ศบค.เตือน ‘เครื่องช่วยหายใจไม่พอ’ ชี้ไทยพบพันธุ์ ‘เดลต้า’ ร้อยละ 32 ‘อัลฟ่า’ 66 วอน เข้มอนามัย

ศบค.เตือน ‘เครื่องช่วยหายใจไม่พอ’ ชี้ไทยพบพันธุ์ ‘เดลต้า’ ร้อยละ 32 ‘อัลฟ่า’ 66 วอน เข้มอนามัย ทฤษฎีปี 63 ไม่ได้ผล

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) (ศบค.) เปิดเผยว่า สายพันธุ์โควิด-19 ประเทศไทย ที่ต้องเฝ้าระวังว่า

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ไปสุ่มตรวจ พบสายพันธุ์ “อัลฟ่า” ของอังกฤษ แต่มีสายพันธุ์ “เดลต้า” ของอินเดีย มากกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า ในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความรวดเร็วในการติดเชื้อ แพร่กระจายไปถึงกลุ่มเสี่ยงที่ต้องนอนโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น

“กรุงเทพมหานคร หลักใหญ่อยู่ที่ 2 สายพันธุ์นี้ เรียนให้รับทราบและช่วยระมัดระวังอนามัยส่วนบุคคล

Advertisement

‘สายพันธุ์เดลต้า’ ภาคอีสาน ติดเชื้อกระจายไปทั่ว โดยเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ที่พบเชื้อในช่วงแรกจากแคมป์ของคนงานก่อสร้าง แพร่กระจายไป อันเนื่องมาจากเรามีมาตรการควบคุมแรงงาน แต่ขณะเดียวกัน แรงงานบางส่วนก็ย้ายถิ่นกลับไปบ้านเกิดของตนเอง เพื่อขอรับการรักษาในโรงพยาบาลบ้านเกิด ‘สายพันธุ์เดลต้า’ จึงเกิดขึ้นมาก

เมื่อดูอีกสายพันธุ์ที่เรากังวลใจ คือ ‘สายพันธุ์เบต้า’ ของ แอฟริกาใต้ พบอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชลบุรี ในบางแห่ง ระหว่างการเฝ้าระวังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงเรียนขอให้ทุกท่านช่วยเฝ้าระวัง เพราะการติดเชื้อนี้มีลักษณะแตกต่างออกไป สามารถแพร่กระจาย และต่อยอดสายพันธุ์ไปได้ โดยปรับตัวกับสถานที่ในแต่ละประเทศ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

Advertisement

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า โดยภาพรวมประเทศไทย จากจำนวนสุ่มตรวจ 2,238 ตัวอย่าง
เป็นสายพันธุ์อัลฟ่า 65.1 เปอร์เซ็นต์, สายพันธุ์เดลต้า 32.2 เปอร์เซ็นต์ และ สายพันธุ์เบต้า 2.6 เปอร์เซ็นต์

สรุป กรุงเทพมหานคร พบเชื้อสายพันธุ์เดลต้า เป็นส่วนใหญ่ ถึง 52 เปอร์เซ็นต์
ภูมิภาคยังคงเป็น สายพันธุ์อัลฟ่า ถึง 77 เปอร์เซ็นต์

โดยสายพันธุ์เดลต้า มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น พบว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่ เมษายน เจอ 10 เปอร์เซ็นต์, กลางมิถุนายน เจอ 16 เปอร์เซ็นต์, ต้นเดือนกรกฎาคม 32 เปอร์เซ็นต์

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ต้องทราบข้อมูลเหล่านี้เพื่อป้องกันสุขอนามัยให้มากขึ้น มีข่าวว่า สัมผัสไม่กี่นาที ก็ติด จากเดิมมีทฤษฎี 15 นาที อยู่ในห้องแอร์ด้วยกัน ทฤษฎีทั้งหลายเป็นของปีที่แล้ว การปรับใช้ในปัจจุบันยิ่งทำได้ยาก เพราะเชื้อก็ปรับตัวเองให้แพร่พันธุ์ได้เร็วขึ้น จึงต้องรีบปรับตัวเอง โดยเฉพาะการมีหน้ากากอนามัย 2 ชั้น แม้ว่าจะฉีดวัคซีนไปแล้ว ก็ต้องทำ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ทั้งนี้ แม้จะมีแนวโน้มผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้น แต่ก็ไต่ระดับอย่างช้าๆ ไม่มากเหมือนกลุ่มที่อาการน้อย อย่างไรก็ตาม ความสามารถทางการแพทย์ ต้องการช่วยทุกคนด้วยการใส่เครื่องช่วยหายใจโดยเร็ว เพื่อให้ได้รับออกซิเจนเข้าไปในร่างกาย สู้กับเชื้อโรคนี้

“ในกรุงเทพมหานคร ยอดใส่เครื่องช่วยหายใจมีเพิ่มมากขึ้น ความต้องการเตียงและเครื่องช่วยหายใจ ที่เรามีเก็บสะสมจากช่วงก่อนหน้านี้ ก็ได้เอามาใช้ในตอนนี้ แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอกับการติดเชื้อที่มีมากขึ้น ซึ่งได้รับรายงานเพิ่มขึ้นทุกวัน เราไม่อยากเห็นภาพนี้กับคนในครอบครัวของเรา ที่จะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ แม้จะมีข่าวดีมาบ้าง มีความสำเร็จทางการแพทย์ อย่างกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ใส่เครื่องช่วยหายใจมีโอกาสกลับมาเป็นปกติ แต่ ณ เวลานี้ไม่แน่ใจ เพราะมีสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา

ต้องติดตาม เพราะการเสียชีวิตก็ยังมีอยู่ให้เห็นทุกวัน และจะเพิ่มขึ้นตามอัตราส่วนของการติดเชื้อ หลักหลายพัน ต้องมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นแน่นอน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image