‘ในหลวง’ โปรดเกล้าฯ จัดพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศล พสกนิกรร่วมสวดมนต์คับคั่ง

เมื่อวันที่ 6 เมษายน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ สนามเสือป่า เนื่องในโอกาสวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์

เวลา 18.10 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.อ.เกษม อยู่สุข อัญเชิญพระชัย (หลังช้าง) จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปประดิษฐาน ณ โต๊ะหมู่บูชา มณฑลพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ สนามเสือป่า

Advertisement

ต่อมาเวลา 18.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ผู้แทนพระองค์ไปในพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ สนามเสือป่า

โอกาสนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ วางพวงมาลัย จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้น ไปยังสนามเสือป่า เข้าพลับพลาพิธี จุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระชัย (หลังช้าง) จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช เปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนแพหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายความเคารพพระราชอาสน์ และนั่งเก้าอี้ซึ่งจัดไว้ข้างพระราชอาสน์

Advertisement

ต่อมาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานสงฆ์ให้ศีล พระสงฆ์ 239 รูปสวดมาติกา ผู้แทนพระองค์ทอดผ้าไตรที่อาสน์สงฆ์แถวหน้า 10 รูป นอกนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทอดผ้าไตรจนครบ 239 รูป กรวดน้ำ ต่อมาพระสงฆ์ 239 รูปเจริญพระพุทธมนต์ถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระสยามเทวาธิราช และถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผู้แทนพระองค์ประเคนปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ 10 รูป นอกนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าราชการขั้นผู้ใหญ่ประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์จนครบ 239 รูป กรวดน้ำ จากนั้นผู้แทนพระองค์กราบที่หน้าเครื่องนมัสการ กราบที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายความเคารพพระราชอาสน์ ผู้แทนพระองค์ยืนหน้าเก้าอี้ที่จัดไว้ ก่อนผู้เชิญพระชัย (หลังช้าง) กราบราบพระชัย (หลังข้าง) ที่โต๊ะหมู่บูชา นายทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ อัญเชิญพระชัย (หลังช้าง) ออกจากโต๊ะหมู่บูชา ขึ้นพระราชยานอัญเชิญพระชัย (หลังช้าง) กลับไปประดิษฐานที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ก่อนผู้แทนพระองค์ออกจากพลับพลาพิธี และเดินทางกลับ

สำหรับพระชัย (หลังช้าง) เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีมาแต่เดิมครั้งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ทรงอัญเชิญไปสักการบูชาในการทำศึกสงครามทุกครั้ง โดยตั้งประดิษฐานในสัปคับช้าง จึงเรียกว่า พระชัย (หลังช้าง) และทรงได้รับชัยชนะทุกครั้ง จนได้เถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเษกเป็นพระปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การอัญเชิญพระชัย (หลังช้าง) ไปในกระบวนทัพนั้น นอกเหนือจากจะมีจุดประสงค์เพื่อให้บังเกิดความเป็นสวัสดิมงคลแล้ว ยังใช้ประกอบพิธีบางอย่างที่จัดขึ้นในระหว่างการกรีธาทัพ เช่น พิธีสาบาน นอกจากนั้น ยังมีการอัญเชิญพระชัย (หลังช้าง) ไปในการเสด็จประพาส หัวเมือง และในการพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีลอยพระประทีป เป็นต้น

โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สำนักพระราชวังจัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์ เพื่อพระราชทานให้แก่พสกนิกรที่มาร่วมในพิธีครั้งนี้จำนวน 10,000 เล่ม โดยทรงออกแบบภาพปกและพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้เชิญอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ฉายกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ภาพวาดฝีพระหัตถ์เป็นภาพประเพณีสงกรานต์ต่างๆ เช่น การสรงน้ำพระ การก่อพระเจดีย์ทราย การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และภายในเล่มพิมพ์พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ ที่ทรงตั้งพระราชปณิธานในอันที่จะทรงทำนุบำรุงประเทศชาติและประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งประชาชนที่ได้รับหนังสือสวดมนต์ต่างปลื้มปิติในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศช่วงเย็นก่อนเริ่มพิธีมหามงคล ประชาชนพร้อมครอบครัวต่างทยอยเดินทางเข้างานมาเป็นจำนวนมาก โดยบางส่วนสวมใส่ชุดไทย และผ้าไทยมาร่วมงาน ท่ามกลางสภาพอากาศเย็นสบาย โดยเข้าไปต่างพากันถ่ายภาพกับเจดีย์ทรายต่างๆ และสวนดอกไม้ที่พระลานพระราชวังดุสิต ก่อนพากันเดินเข้าไปยังสนามเสือป่าเพื่อร่วมพิธีสวดมนต์ โดยตรงจุดทางเข้ามีเจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะแจกหนังสือสวดมนต์พระราชทาน ถัดมาเป็นการตั้งโต๊ะขายเสื้อจิตอาสาในโครงการเราทำความดีด้วยหัวใจ ทั้งแบบสีขาว สีเหลือง และสีฟ้า ในราคาตัวละ 359 บาท จากนั้นพากันเดินเข้าไปจับจองที่นั่งเพื่อร่วมสวดมนต์จนแน่นขนัดโดยรอบสนามหญ้าสนามเสือป่า

