“รง.หน้ากากอนามัยซีพี” ต้อนรับผู้บริหารสนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน เยี่ยมชมการผลิต-ชี้ช่วยสังคมฝ่าวิกฤตโควิด

นับจากช่วงมกราคม 2563 การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดความวิตกของสังคม การสวมใส่หน้ากากอนามัยถือเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม ประเทศไทยประสบปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนอย่างหนัก รวมถึงวัตถุดิบในการผลิต เช่น วัสดุกรองชั้นในเมลต์โบลน(Melt-blown) มีราคาสูงขึ้นหลายสิบเท่า ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ประเทศไทยมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยตามข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เพียง 9 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ไม่เพียงพอ เมื่อสถานการณ์ตึงเครียดขึ้น ทุกประเทศมีปัญหาคล้ายกัน ทำให้ทั่วโลกมีความต้องการหน้ากากอนามัยมากขึ้น จึงทำให้ขาดตลาดอย่างรุนแรง

ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2563 นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์(เครือซีพี) จึงมีเจตนารมณ์ ร่วมกับรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในการเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาวิกฤตขาดแคลนหน้ากากอนามัย โดยซีพีสร้างโรงงาน และทำหน้าที่ผลิตหน้ากากอนามัยให้รพ.จุฬาฯ ตามคำสั่งการผลิตจากรพ.จุฬาลงกรณ์ฯ เพราะรพ.จุฬาฯ จะทราบความต้องการว่าบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนเท่าใด ดังนั้น รพ.จุฬาฯจะเป็นผู้กำหนดจำนวนการผลิต เพื่อแจกจ่ายฟรีให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ขาดโอกาสการเข้าถึง โดยนำไปส่งรพ.ต่างๆ กว่า 1,000 แห่งในช่วงวิกฤตขาดแคลนหน้ากากอนามัย

ปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยบรรเทาลงไปมาก ก้าวต่อไป รพ.จุฬาฯ มีเจตนารมย์ให้โรงงานหน้ากากอนามัยเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งเครือซีพีขานรับนโยบาย โดยโรงงานหน้ากากอนามัยจะยกกำไรทั้งหมดให้รพ.จุฬาฯ เพื่อสร้างประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้กับประเทศชาติและคนไทยอย่างยั่งยืน

Advertisement

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา คณะผู้บริหารสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นำโดยนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้เกียรติเข้าเยี่ยมชมโรงงานหน้ากากอนามัยของบริษัท ซีพี โซเชียล อิมแพคท์ จำกัด วิสาหกิจเพื่อสังคมในเครือซีพี

นายวทัญญูกล่าวภายหลังการเยี่ยมชมว่า ขอชื่นชมซีพีที่สร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในช่วงที่ประเทศไทยมีวิกฤตโควิด-19 รุนแรงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความท้าทายและอุปสรรคต่างๆ แต่สามารถเร่งดำเนินการจนสร้างโรงงานเสร็จใน 5 สัปดาห์ เพื่อเร่งผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงมาช่วยสนับสนุนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ขณะนั้นการผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศขาดแคลน ถือเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชม

Advertisement

“เห็นชัดเจนว่าเป้าหมายที่ซีพีทำเพื่อการแพทย์ และเพื่อสาธารณะ โดยแจกจ่ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ตั้งแต่ปีที่แล้วถึงปัจจุบันจนสถานการณ์หน้ากากอนามัยขณะนี้ดีขึ้น ซึ่งหน้ากากอนามัยของซีพีที่ผลิตโดยบริษัทซีพี โซเชียล อิมแพคท์ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน้ากากอนามัยที่จำหน่ายเกินราคาในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เพราะการผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ของซีพีส่งมอบให้โรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อนำไปแจกจ่าย”นายวทัญญูกล่าว

ด้านนายภูมิชัย ตรัยดลานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โซเชียล อิมแพคท์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่คณะผู้บริหารสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินให้เกียรติเข้าเยี่ยมชมโรงงานหน้ากากอนามัยซีพี ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตขาดแคลนหน้ากากอนามัยตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทซีพี โซเชียล อิมแพคท์ ซึ่งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมของเครือซีพี ได้เร่งสร้างโรงงานเพื่อผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) โดยรพ.จุฬาฯ จะเป็นผู้กำหนดผู้รับ และสถานที่ รวมถึงความต้องการในการแจกจ่าย เพื่อแจกฟรีให้แก่ แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ตลอดจนประชาชนกลุ่มผู้เปราะบางตามเจตนารมย์ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์

นายภูมิชัยกล่าวว่า โรงงานหน้ากากอนามัยตั้งอยู่ที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ลงทุนกว่า 100 ล้านบาท สร้างเสร็จภายใน 5 สัปดาห์ ผลิตและแจกจ่ายตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2563 เป็นต้นมา โดยบริจาคหน้ากากที่ผลิตให้แก่ รพ.จุฬาฯเป็นผู้พิจารณาและนำไปแจกจ่ายฟรีแก่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ตลอดจนประชาชนกลุ่มผู้เปราะบาง จนถึงสิ้นปี 2563 ได้ผลิตและแจกจ่ายไปแล้วกว่า 11 ล้านชิ้นมอบให้แก่โรงพยาบาล องค์กรการกุศล และ มูลนิธิ ทั่วประเทศไทยกว่า 1,000 แห่ง สมดังความตั้งใจของเครือเจริญโภคภัณฑ์และรพ.จุฬาฯที่ต้องการบริจาคหน้ากากอนามัยเพื่อสาธารณกุศลในช่วงที่เกิดภาวะขาดแคลน จนถึงปัจจุบันสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ โดยแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนกลุ่มเปราะบาง สามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัยได้อย่างทั่วถึง

