โพลเกษมบัณฑิต ชี้ ประชาชน 78% ขอ ศธ.จับตาโควิด ก่อนเปิดเทอม เหตุไม่มั่นใจมาตรการ สธ.

โพลเกษมบัณฑิต ชี้ ประชาชน 78% ขอ ศธ.จับตาโควิด ก่อนเปิดเทอม เหตุไม่มั่นใจมาตรการ สธ.

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต รายงานผลการสำรวจความคิดเห็น เรื่องปรากฏการณ์โควิด-19 กับการเปิดภาคเรียน โดยระบุว่า

จากปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อสังคมในหลากหลายมิติโดยเฉพาะด้านการจัดการศึกษาของสถานศึกษาต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันเพื่อไม่ให้การเรียนของนักเรียนต้องชะงัก กระทรวงศึกษาธิการจึงกำหนดเปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนสำหรับการพัฒนาการศึกษาตลอดจนสะท้อนมุมมองที่มีต่อการกำหนดเปิดภาคเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ KBU POLL โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จึงสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ปรากฏการณ์โควิด-19 กับการเปิดภาคเรียน”

สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2564 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,119 คนส่วนใหญ่เป็น เพศหญิง 689 คน คิดเป็นร้อยละ 61.57 เพศชาย 430 คน คิดเป็นร้อยละ 38.43 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในภาพรวมพบว่า

Advertisement

ความคิดเห็นที่มีต่อการเปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.51 ขอให้รอดูสถานการณ์ไปก่อน รองลงมาร้อยละ 15.44 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 6.05 เห็นด้วย

ความเชื่อมั่นต่อมาตรการสาธารณสุขของสถานศึกษา ส่วนใหญ่ร้อยละ 31.84 ไม่แน่ใจ รองลงมาร้อยละ 28.63 เชื่อมั่นในระดับปานกลาง ร้อยละ 20.04 เชื่อมั่นในระดับมาก ร้อยละ 11.19  เชื่อมั่นในระดับมากที่สุด ร้อยละ 6.07 เชื่อมั่นในระดับน้อย และร้อยละ 2.23 เชื่อมั่นในระดับน้อยที่สุด

Advertisement

ความเชื่อมั่นต่อระบบการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา ส่วนใหญ่ร้อยละ 29.44 เชื่อมั่นในระดับปานกลาง รองลงมาร้อยละ 24.52 เชื่อมั่นในระดับมาก ร้อยละ 19.94 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.06 เชื่อมั่นระดับมากที่สุด ร้อยละ 7.11 เชื่อมั่นในระดับน้อย และร้อยละ 1.93 เชื่อมั่นในระดับน้อยที่สุด

ความวิตกและข้อกังวลต่อการเปิดภาคเรียน ส่วนใหญ่ร้อยละ 43.06 ความปลอดภัยของนักเรียน รองลงมาร้อยละ 28.25 คุณภาพการเรียนการสอน ร้อยละ 11.84 ความเครียดของนักเรียน ร้อยละ 9.50 รูปแบบการจัดการเรียนการสอน/การเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ ร้อยละ 4.98 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และอื่นๆ ร้อยละ 2.37

รูปแบบหรือระบบที่เหมาะกับการจัดการเรียนการสอนของถานศึกษา ส่วนใหญ่ร้อยละ 39.11 จัดแบบออนไลน์ รองลงมาร้อยละ 22.63  จัดใบงานหรือแบบฝึกหัดให้นักเรียน ร้อยละ 19.09 จัดแบบทางไกล ร้อยละ 9.37 จัดผ่านแอพพลิเคชั่น ร้อยละ 5.89 จัดแบบปกติ และอื่นๆ ร้อยละ 3.91

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวว่า จากผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าจากปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีการแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งบางจังหวัดที่มีทีท่าว่ายังไม่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นนั้น ส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จึงยังต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการรอดูสถานการณ์ไปก่อนมากกว่าจะกำหนดเปิดเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ในขณะเดียวกันเมื่อไปดูในด้านของความเชื่อมั่นด้านต่างๆ จะพบว่ากลุ่มตัวอย่างยังไม่แน่ใจต่อมาตรการสาธารณสุขของสถานศึกษา ในขณะที่ระบบการจัดการศึกษากลับมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น และเหนือสิ่งอื่นใดเมื่อพิจารณาถึงความวิตกและข้อกังวลต่อการเปิดภาคเรียนตามกำหนดการดังกล่าวกลุ่มตัวอย่างจะให้น้ำหนักไปที่เรื่องความปลอดภัยของนักเรียนมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกใหม่จนถึงขณะนี้ถึงแม้ว่ารัฐบาลและภาครัฐจะดำเนินการมาตรการต่างๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนและบุคลากรในกลุ่มต่างๆ ก็ตาม แต่ในทางกลับกันจากความรุนแรงของการแพร่ระบาดวันนี้จึงยังไม่สามารถจะระบุได้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ณ ห้วงเวลาใด

ดังนั้น เพื่อไม่ให้การศึกษาของนักเรียนต้องชะงักและสะดุดลงจนส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อการศึกษาของชาติในวงกว้าง จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษาได้นำประสบการณ์จากการเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกแรกด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนประสบการณ์ภายใต้ครูและบุคลากรทางการศึกษามาถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศให้เดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสืบไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image