นางสาวบุษกร จั่นระยับ ชาวอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ใส่เสื้อลายดวก มาพร้อมลูกสาวน้องจั้กจั๋นแต่งชุดไทยโบราณ กล่าวด้วยสีหน้าปลาบปลื้มว่า ตั้งใจพาลูกสาวมาชมบรรยากาศไทยโบราณ ทั้งการแต่งกาย การจัดสถานที่ต่างๆ และร่วมสวดมนต์ถวายด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มา รู้สึกตื่นเต้นและตระการตาดี ทำให้เกิดความรู้สึกว่าอยากใส่ชุดไทยมากขึ้น จากเดิมที่อาจเขินๆและไม่กล้า รู้สึกประทับใจเป็นพิเศษกับเจดีย์ต่างๆ ที่นำมาจัดแสดง ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นแล้วในสมัยนี้ จึงอยากให้จัดงานแบบนี้อีก และในวันสงกรานต์นี้ จะกลับบ้านที่จ.พระนครศรีอยุธยา ไปรดน้ำดำหัวพ่อแม่

ด้าน นางสาวเปรมมิกา สิทธิประสาท ตั้งใจใส่ชุดไทยมาพร้อมกลุ่มเพื่อนคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ตั้งใจใส่ชุดไทยมาถ่ายภาพในงานนี้ เพราะพลาดโอกาสในงานอุ่นไอรักคลายความหนาวที่ผ่านมา และด้วยกระแสที่คนไทยกำลังนิยมใส่ชุดไทยจากละครบุพเพสันนิวาสและงานอุ่นไอรักคลายความหนาว ตนและเพื่อนจึงซื้อชุดไทยครบเซ็ทเก็บไว้ เพื่อเอาไว้ใส่ในโอกาสอื่นๆต่อไป

“ชุดไทยมีเสน่ห์น่าหลงไหล ก็อยากให้มีงานที่รณรงค์ใส่ชุดไทยอย่างนี้อีก โดยอยากให้รัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมใส่ชุดไทยในวันสำคัญๆ อาทิ วันจักรี หรือจัดงานที่ให้ผู้ร่วมงานใส่ชุดไทยเข้างาน เชื่อว่าหากจัดบ่อยๆ คนก็จะเริ่มคุ้นชินจนทำให้การใส่ชุดไทยเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เพียงใส่ในโอกาสสำคัญเท่านั้น” นางสาวเปรมมิกากล่าว

ทั้งนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้จัดบริการรถเมลฟรี 6 เส้นทางมาร่วมงาน ได้แก่ เส้นทางที่ 1 สถานีขนส่งหมอชิต เส้นทางที่ 2 วงเวียนใหญ่ เส้นทางที่ 3 สนามม้านางเลิ้ง เส้นทางที่ 4 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฝั่งพญาไท เส้นทางที่ 5 สนามหลวง และเส้นทางที่ 6 สถานีรถไฟหัวลำโพง ระหว่างต่วันที่ 6-8 เมษายน เริ่มคันแรก 09.00 น. และคันสุดท้าย 21.00 น. โดยสามารถสอบถามเพิ่มเติม โทร.1348 ส่วนผู้ที่นำรถส่วนตัวมาสามารถจอดรถได้ที่สนามหลวง 1,200 คัน สนามม้านางเลิ้ง 500 คัน สวนสัตว์ดุสิต 500 คัน และแยกวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามรองรับรถจักรยานได้ 100 คัน และรถจักรยานยนต์ 300 คัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงานวันที่ 7- 8 เมษายน ที่สนามเสือป่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระพุทธกำเนิดกาสาวพัตร์ พระพุทธรูปสำคัญที่หล่อขึ้นเมื่อครั้งทรงผนวช วันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคล และได้จัดสถานที่ให้ประชาชนรดน้ำ ขอพรผู้ใหญ่ในครอบครัว ชมนิทรรศการความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์ การแข่งขันก่อพระเจดีย์ทรายชิงโล่พระราชทาน การแสดงทางวัฒนธรรมต่างๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image