เสียงจาก‘อปท.’สู้โควิด วอนรบ.เร่งจัดสรรวัคซีน ประชาชนรอฉีดอีกอื้อ

เสียงจาก‘อปท.’สู้โควิด วอนรบ.เร่งจัดสรรวัคซีน ประชาชนรอฉีดอีกอื้อ

เสียงจาก‘อปท.’สู้โควิด
วอนรบ.เร่งจัดสรรวัคซีน
ประชาชนรอฉีดอีกอื้อ

หมายเหตุผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ข้อมูลถึงการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่ รวมถึงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนยังไม่ทั่วถึง จึงเรียกร้องรัฐบาลเร่งจัดหาและจัดสรรวัคซีนให้กับท้องถิ่นอย่างเพียงพอและโดยเร็ว


สมทรง พันธ์เจริญวรกุล
นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา

อบจ.พระนครศรีอยุธยา จัดสรรงบประมาณจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม 34,340 โดส น้อยกว่าที่เราจองไว้ 300,000 โดส และจัดสรรงบประมาณซื้อวัคซีนโมเดอร์นาจากสภากาชาดไทย 15,000 โดส กลุ่มเป้าหมายที่จะฉีดให้คือคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง คนท้อง ผู้สูงอายุ บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน จะกระจายไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ โดยให้โรงพยาบาลทุกอำเภอดำเนินการ

Advertisement

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในขณะนี้ โรงพยาบาลใน จ.พระนครศรีอยุธยา ทุกแห่งรองรับผู้ป่วยโควิดได้กว่า 1,500 เตียง แต่ไม่เพียงพอ อบจ.จัดสรรงบประมาณจัดให้เป็นห้องแยกโรคดูแลผู้ป่วย รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามนโยบายของ ศบค.ให้จัดตั้งศูนย์พักคอยรับผู้ป่วยเข้ามารักษาดูแล สังเกตอาการ โดย อบจ.จัดสรรงบประมาณไปช่วย อปท.หลายแห่ง

อยากฝากให้รัฐบาลช่วยเร่งรัดจัดสรรวัคซีนฉีดประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ ลดปัญหาเตียงเต็ม ลดจำนวนผู้ป่วย

จ.พระนครศรีอยุธยาเตรียมความพร้อมเรื่องการฉีดวัคซีนแล้ว ทั้งตู้แช่วัคซีน อบจ.จัดสรรงบประมาณไปทุกโรงพยาบาลของรัฐ พี่น้องประชาชนลงทะเบียนขอรับการฉีดวัคซีนแล้ว แต่วัคซีนที่ได้รับมาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะขณะนี้กลุ่มผู้ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ฉีดวัคซีนน้อยมาก ทำให้มีการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมและติดเชื้อคนในครอบครัว

Advertisement

ไพเจน มากสุวรรณ์
นายก อบจ.สงขลา

อบจ.สงขลาได้รับการจัดสรรวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 18,830 คน เปิดลงทะเบียนจองวัคซีนตั้งแต่วันที่ 27-31 กรกฎาคม ได้รับความสนใจจากชาวสงขลา เข้าจองอย่างล้นหลาม จนทำให้ระบบล่ม ถูกวิจารณ์อย่างมากว่า อบจ.สงขลาได้รับจัดสรรมาน้อย คิดเป็นร้อยละ 1 ของจำนวนประชาชนใน จ.สงขลา ประชาชนจำนวนมาก จึงไม่สามารถจองได้ น้อมรับคำติติงและต่อว่าจากประชาชน

ส่วนประชาชนที่จองได้ ทาง อบจ.สงขลาจะส่งรายชื่อ พร้อมโรงพยาบาลที่ผู้จองสิทธิเลือกเอาไว้ให้กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อให้จัดส่งวัคซีนไปยังโรงพยาบาลนั้นๆ และให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนฟรี เริ่มฉีดวันที่ 2 สิงหาคมนี้

ขณะนี้ประชาชนได้รับผลกระทบ รวมถึงมาตรการของรัฐที่ออกมาทำให้เดือดร้อน ขาดรายได้ โดยเฉพาะร้านอาหาร พ่อค้าแม่ค้า ได้รับผลกระทบหมด สิ่งที่ท้องถิ่นได้ดำเนินการ คือให้ ส.อบจ.แต่ละเขตพื้นที่สำรวจความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อนำถุงยังชีพไปแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชั่วคราว

