หมอแจง “ไทย” ไม่ได้ซื้อ “วัคซีนโควิด-19” แต่ขอถ่ายทอดเทคโนโลยีจากม.อ็อกซ์ฟอร์ด

หมอแจง “ไทย” ไม่ได้ซื้อ “วัคซีนโควิด-19” แต่ขอถ่ายทอดเทคโนโลยีจากม.อ็อกซ์ฟอร์ด

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวว่าประเทศไทยเตรียมไปเจรจาขอซื้อวัคซีนป้องกันโควิด -19 จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ด้วยงบประมาณ 600 ล้านบาท ว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงคือ ขณะนี้มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด โดยความร่วมมือกับผู้ผลิตวัคซีนของเขาเองมีการพัฒนาวัคซีนก้าวหน้า มีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จในเร็วๆ นี้ เพราะมีการทดลองในคนกว่า 1,00 คน โดยการฉีดวัคซีนในคนเข็มแรกให้การตอบสนองที่ดีมากโดยร้อยะ 90 มีภูมิต้านทาน

“มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด มีวัตถุประสงค์ว่าหากพัฒนาวัคซีนสำเร็จจะให้คนทั้งโลกได้ใช้วัคซีนนี้ด้วย ด้วยราคาที่ไม่มีกำไร แต่ถ้าผลิตเองคงไม่เพียงพอ จึงมีการพิจารณาโรงงานผลิตวัคซีนในแต่ละทวีปว่ามีที่ไหนมีศักยภาพที่จะผลิตได้ ก็จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ ซึ่งในเอเชียก็ได้ที่อินเดีย” ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าว

ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อไปว่า ในขณะที่ประเทศไทยเองมีบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่สามารถรองรับการผลิตได้ จึงมีการหารือว่า หากสามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาได้ก็จะเป็นการผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำเลย ดังนั้นตนจึงขอให้รัฐบาลเป็นตัวแทนไปเจรจามหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เพื่อขอถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้คนไทยผลิต ส่วนงบ 600 ล้านบาท ก็จะใช้เพื่อการพัฒนาบริษัทของคนไทยเพื่อให้มีประสิทธิภาพพอที่จะรองรับกับเทคโนโลยีที่เขาจะให้มา ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม โดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ลงไปตรวจสอบโรงงงานผลิตแล้วคาดว่าจะสามารถให้การรับรองมาตรฐาน GMP ได้ประมาณเดือนกันยายนนี้

ทั้งนี้ ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในการเจรจานั้น ประเทศไทยมีทีมบริษัท สยามซีเมนต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ดังนั้นจะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศไปเป็นผู้เจรจา ทำความยืนยันเพื่อรับเทคโนโลยีมาผลิต ซึ่งอันนี้มีความเป็นได้ที่สุด เพราะทำได้เร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

Advertisement

“หากเขาทำสำเร็จ แล้วเราได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมานั้น เราจะสามารถผลิตได้หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน ซึ่งกำลังการผลิตของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จะผลิตได้คือ 200 ล้านโดส ถือว่าเป็นปริมาณมากจึงสามารถนำไปช่วยเหลือกลุ่มประเทศในอาเซียนได้อีกด้วย” ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวและว่า ส่วนการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย โดยคนไทยนั้น ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยนั้น ก็จะไม่หยุดเดินหน้า รัฐบาลจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 3,500 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสนับสนุนในเรื่องวัคซีน ตั้งแต่การค้นคว้า วิจัย พัฒนา และลงทุนในประเทศ โดยมอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นผู้ดูแล ดังนั้นการใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท ที่มีการกล่าวถึงนั้นก็จะอยู่ในงบ 3,500 ล้านบาทนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image