบพระบรมศพเป็นกลุ่มท้ายๆ

“ประทับใจในหลวง ร.9 หลายอย่าง พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุด อย่างการใช้จ่ายตามกำลัง มีน้อยไม่จำเป็นก็อย่าใช้จ่ายเกินตัว อยากได้อะไรถ้ายังไม่มีเงินให้อดใจไว้ก่อน ซึ่งหากใครน้อมนำไปปฏิบัติตามพระองค์ก็จะไม่เป็นหนี้สิน ชีวิตไม่ลำบาก ซึ่งดิฉันน้อมนำมาใช้ตลอด อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าวันที่ 26 ตุลาคมนี้ จะเข้ามาชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศให้ได้ แม้จะคนมาก อากาศร้อน แต่จิตใจจะนำร่างกายไปไหวแน่นอน”Ž นางธัญญาลักษณ์กล่าว

ธัญญาลักษณ์ แซ่เล้า

เช่นเดียวกับ นางสมทรง นครพงศ์ ชาวอำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในประชาชนกลุ่มสุดท้ายที่เข้ากราบพระบรมศพ เล่าทั้งน้ำตาว่า เป็นความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูก ที่ได้มีโอกาสมากราบสักการะพระองค์ในคืนสุดท้าย โดยก่อนหน้านี้ มีโอกาสมากราบพระองค์แล้ว 10 ครั้ง ทั้งนี้ ได้ตั้งปณิธานว่าขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป

ส่วน นางวันเพ็ญ พรหมมา อายุ 45 ปีชาวกรุงเทพมหานคร หนึ่งในจิตอาสาที่คอยอำนวยความสะดวกประชาชนเข้ากราบพระบรมศพ ที่บริเวณประตูวิเศษไชยศรี มาตลอด 337 วัน เล่าภายหลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่และเข้าไปกราบพระบรมศพเป็นครั้งสุดท้ายว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้ถวายงานรับใช้พระองค์ ตั้งแต่วันแรกที่สำนักพระราชวังเข้ากราบสักการะพระบรมศพจนถึงคืนสุดท้าย ทั้งนี้ ระหว่างการปฏิบัติงานวันหนึ่งที่หน้าประตูวิเศษไชยศรี มีโอกาสได้เฝ้าฯรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ทรงมีรับสั่งกับกลุ่มจิตอาสาที่มาช่วยงานพระบรมศพว่า “ขอบใจมาก”Ž ก็รู้สึกภูมิใจมาก

ด้วยรักและภักดี

พสกนิกร​จำนวน​มาก​ต่าง​เดินทาง​เข้า​สักการะ​พระบรมศพ​ในหลวง​รัชกาล​ที่ 9 ณ พระที่นั่ง​ดุสิต​มหา​ปราสาท หลัง​สำนัก​พระราชวัง​ออก​ประกาศ​เปิด​ให้​เข้า​กราบ​สักการะ​จนถึง​วัน​ที่ 30 กันยายน 2560 เมื่อ​วัน​ที่ 17 กันยายน 2560
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image