นอกจากนี้ อบจ.สงขลา ใช้งบประมาณกว่า 70 ล้านบาท จัดหาข้าวสารแจกให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาล และ อบต.สำรวจผู้ที่เดือดร้อน และส่งมายัง อบจ.เบื้องต้นพบว่ามีกว่า 2.3 แสนครัวเรือนที่เดือดร้อน คาดว่าในเดือนสิงหาคมนี้ จะเริ่มแจกจ่ายให้ผู้ที่เดือดร้อนได้


อัศนี บูรณุปกรณ์
นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่

เดิมจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยขออนุมัติสภาเทศบาลใช้เงินสะสมจัดซื้อ แต่มีคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นผู้จัดซื้อเพียงวัคซีนโมเดอร์นาจากสภากาชาดไทย เพื่อฉีดให้ประชาชนในจังหวัดเท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้เทศบาลใช้เงินสะสมจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

หากกระทรวงมหาดไทย อนุญาตให้เทศบาลจัดซื้อวัคซีนได้ ต้องมีแผนว่าจัดซื้อที่ไหน อย่างไร ใช้งบเท่าไร รวมทั้งการจัดสรรฉีดวัคซีนให้ประชาชนหรือกลุ่มเสี่ยง ตามเงื่อนไขของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อีกทั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าฯเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด เพื่อจัดสรรวัคซีนภายในจังหวัด ให้เป็นเอกภาพและทิศทางเดียวกัน ไม่จัดซื้อซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น

ดังนั้น อยากให้มหาดไทยอนุญาตให้จัดซื้อวัคซีนดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนรวดเร็วและทั่วถึง พร้อมเติมเต็มในส่วนที่ประชาชนเข้าไม่ถึงวัคซีน ซึ่่งเตรียมงบประมาณจัดซื้อไว้แล้ว เพราะมีประชากรกว่า 120,000 คน ไม่รวมประชากรแฝง หากฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70% ต้องฉีดประชาชนกว่า 84,000 ราย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ส่วนผลกระทบจากมาตรการของรัฐที่มีต่อประชาชนนั้น การช่วยเหลือเยียวยายังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะการจัดสรรวัคซีนให้ประชาชน ซึ่งเชียงใหม่มีประชากร 1.6 ล้านคน ต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1.2 ล้านคน แต่มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรก และเข็มสอง รวม 300,000 คนเท่านั้น ยังเหลืออีก 900,000 คน หากรัฐบาลให้ อปท.ที่มีศักยภาพจัดซื้อวัคซีนผ่านองค์กร หรือจัดซื้อเองน่าได้วัคซีนที่มีคุณภาพ และฉีดให้กับประชาชนหรือกลุ่มเสี่ยงเร็วขึ้น

ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐบาล เพิ่มงบอุดหนุนเฉพาะกิจด้านสาธารณสุข ให้แก่ อปท.ทั่วประเทศ หรือพื้นที่ระบาดรุนแรง เชื่อสามารถป้องกันและควบคุมโรคอยู่ในวงจำกัด ไม่แพร่หรือกระจายเชื้อไปสู่วงกว้างมากขึ้น

ทำให้การฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจและท่องเที่ยวชุมชนเร็วขึ้นตามลำดับ


อุดม ไกรวัตนุสสรณ์
นายก อบจ.สมุทรสาคร

หลังเปิดจองฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มขั้นตอนต่อไป ทาง อบจ.สมุทรสาครได้พูดคุยกับผู้บริหารโรงพยาบาลของรัฐทั้ง 3 แห่ง คือ รพ.สมุทรสาคร รพ.กระทุ่มแบน และ รพ.บ้านแพ้วฯ ซึ่งเป็นจุดฉีดวัคซีน โดยเฉพาะ รพ.สมุทรสาคร ต้องดูแลพี่น้องประชาชนเขตอำเภอเมืองสมุทรสาครซึ่งมีจำนวนมาก กำหนดจุดฉีดไว้ 2 จุด คือ ที่เซ็นทรัลพลาซา มหาชัย และที่ศูนย์การค้าแลนด์มาร์ก มหาชัย

แต่ละจุดนั้นมีประชาชนเลือกจุดฉีดไว้คร่าวๆ ได้แก่ เซ็นทรัลพลาซา มหาชัย มีผู้ลงทะเบียนฉีดประมาณ 9,000 คน, ศูนย์การค้าแลนด์มาร์ก มหาชัย ประมาณ 10,000 คน, โรงพยาบาลกระทุ่มแบน ประมาณ 9,500 คน และที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ประมาณ 4,200 คน

