ปลัด สธ.แถลง “โควิด-19” ไทยติดเชื้อเพิ่มอีก 7 ราย ทุกรายกลับจากต่างประเทศ

ปลัด สธ.แถลง “โควิด-19” ไทยติดเชื้อเพิ่มอีก 7 ราย ทุกรายกลับจากต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า สถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 3,169 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,444 ราย และอยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) 232 ราย ไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม ล่าสุดมียอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 58 ราย ผู้ป่วยรักษาหายสะสมที่ 3,053 ราย อยู่ในการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.)จำนวน 58 ราย

นพ.สุขุม กล่าวว่า ในจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสมทั้งหมดพบในกรุงเทพมหานคร และ จ.นนทบุรี 1,766 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคกลาง 453 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย ภาคใต้ 744 ราย โดยผู้ป่วยอายุน้อยสุด 1 เดือน อายุมากสุด 97 ปี โดยเฉลี่ยคืออายุ 39 ปี

“วันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่ 7 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ เป็นคนไทยที่กลับจากต่างประเทศอินเดีย 6 ราย และสหรัฐอเมริกาอีก 1 ราย และวันนี้การติดเชื้อภายในประเทศไทยคงที่ศูนย์รายต่อเนื่องเป็นวันที่ 35 แล้ว” นพ.สุขุม กล่าว

Advertisement

ปลัด สธ.กล่าวอีกว่า ขณะนี้ผู้ป่วยที่ยังอยู่ใน รพ.ไม่มีผู้ป่วยที่อาการรุนแรง หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จึงทำให้สถานการณ์ของประเทศไทยค่อยข้างสบายใจได้ในระดับหนึ่ง โดยผู้ป่วยรายใหม่ที่มาจากต่างประเทศ 7 นาย ได้แก่ ผู้เดินทางกลับมาจากประเทศอินเดีย 6 ราย เป็นหญิงไทย 3 ราย อายุ 28, 31 และ 36 ปี และชายไทย 3 ราย อายุ 42 ,45 และ 61 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน เข้าพักในสถานกักกันโรคฯ และตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน โดยพบว่า 3 รายมีอาการ เช่น ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น และหายใจลำบาก ส่วนอีก 3 ราย ไม่มีอาการ และเป็นผู้เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา 1 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 27 ปี เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน และพบเชื้อเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน โดยมีอาการไอ เจ็บคอ

“ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หลังจากการผ่อนปรนระยะที่ 1 มาจนถึงระยะที่ 4 ยังพบผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศ โดยได้รับการดูแลเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชน โดยผู้ป่วยในสถานกักกันโรคฯ จำนวน 232 ราย พบว่ามีการตรวจพบเชื้อหลังวันที่ 10 ของการเข้าพัก คิดประมาณร้อยละ 6 ซึ่งแสดงว่าการให้ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เข้าพักในสถานกักกันโรคฯ ยังมีความจำเป็นอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ” นพ.สุขุม กล่าว

Advertisement

นพ.สุขุม ยังกล่าวถึงสถาการณ์ทั่วโลก ว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยทั้งหมด 10,237,543 ราย เป็นรายใหม่ 1.6 แสนราย โดยสหรัฐยังเป็นปัญหา จากเดิมผู้ป่วยรายใหม่เคยลดลงมาเหลือ 2 หมื่นกว่าราย แต่ช่วงนี้อาจไม่ได้ดูแลสนใจสุขอนามัย ไม่สวมหน้ากาก ทำให้เพิ่มเป็น 4 หมื่นกว่าราย สูงสุดในโลกขณะนี้ ทำให้เพิ่มจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิต

 

“ส่วนบราซิลดีขึ้น เหลือผู้ป่วยใหม่ 2.9 หมื่นราย อินเดียรายใหม่เกือบ 2 หมื่นคน ไทยอยู่อันดับ 95 ของโลก แต่ถ้าวันนี้ไทยดีขึ้น สถิติเราลดลง แต่ต่างประเทศยังจำนวนมากขึ้นก็ต้องระวังตัวเช่นกัน ถ้าดูในประเทศกลุ่มบ้านเรา อาเซียนหรือเอเชีย ที่มีปัญหา คือ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เมียนมา ก็ยังมี สิ่งที่ต้องระวังคือ ตอนนี้เรามั่นใจว่าประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยในประเทศ มีจำนวนควบคุมได้ รายใหม่จำนวนไม่มาก” ปลัด สธ. กล่าว

