เชียงใหม่ ยอดลงทะเบียนรับวัคซีน ยังต่ำ!

เชียงใหม่ ยอดลงทะเบียนรับวัคซีน ยังต่ำ!

วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 นพ.วรัญญู จำนงประสาทพร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ผ่านระบบ Zoom ว่า จังหวัดเชียงใหม่มีประชากรในกลุ่มผู้สูงอายุจังหวัดเชียงใหม่และบุคคลที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค จำนวน 5.6 แสนคน จึงมีการประมาณการขั้นต่ำในการฉีดวัคซีนไว้ที่ 12,000 โดสต่อวัน มั่นใจว่าทันภายใน 54 วันแน่นอน เพราะเบื้องต้นเรามีโรงพยาบาลทุกแห่งให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ซึ่งการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายครั้งนี้จะเริ่มในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ด้วยวัคซีนแอสตราเซเนก้า

“เราประเมินไว้ 12,000 คนต่อวัน โรงพยาบาลขนาดเล็ก ก็เฉลี่ย 300 คนต่อวัน หรือ 400-500 โดสต่อวัน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็ 600-800 โดสต่อวัน เช่น ในเขตตัวเมืองก็จะมีหน่วยงานรัฐและเอกชนช่วยกัน เรามีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ เช่น โรงพยาบาลแม่และเด็ก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลประสาท เป็นต้น และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย 5.6 แสนคนของประชากร ซึ่งรวมไปถึงโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องการเข้าร่วมฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้เร็วที่สุด” นพ.วรัญญู กล่าว

นพ.วรัญญู กล่าวว่า โดยสามารถลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ผ่าน 3 ช่องทาง 1) อสม. หรือ รพ.สต. ในพื้นที่ 2) โรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษา/โรงพยาบาลรัฐใกล้บ้าน และ 3) LINE OA หมอพร้อม หากไม่ปรากฏชื่อในระบบ สามารถนำเอกสาร หลักฐาน (สำเนาบัตรประชาชน/ใบรับรองแพทย์) มาขอเพิ่มชื่อได้ ที่โรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนทุกแห่ง โดยสามารถเลือกรับบริการฉีดวัคซีน ได้ที่โรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษา โรงพยาบาลภูมิลำเนา หรือศูนย์ฉีดวัคซีนสนามจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันมี 2 แห่ง ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ (พรอมเมนาดา) และโรงพยาบาลนครพิงค์ (โรงยิม 2 สนามกีฬา 700 ปี) สำหรับสถานที่รับบริการฉีดวัคซีน ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ สามารถเลือกรับบริการได้ 7 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่, โรงพยาบาลประสาท, โรงพยาบาลสวนปรุง, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (แม่และเด็ก), โรงพยาบาลแมคคอร์มิค, โรงพยาบาลนครพิงค์ (โรงยิม 2 สนามกีฬา 700 ปี), สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ (พรอมเมนาดา)

Advertisement

“ในแง่ของปัญหาแทบไม่มีเลย อาจจะเป็นกรณีที่ประชาชนไม่อยากฉีด หรือกลัววัคซีน แต่เรามีการเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว ทั้งแอพพลิเคชั่น หมอพร้อม และมีเจ้าหน้าที่ช่วยลงทะเบียนให้กรณีที่ประชาชนไม่มีสมาร์ทโฟน หรือไม่มีสัญญาน เจ้าหน้าที่ทุก รพ.สต. และเทศบาลพร้อมช่วยเหลือเต็มที่ ไม่น่าห่วง จนถึงปัจจุบันมีประชาชนในกลุ่มเป้าหมายเข้าลงทะเบียน จำนวน 22,569 คน คิดเป็น 4.31% ของกลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิ์ โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 – 31 กรกฎาคม 2564 (54 วัน)” นพ.วรัญญู กล่าว

นพ.วรัญญู กล่าวว่า อยากฝากประชาชนให้เข้าใจว่า ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนมีได้ในกลานสาเหตุ คือ จากตัววัคซีนเองที่มีส่วนประกอบต่างๆ แต่อัตราไม่สูง สามารถยอมรับได้ จากเหตุร่วมของการรับวัคซีน เช่น มีโรคประจำตัว จากการตอบสนองของร่างกายต่อวัคซีน เช่น อัมพฤกษ์ จนทำให้เกิดความกังวลจากข่าว แต่ยืนยันว่าจะหายได้เองใน 1-3 วัน และรักษาหายได้ไม่มีผลต่อระบบโรคในสมอง และสุดท้ายอาการจากความกังวลจนทำให้เกิดอาการได้ หากเทียบประชากรคนเอเชียมีผลต่อร่างกายน้อยกว่าชาวยุโรป และวัคซีนมีข้อดีข้อเสียต่างๆ กันไปในแต่ละยี่ห้อ แต่รับรองว่าสามารถป้องกันโรคได้ 100% ว่าหากได้รับเชื้อโควิด-19 จะไม่ป่วยหรือมีอาการหนัก

จากสถานการณ์การระบาดโควิ-19 ในจังหวัดเชียงใหม่ (ข้อมูล เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2564) พบผู้ติดเชื้อสะสม 3,766 ราย รักษาหาย 2,498 รายเสียชีวิต 7 ราย และยังคงรักษาตัว 1,261 ราย แบ่งเป็นกลุ่มสีเชียว ผู้ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย จำนวน 946 ราย, กลุ่มสีเหลือง ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง จำนวน 159 ราย, กลุ่มสีส้ม ผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีความเสี่ยงหรือมีโรคร่วมที่สำคัญ จำนวน 66 ราย, กลุ่มสีแดง ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก จำนวน 20 ราย กลุ่มผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เพื่อเป็นการลดความรุนแรงของโรค ลดการเสียชีวิต และลดการป่วยที่ต้องนอนในโรงพยาบาล รวมทั้งการฉีดวัคซีนจะช่วยลดการแพร่เชื้อ จึงขอเชิญชวนชาวจังหวัดเชียงใหม่ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 และเข้ารับการฉีดวัคซีนทันทีเมื่อได้รับการติดต่อนัดหมายหากมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ทางเบอร์ Call center 053-215183-85, E-mail :[email protected], Line : @320cufot หรือรพ.สต. และโรงพยาบาลรัฐ ทุกแห่ง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image