ศบค.ยันไม่กักตัวผู้ติดตาม “ผบ.ทบ.มะกัน” เร่งหา “ต่างด้าว” ลอบหนีเข้าไทย จ่อคลายเกณฑ์สอบสวนโรค

ศบค.ยันไม่กักตัวผู้ติดตาม “ผบ.ทบ.มะกัน” เร่งหา “ต่างด้าว” ลอบหนีเข้าไทย จ่อคลายเกณฑ์สอบสวนโรค

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) กล่าวถึงการรับชาวต่างชาติในฐานะแขกพิเศษของรัฐบาล และกลุ่มที่เดินทางมาตามข้อตกลงพิเศษในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า เรื่องนี้เป็นข้อห่วงใยจากประชาชน ซึ่งจะต้องเรียนว่า พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ในฐานะประธาน ศบค.ชุดเล็ก ได้แจกแจงรายละเอียดข้อมูลต่างๆ โดย คณะของ ผบ.ทบ.สหรัฐอเมริกา ที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยถือเป็นกิจการแรกที่ได้ทำ ซึ่งถูกกำหนดอยู่ในข้อกำหนดที่ได้ออกมาในมาตรการระยะที่ 5 โดยมี 2 กลุ่มที่สามารถเดินทางเข้ามาได้ คือ 1.แขกของรัฐบาล และ 2.กลุ่มที่เดินทางมาตามข้อตกลงพิเศษ เช่น นักธุรกิจที่เข้ามาระยะสั้น ที่มีความแตกต่างของระยะที่ 4 และ 5 คือ เดิมระยะที่ 4 ผู้เดินทางเข้ามาจะต้องอยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) เป็นระยะเวลา 14 วัน แต่มีการผ่อนคลายขึ้นมาเนื่องจากมีความมั่นใจว่าสามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ที่มีข้อถามว่าจะต้องกักกันโรคของผู้ติดตามหรือไม่นั้น จะต้องเรียนว่าได้กำหนดผู้ติดตามคือ 1.กลุ่มผู้ติดตามคณะเล็กที่จัดหามาจากผู้ที่เชิญ 2.กลุ่มบุคลากรทางสาธารณสุขและความมั่นคง จะต้องประกอบทีมติดตามตลอด

“โดย 2 กลุ่ม ของผู้ติดตามก่อนจะเข้าทำหน้าที่จะต้องอบรมในการป้องกันโรค และจะต้องเจอกันในระยะสั้นๆ มีการเว้นระยะห่างระหว่างกัน เพราะฉะนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกักตัวต่อ 14 วัน และเราเคยทำมาก่อนแล้ว คือ ผู้ที่เดินทางเข้ามาและลงที่สนามบิน จะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจเช็ก กลุ่มพวกนี้ทำงานมาตลอด และไม่ได้กักกันโรค 14 วัน ทุกคนต้องหมุนเวียนทำงาน แต่ในระหว่างนั้นจะต้องมีทักษะในการดูแลตัวเองอย่างดีจะต้องมีการสังเกตอาการตัวเองตลอดเวลา และมีระบบเช็กอัพเรื่องสุขภาพตลอดเวลา ซึ่งเป็นความมั่นใจในสาธารณสุขไทย” โฆษก ศบค.กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การเริ่มเปิดให้มีการทำ Medical and wellness program ในโรงพยาบาล (รพ.) ภาคเอกชนนั้น ยอมรับว่าเป็นการเอื้อให้แก่ รพ. แต่ไม่มีการทำอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยต่างชาติ รพ.เอกชนทั้งหลาย ได้ดำเนินการมาก่อนหน้าที่จะมีโควิด-19 แล้ว แต่เมื่อช่วงมีโควิด-19 ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ เช่น ผู้ที่ติดตามการรักษาโรค ในวันนี้จึงได้พูดคุยกันว่าการที่ให้เข้ามานั้น นอกจากการติดตามงานภาระเดิมแล้วจะต้องเข้ามาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และจะต้องอยู่ใน รพ.ให้ครบ 14 วัน