นายภูมิชัยกล่าวว่า ปัจจุบัน แจกจ่ายหน้ากากอนามัยฯไปแล้วกว่า 11 ล้านชิ้น โดยระยะแรกตั้งแต่ 16 เมษายน 2563 รพ.จุฬาฯมุ่งเน้นแจกจ่ายแก่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาล เป็นลำดับแรก ทำให้โรงงานต้องผลิตในกำลังการผลิตสูงสุด 24 ชั่วโมง ภายใต้ความยากลำบากในการหาวัตถุดิบที่ขาดแคลนทั่วโลก ขณะที่ช่วงนั้นโรงพยาบาลทั่วประเทศขาดแคลน แต่ก็ผลิตและส่งมอบให้จนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนหน้ากากอนามัยได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยแบ่งเบาภารกิจของภาครัฐในการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นหน้าด่านในการต่อสู้กับโควิด-19

นายภูมิชัยกล่าวว่า ส่วนระยะที่ 2 ขยายการแจกจ่ายจากบุคลากรทางการแพทย์ไปสู่ประชาชนกลุ่มเปราะบางตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2563 แจกจ่ายหน้ากากอนามัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล 4 ล้านชิ้น และบางส่วนให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางผ่านเครือข่ายกาชาด 1 ล้านชิ้น รวมทั้ง 2 ระยะแจกจ่ายไปเป็นจำนวน 8 ล้านชิ้น จากนั้นเข้าสู่ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 แต่เริ่มมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศไทยเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก และเมื่อสำรวจความต้องการในตลาดและปริมาณการผลิตในประเทศ เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ

“ทางรพ.จุฬาลงกรณ์ฯ จึงมีเจตนารมย์ ให้โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยปรับกระบวนการผลิตกลับมาอยู่กำลังการผลิตปกติ โดยสำรองหน้ากากอนามัยให้รพ.จุฬาลงกรณ์ฯเดือนละประมาณ 300,000 ชิ้น และเพื่อให้เกิดรายได้นำมาใช้ในการดำเนินโรงงานอย่างยั่งยืน บริษัทในเครือ สามารถลงงบประมาณให้กับโรงงานผลิตหน้ากาก เพื่อผลิตและซื้อหน้ากากอนามัยไปบริจาคและแจกจ่ายเพิ่มเติม โดยจัดสรรกำไรทั้งหมดจากการดำเนินกิจการโรงงานหน้ากากอนามัยในทุกปีการผลิตให้แก่หน่วยงานต่างๆ ของรพ.จุฬาฯ ดังนี้ ศูนย์โรคหัวใจ 30% รพ.จุฬาฯ 30% คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ 30% และสภากาชาดไทย 10% ทั้งนี้ ปัจจุบันซีพี โซเชียล อิมแพคท์ ยังไม่มีการจำหนายให้กับบุคคลภายนอก รวมถึงไม่ได้จำหน่ายในร้าน เซเว่นอีเลฟเว่น แต่อย่างใด”นายภูมิชัยกล่าว

ด้านนายศักดิ์ชัย บัวมูล ผู้รับผิดชอบด้านวิศวกรรมและการออกแบบกระบวนการผลิต โรงงานหน้ากากอนามัยซีพี กล่าวว่า โรงงานหน้ากากอนามัยซีพีใช้เวลาก่อสร้างด้วยความรวดเร็วภายใน 5 สัปดาห์เพื่อเร่งบรรเทาวิกฤตการขาดแคลนหน้ากากอนามัย โดยให้ความสำคัญและมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการผลิตตั้งแต่การออกแบบห้องปลอดเชื้อ (Clean Room) โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตและเชื่อมต่อกับระบบเอไอที่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพการผลิตและการบรรจุ

“ในทุกขั้นตอนเชื่อมต่อเป็นระบบอัตโนมัติ และใช้กำลังคนน้อยที่สุดเพื่อให้หน้ากากอนามัยที่ผลิตปลอดเชื้อเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ก็ติดตามการผลิตหน้ากากอนามัยของโรงงานตลอดเวลาเนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม”นายศักดิ์ชัยกล่าว

นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า หน้ากากอนามัยซีพีที่ผลิตเป็นหน้ากากอนามัยที่เรียกว่า Surgical Mask จัดอยู่ในกลุ่มของอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งหน้ากากอนามัยซีพี ประกอบด้วย 3 ชั้น ซึ่งชั้นแรก เป็นนอนวูฟเวนชนิดสปันบอนด์ (สีเขียว) เคลือบสารไฮโดรโฟบิก มีคุณสมบัติป้องกันน้ำ ชั้นต่อมา เป็นนอนวูฟเวนชนิดเมลต์โบลน (สีขาว) ใช้ป้องกันเชื้อโรค และชั้นสุดท้าย เป็นนอนวูฟเวนชนิดสปันบอนด์ (สีขาว) โดยวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตล้วนมีคุณภาพได้มาตรฐาน อาทิ นอนวูฟเวนชนิดเมลต์โบลน (meltblown nonwoven) ซึ่งเป็นแผ่นป้องกันเชื้อโรค ได้คัดเลือกวัตถุดิบเกรด A ที่ได้มาตรฐานระดับโลก มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย(BFE) > 99% รวมถึงกรองฝุ่นอนุภาคขนาดเล็ก 0.1 ไมครอน(PFE)เฉลี่ย > 99.9% และได้รับใบรับรองคุณภาพจาก Nelson Labs องค์กรมาตรฐานอุปกรณ์ทางการแพทย์จากประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมั่นใจได้ว่าหน้ากากอนามัยซีพีมีคุณภาพและได้มาตรฐานในระดับสูงรายหนึ่งของเมืองไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image