ไทยเข้มโควิด-19 เพิ่มตรวจพรมแดนสกัดลักลอบเข้าเมือง

ไทยเข้มโควิด-19 เพิ่มตรวจพรมแดนสกัดลักลอบเข้าเมือง สธ.วอนทุกฝ่ายช่วยสอดส่อง

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 6 ราย ซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าพักในสถานกักกันโรค (Quarantine) ทุกรายไม่มีอาการป่วย โดย รายที่ 1 เดินทางมาจากประเทศอุซเบกิสถาน ชายไทย อายุ 45 ปี รายที่ 2 เดินทางมาจากฟิลิปปินส์ เป็นหญิงไทย อายุ 36 ปี รายที่ 3 เดินทางมาจากเยอรมนี ชายสัญชาติอเมริกัน อายุ 62 ปี เป็นผู้ได้ใบรับอนุญาตทำงาน โดยเมื่อเดินทางมาถึงได้เข้าพักในสถานกักกันโรคทางเลือก (Alternative State Quarantine) รายที่ 4 เดินทางมาจากเยอรมนี หญิงไทย อายุ 44 ปี รายที่ 5 เดินทางมาจากเอธิโอเปีย ชายสัญชาติเอธิโอเปีย อายุ 34 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางมาพร้อมกับภรรยา ซึ่งเป็น รายที่ 6 หญิงสัญชาติเอธิโอเปีย อายุ 36 ปี เดินทางมาเพื่อรักษาโรคประจำตัวในโรงพยาบาล (รพ.) ที่ได้นัดหมายไว้

“โดยก่อนเดินทางมาได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และเมื่อมาถึงได้รับการตรวจซ้ำ ผลพบเชื้อโดยไม่มีอาการ มีความปลอดภัย และไม่มีการสัมผัสกับผู้อื่น” นพ.โสภณ กล่าวและว่า สถานการณ์ของโลกพบผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่า 24 ล้านราย เพิ่มขึ้นวันละกว่า 200,000 ราย แต่มีผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วอัตราที่สูงถึง ร้อยละ 69 และอีกส่วนหนึ่งยังอยู่ในระหว่างการรักษา โดยประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล และอินเดีย ซึ่ง 3 ประเทศนี้มีผู้ป่วยยืนยันสะสมรวมกันมากถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยทั่วโลก แต่อินเดียยังมีการพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่งขึ้นรวดเร็ว เฉลี่ยวันละ 70,000 ราย และ อันดับ 4 คือ รัสเซีย ซึ่งมีผู้ป่วยกว่า 900,000 ราย

นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนประเทศที่จะต้องให้ความสนใจในแถบทวีปเอเซียใต้ คือ บังคลาเทศ และปากีสถาน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีคนไทยเดินทางกลับมา โดยบังคลาเทศมีผู้ป่วยประมาณ 300,000 ราย และปากีสถานประมาณ 290,000 ราย โดยขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 120 จากทั่วโลก

Advertisement

“สถานการณ์ใกล้เคียงกับไทย ที่อยู่ในเอเซียตะวันเฉียงใต้ ประเทศที่น่าสนใจคือ การระบาดในประเทศเมียนมา ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และเป็นประเทศหนึ่งที่พบผู้ติดเชื้อที่เดินทางจากต่างประเทศ แต่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อในประเทศ ซึ่งล่าสุดมีรายงานผู้ติดเชื้อสะสม 602 ราย เป็นการเพิ่มขึ้นใหม่ 22 ราย พื้นที่ระบาดคือ รัฐยะไข่ โดยในเอเซียตะวันออกใต้ มีหลายประเทศที่ควบคุมสถานการณ์ได้ดี มีผู้ป่วยน้อย เช่น กัมพูชา บรูไน และลาว ประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยที่สูงขึ้นจากเมียนมา คือ เวียดนาม ที่มีการระบาดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แต่ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้น และประเทศมาเลเซีย เป็นอีกประเทศที่พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวนน้อยลง แต่มีผู้ป่วยยืนยันสะสมกว่า 9,000 ราย” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า ประเทศเมียนมา รัฐยะไข่ มีจำนวนผู้ป่วยรายงานเป็นอับดับ 2 จำนวน 200 ราย อันดับที่ 1 คือ ย่างกุ้ง จำนวน 293 ราย ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อกับประเทศบังคลาเทศและอินเดีย ที่มีจำนวนผู้ป่วยค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงดูแลผู้เดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งมีแรงงานเข้ามาในไทยจำนวนหนึ่ง มาตรการสำคัญของเมียนมา มีความเข้มงวด เช่น ใช้มาตรการเช่นเดียวกันประเทศไทย ให้ประชาชนอยู่บ้าน ประกาศเคอร์ฟิวในรัฐยะไข่ ช่วงเวลา 21.00-04.00 น. โดยบุคคลที่เดินทางออกจากพื้นที่จะต้องถูกกักตัวในสถานกักกันทางการ 14 วัน และกักตัวเพิ่มในที่พักอีก 7 วัน รวมเป็น 21 วัน โดยรัฐยะไข่เป็นการระบาดใหม่ ยังไม่ใช่การระบาดระลอกที่ 2

นอกจากนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าหลายประเทศเริ่มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการระบาดระลอกที่ 2 เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ดังนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศยังต้องเคร่งครัดในมาตรการป้องกันโรคด้วยการสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง เลี่ยงพื้นที่แออัด และลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่นไทยชนะ ซึ่งประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังและติดตามที่ค่อนข้างดี ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศรวม 3 เดือน และมีมาตรการเฝ้าระวังพื้นที่ชายแดน ป้องกันการลักลอบเข้าเมือง และมีการเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ซึ่งยังไม่พบผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังต่อไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาการนำเชื้อเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีมาตรการอย่างไรเพื่อป้องกันกรณีการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ชายแดนไทย นพ.โสภณ กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านหลายร้อยกิโลเมตร ซึ่งเป็นความยากลำบากในการเฝ้าระวัง โดยพื้นที่พรมแดนมีด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศในช่วงทางหลัก แต่การลักลอบเข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นช่องทางธรรมชาติ ดังนั้น ฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับมอบหมายให้เพิ่มความเข้มงวดและความถี่ในการตรวจตรา เพื่อป้องกันการลักลอบ โดยฝ่ายสาธารณสุขในพื้นที่ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ฝ่ายท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยสอดส่องว่าพบผู้แปลกหน้าเข้าพื้นที่หรือไหม หากพบต้องรีบแจ้งมายังเจ้าหน้าที่ กรณีที่ถูกจับกุมในการดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อประเมินความเสี่ยง

“สำคัญที่สุดคือ ประชาชนต้องช่วยกัน เลี่ยงการเดินทางพื้นที่เสี่ยงพบการระบาด ชะลอการนำแรงงานมาจากพื้นที่มีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน และรอให้สถานการณ์ดีขึ้นก่อน มั่นใจว่าปลอดภัยจึงสามารถดำเนินการต่อไป ซึ่งการสอดส่องเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่าข้อมูลที่ได้จากสื่อสาธารณะ เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นข้อมูลปัจจุบัน การป้องกันเชิงรุกเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง” นพ.โสภณ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image