“หากมองว่า รพ.คือ ธุรกิจหนึ่ง ซึ่งดูแลสุขภาพ เจ็บไข้ได้ป่วย น่าจะมีความเสี่ยงน้อยที่สุด สามารถควบคุมกำกับได้ และการยืดระยะเวลาพัก 14 วันให้คล้ายกับการกักกันโรคฯ ยิ่งทำให้มั่นใจยิ่งขึ้น โดยขณะนี้มี รพ.ที่จะเข้ามากว่า 85 แห่ง พวกเขามีศักยภาพในการดูแล ตอนนี้สิ่งที่ลงไปในรายละเอียดมากกว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ จะต้องไม่กินทรัพยากรใน รพ. คือ จะไม่เกิดภาระในการนอนเตียง รพ. จึงมีการเลือกเฉพาะผู้ที่ผ่าตัดไม่ใหญ่ ทำตา จมูก ทำลูก ทำฟัน โรคกระดูกและข้อ การผ่าตัดแปลงเพศ ศัลยกรรม การรักษาความเยาว์วัย ในเรื่องนี้มีผู้ป่วยอยู่แล้ว และมีการลงทะเบียนไว้ 1,385 คน และมีผู้ติดตาม 1,000 คน รวมแล้วประมาณ 2,000 คน ที่จะเข้ามาในเดือนสิงหาคม-กันยายน โดยผู้ติดตามก็จะต้องอยู่ใน รพ.ให้ครบ 14 วันเช่นกัน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

Advertisement

โฆษก ศบค.กล่าวว่า แต่หลังจากการผ่าตัดต่างๆ แล้วอาจจะต้องมีการอยู่ติดตามผลนั้น ในที่ประชุมได้หารือกันว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) อาจจะเข้ามาเชื่อมโยงกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่นำโดยทีมเอกชน ในการให้คนกลุ่มนี้อยู่ในประเทศไทยต่อ เนื่องจากอยู่ใน รพ.จนครบ 14 วันและไม่มีการติดเชื้อ ก็จะมีการจัดนำเที่ยวในประเทศไทยต่อ ซึ่งเหมือนกับการที่พยายามให้คนไทยเที่ยวในประเทศไทยกันเอง เนื่องจากคนไทยที่ไม่มีการติดเชื้อในประเทศถึง 44 วัน สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ คนกลุ่มนี้จะมีความมั่นใจในการเดินทาง จับจ่ายใช้สอย เพื่อกระจายรายได้ไปยังที่ต่างๆ ของประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวถามว่ากลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ได้เข้ามายังประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายกว่า 3,000 คน จะมีการจัดการอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในวันนี้ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. และ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ได้หารือในที่ประชุมของ สธ.ในเรื่องนี้โดยสอบถามว่า จะมั่นใจในตัวเลขศูนย์ได้มากเพียงใด โดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวว่า ไม่น่ามั่นใจในตัวเลขศูนย์ได้ 100% เนื่องจากมีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาผิดกฎหมาย โดยมีการช่วงนี้มีการผ่อนคลายในหลายกิจการ/กิจกรรม ดังนั้นก็จะมีความต้องการแรงงานมากขึ้น โดยช่วงโควิด-19 จะต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น สิ่งที่ต้องกังวล คือ 1.จะต้องทำอย่างไรในกลุ่มแรงงาน 2.ในกลุ่มคนไทยกันเองจะมีเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ดังนั้นจึงจะต้องคลายเกณฑ์ต่างๆ ในการหาผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค(PUI) เพื่อให้มีคนเข้ามาตรวจมากขึ้น

“ขณะนี้ได้ตรวจผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคไปกว่า 6 แสนคน แต่ยังไม่พอ จะตรวจให้มากขึ้น พร้อมทั้งหาการป้องกัน เช่น แรงงานผิดกฎหมาย จึงขอให้กองกำลังภาคมั่นคงเพิ่มกำลังในเส้นทางเข้าเมือง ตั้งด่านจุดตรวจให้มากขึ้น เพื่อป้องปรามกักกันได้ในระดับหนึ่ง และมาตรการนี้จะเกิดขึ้น รวมทั้งใช้ อสม.ในประเทศ หาผู้แปลกหน้าในชุมชน เฝ้าระวังพื้นที่ในประเทศไทย ปราการที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรคคือ หน้ากากอนามัย การป้องกันส่วนบุคคล” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image