สธ.ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงโควิด-19 ระลอก 2 ต่างชาติ-แรงงานต่างด้าว-ติดเชื้อไม่มีอาการ

สธ.ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงโควิด-19 ระลอก 2 ต่างชาติ-แรงงานต่างด้าว-ติดเชื้อไม่มีอาการ ย้ำสวมหน้ากาก-คัดกรองตนเอง

วันนี้ (21 กันยายน 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงถึงการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในระยะที่ 6 ที่เปิดให้จัดการแข่งขันกีฬาและจัดคอนเสิร์ต ว่า ในช่วงนี้ประชาชนอาจจะไม่สนใจการผ่อนปรนมาตรการมากนัก แต่สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มีอะไรบ่งบอกว่าจะวางใจโควิด-19 ได้ เพราะทั่วโลกยังมีการระบาด ประเทศไทยต้องยอมรับความเสี่ยงรอบด้าน

“แต่ที่น่าสนใจคือ เหตุใดประเทศไทยพบผู้ป่วยน้อย ตอบได้ว่าเป็นความร่วมมือในการป้องกันโรค แม้ช่วงขาดแคลนหน้ากากอนามัย คนไทยก็ร่วมกันประดิษฐ์หน้ากากอนามัยชนิดผ้าขึ้นมา รูปแบบสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในไทย ได้แก่ 1.การติดเชื้อจำนวนน้อย จะพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการจะอยู่ในระบบการรายงาน แต่ผู้มีอาการน้อยอาจอยู่ในบ้านเรือน เช่น กรณีผู้ป่วยที่มีอาชีพดีเจ ซึ่งหมายความจะมีการติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้น 2.ติดเชื้ออาการน้อยหรือไม่มีอาการ ซึ่งอาจจะเป็นผู้มีภูมิต้านทานโรค แต่ข้อมูลการรายงานของต่างประเทศ พบว่าโควิด-19 มีภูมิต้านทานระยะที่สั้นคล้ายไข้หวัด หมายถึงจะมีการติดเชื้อใหม่ได้อีก 3.วัคซีน ไม่มีความแน่นอน และโปรตีนของไวรัสมีการกลายพันธุ์ ซึ่งอาจเกิดปัญหาในการใช้วัคซีน และ 4.ภาพรวมของประเทศไทย ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าปลอดภัยจากโควิด-19 แล้ว” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.บัญชา กล่าวถึงรูปแบบความเสี่ยงในการแพร่เชื้อในประเทศไทย ว่า ได้แก่ 1.ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศ แต่หากปฏิบัติตามมาตรการของ สธ. รับประกันว่าโอกาสแพร่เชื้อน้อยมาก แต่ยังต้องกังวลในผู้ที่เข้ามาโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 2.แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เป็นเรื่องที่ยากในการปกป้องชายแดน จึงต้องพึ่งพาผู้ประกอบการ และ 3.ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไปอยู่รวมกันแพร่กระจายเชื้อให้คนใกล้ชิด เช่น สถานที่ดื่มกินร่วมกัน ที่มีการพูดคุยและถอดหน้ากากอนามัยในการรับประทานอาหาร สถานที่มีผู้รวมตัวกันมากในระบบปิด และ การคลุกคลีกับคนใกล้ชิด

Advertisement

“ความเสี่ยงการแข่งขันกีฬาที่มีคนเชียร์ คือ 1.มีความแออัดซึ่งแก้ไขได้ด้วยการจำกัดจำนวนผู้เข้าชม 2.การเบียดเสียดเข้า-ออกในการเข้าชม แก้ไขที่ดีที่สุดคือ การเว้นระยะห่าง และ 3.การตะโกนเชียร์ แก้ไขได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ขอเน้นย้ำว่า หากผู้ที่ป่วยและไม่ได้ป่วยพูดคุยกัน แต่สวมหน้ากากอนามัยทั้งคู่ โอกาสติดเชื้อจะลดเหลือร้อยละ 1.5 เท่านั้น” นพ.บัญชา กล่าว

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงมาตรการจัดการแข่งขันกีฬาว่า ต้องเตรียมการ