 

นอกจากนี้ นพ.สุขุม กล่าวว่า การผ่อนปรนในระยะที่ 5 ที่มีความเสี่ยง เพื่อให้มีชีวิตปกติแบบนิว นอร์มอล สธ.มีการสำรวจทั้งกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ พบว่า รพ.มีเตียงไอ.ซี.ยู. 571 เตียง ห้องแยกสำหรับอาการหนัก 11,206 เตียง เตียงทั่วไปอีก 10,349 เตียง ซึ่งการไม่พบผู้ป่วยหนัก ไม่มีผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ก็คิดว่าเตียง 2 หมื่นกว่าเตียง ก็เพียงพอรองรับ หากมีสถานการณ์มากขึ้น คำนวณว่ารองรับได้วันละ 50-500 คนต่อวัน ถ้ามีผู้ป่วยรายใหม่ อุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่เคยกังวล เช่น หน้ากาก N95 เตรียมความพร้อมไว้ 1.12 ล้านกว่าชิ้น ชุดป้องกันอันตรายระดับสูงเมดิคัล เกรด หรือชุด PPE มี 5.11 แสนกว่าชุด โดย 3.5 แสนชุดกระจายทุก รพ. อีก 1.5 แสนชุด เตรียมไว้ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อกระจายในกรณีฉุกเฉิน และมีเครื่องช่วยหายใจที่ว่าง 1.1 หมื่นเครื่อง

นพ.สุขุม กล่าวว่า นอกจากเตียง อุปกรณ์แล้ว คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ที่รักษาโรคนี้โดยเฉพาะ สมัยเริ่มที่นำมาใช้เฉพาะผู้ป่วยหนัก ปอดบวม ใช้เครื่องช่วยหายใจ ขณะนี้มีสำรอง (สต๊อก) กว่า 3 แสนเม็ด ขณะนี้กระจายให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก แต่มีปัจจัยเสี่ยงอายุมาก โรคประจำตัว เช่น ถุงลมโป่งพอง หัวใจ เบาหวาน ทำให้สถานการณ์ผู้ป่วยดีขึ้น อาการหนักน้อยลง อยู่ รพ.น้อยลง กลับบ้านเร็วขึ้น ส่วนยาอื่นก็เตรียมเช่นกัน

นพ.สุขุม กล่าวว่า ส่วนวัคซีน มี 3 แนวทาง คือ 1.พัฒนาวิจัยในประเทศ ซึ่ง สธ. มหาวิทยาลัยต่างๆ เอกชน ร่วมกันพัฒนา โดยขณะนี้ทำวัคซีนต้นแบบ 20 ชนิด ทดลองในสัตว์ 6 ชนิด โดย 2 ชนิด ทดลองในหนูและลิง พบมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาก การทดลองในมนุษย์ วัคซีนชนิดหนึ่งอาจจะเริ่มเดือนตุลาคมนี้ อีกชนิดหนึ่งถ้าทำได้เร็วก็อาจเป็นเดือนกรกฎาคมนี้

“ถ้าทำเร็จ สธ.จะนำมาใช้ในประชาชน โดยผลิตในประเทศ ซึ่งต้องพัฒนาให้เกิดโรงงาน โดยผลิตให้ได้ถึง 30 ล้านโดส และคาดว่าจากปลายปี 2564 อาจเร็วขึ้นเป็นกลางปี 2564 โดยเตรียมงบประมาณสนับสนุนไว้เพื่อพัฒนา 2.ร่วมมือต่างประเทศอย่าใกล้ชิด โดยต่างประเทศมีวัคซีนทดลองมนุษย์แล้ว 13 ตัว เราประสานร่วมมือ 3 ประเทศ 7 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาวัคซีน เผื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาผลิตในประเทศเพื่อลดเวลา 3.จัดหาถ้ามีใครมีแนวโนมผลิตได้ จะไปติดต่อเพื่อขอจองวัคซีน ซึ่งติดตามใน 2 ประเทศ 5 หน่วยงาน ค่าใช้จ่ายประมาณ โดสละ 20-30 เหรียญสหรัฐ” ปลัด สธ.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image