1.ผู้จัดการแข่งขัน เตรียมการสถานที่ การคัดกรองผู้เข้าร่วม บริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ลักษณะการแข่งขัน หากเป็นระบบเปิด/กีฬากลางแจ้งกำหนดให้มีผู้เข้าชมไม่เกินร้อยละ 25 และระบบปิด/กีฬาในร่ม ไม่เกินร้อยละ 15 ของความจุสนาม เจ้าหน้าที่ต้องมีความรู้ในการป้องกันโรค และการซื้อตั๋วแบบออนไลน์ พร้อมลงทะเบียนเข้าร่วมงานทุกครั้ง

Advertisement

2.ประชาชนผู้เข้าร่วมงาน จะต้องผ่านการคัดกรองอุณหภูมิร่างกาย ลงทะเบียนแอพพลิเคชั่นไทยชนะ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือน้ำสบู่ และหลีกเลี่ยงการเข้าพื้นที่แออัด เว้นระยะห่างระหว่างนั่งชมกีฬา

“กรมควบคุมโรคได้ล้อมรั้ว และอยากชวนคนไทยช่วยกันค้นหาผู้ป่วย ขอรับการตรวจ และแยกตัวกักกันโรคให้เร็ว โดยใช้คำว่า พบเร็ว ตรวจเร็ว แยกเร็ว ซึ่งจะเป็นความรู้ใหม่ของคนไทย ว่า หากพบผู้ป่วยเร็ว ก็จะค้นหาผู้สัมผัสให้ครอบคลุมได้เร็ว หากเจอเร็วก็จะไม่ระบาด” นพ.บัญชา กล่าวและว่า ข้อมูลในการป้องกันโรคให้ได้ผลดี แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.พฤติกรรมประชาชน 2.การปฏิบัติของผู้ประกอบการ และ 3.การควบคุมโรคของเครือข่ายสาธารณสุข โดยหาก 3 ส่วนได้ทำดีทั้งหมด เมื่อพบผู้ป่วย 1 รายก็จะยังปลอดภัย หากประชาชนป้องกันได้ไม่ดี แต่ผู้ประกอบการและการควบคุมโรคยังทำได้ดี ก็จะเป็นความเสี่ยง ขณะเดียวกันหากประชาชนและการควบคุมโรคทำได้ดี แต่ผู้ประกอบการทำได้ไม่ดี ก็เกิดเป็นความเสี่ยงสูง และสุดท้ายหากทั้ง 3 ส่วนทำได้ไม่ดี การระบาดระลอกที่สองมาอย่างแน่นอน

“ทั้งนี้ 3 องค์ประกอบที่ทำให้ประเทศไม่มีระบาดระลอกที่ 2 คือ 1.ด้านโรค หากเจอผู้ป่วยรายใหม่เร็ว ผู้ป่วยรายใหม่น้อย สามารถติดตามผู้สัมผัสได้ เรายังเอาอยู่ 2.ด้านคน หากการป้องกันโรคยังทำได้เข้มข้น อย่างน้อยที่สุดคือร้อยละ 80 และเมื่อไปสถานที่เสี่ยงสูงยังสวมหน้ากากอนามัยทุกราย 3.สถานประกอบการ ปฏิบัติตามมาตรการเข้มข้น ดังนั้น 3 ด้านนี้ถึงจะเอาการระบาดระลอกสองอยู่ และฝากไว้ว่า วิถีใหม่ครอบครัวไทยสกัดภัยโควิด-19 ระลอก 2 ให้เอาอยู่ คือ พร้อมใจคัดกรองตนเองก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง เพราะบ้านเป็นจุดตั้งต้นของการระบาดโรค และเมื่อกลับบ้านก็จะต้องเฝ้าสังเกตอาการตนเอง หากป่วยต้องรีบไปพบแพทย์ทันที และเมื่อเข้าพื้นที่เสี่ยงผับ บาร์ สนามกีฬา สถานที่ระบบปิด ต้องป้องกันตนเองเข้มข้น แม้ว่าเราจะพบผู้ป่วยใหม่น้อยมาก เราก็จะต้องทำเช่นนี้ต่อไป” นพ.บัญชา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image