ขณะนี้ได้แจ้งไปยังราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้วว่า ทางจังหวัดสมุทรสาครมีความพร้อมที่จะเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคมนี้ ซึ่งแต่ละหน่วยสามารถฉีดได้วันละ 1,000 คน จากนี้ก็ต้องรอให้ราชวิทยาลัยจัดสรรวัคซีนมาให้ตามที่เราเสนอแผนไป ส่วนเหตุที่ต้องเริ่มฉีดวันที่ 7 สิงหาคม เพราะจะได้ไม่ไปกระทบกับการฉีดวัคซีนหลักของแต่ละโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง ที่มีความพร้อมจะเริ่มต้นในวันดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่เราได้มายังไม่เพียงพอ จากรายงานของผู้แทนสาธารณสุขที่แจ้งต่อคณะกรรมการโรคติดต่อครั้งที่ผ่านมาทราบว่า มีกลุ่มประชากรที่ต้องฉีดวัคซีนกว่า 900,000 คน ตอนนี้ฉีดไปได้ประมาณ 30% ถ้าจะต้องให้ได้ถึง 70% ถือว่ายังขาดอีกมาก จึงมีความจำเป็นต้องหาวัคซีนมาฉีดให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด เนื่องจาก จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม รัฐบาลควรจัดหาวัคซีนที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อฉีดให้ได้มากและเร็วที่สุด

ส่วนกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ทาง อบจ.วางแนวทางร่วมกันกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐทั้ง 3 แห่ง ว่าต้องจัดหารถโมบายนำวัคซีนไปฉีดให้ผู้ป่วยติดเตียงตามบ้าน โดย อบจ.สนับสนุนยานพาหนะพาทีมแพทย์ พยาบาลไปฉีดให้ผู้ป่วยติดเตียงที่ลงทะเบียนไว้กับ “สาครรวมใจ”

อบจ.สมุทรสาคร ยื่นขอจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 200,000 โดส ได้รับมาแล้ว 66,000 โดส หวังว่าจะได้รับจัดสรรวัคซีนให้ จ.สมุทรสาคร ครบทั้งหมด


วีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม
รองนายก อบจ.นครราชสีมา

จ.นครราชสีมา ได้รับจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 58,000 โดส ให้ประชาชน 29,000 คน ยังไม่ครอบคลุมประชากรในจังหวัด ยังเหลืออีกกว่า 1.5 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย ต้องรอให้ส่วนกลางจัดสรรมาเพิ่มเติมที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กำหนดเกณฑ์การจัดสรรให้กับประชาชน 29,000 คน ให้กระจายให้ประชาชน 7 กลุ่ม คือ กลุ่มองค์กรการศึกษา 10,000 คน ได้แก่ ครู บุคลากรในสถานศึกษา อบจ. สพฐ. เอกชน และศูนย์เด็กเล็ก, กลุ่มการแพทย์และสาธารณสุข 10,000 คน, กลุ่มองค์กรการกุศล 5,000 คน ได้แก่ มูลนิธิ อาสาสมัคร กู้ภัยกู้ชีพ อปพร. ตำรวจบ้าน จิตอาสา กลุ่มสตรีแม่บ้าน และองค์การอื่นๆ ที่ไม่หวังผลกำไร, กลุ่มคนพิการ 750 คน ที่ขึ้นทะเบียนผู้พิการ, กลุ่มผู้ด้อยโอกาส, ชุมชนแออัด 750 คน, กลุ่มผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยติดเตียง 2,000 คน และพระ แม่ชี นักบวช ทุกศาสนา 500 โดส

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งมีหัวหน้าสาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอ นายอำเภอ และ ส.อบจ.จะร่วมกันคัดรายชื่อในแต่ละกลุ่มให้ตรงตามเป้าหมายที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กำหนด

เบื้องต้น สสจ.นครราชสีมา ประชุมทางไกลผ่านระบบวีดิทัศน์ไปทุกอำเภอ เพื่อชี้แจงให้สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) รับทราบขั้นตอนและวิธีการที่ราชวิทยาลัยฯกำหนดไว้ จากนั้นจะคัดรายชื่อเพื่อนำมาพิมพ์ข้อมูลเข้าระบบของ สสจ.นครราชสีมา แล้วส่งข้อมูลให้ราชวิทยาลัยฯ จากนั้นราชวิทยาลัยฯจึงจะจัดส่งวัคซีนมาให้

การรวบรวมรายชื่อผู้ได้รับการคัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม ต้องรอ สสจ.และ สสอ.ดำเนินการ เบื้องต้นทราบว่า จะเร่งดำเนินการให้เสร็จก่อนวันที่ 2 สิงหาคมนี้ เชื่อว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้ ประชาชน 29,000 คน ที่มีรายชื่อ จะได้รับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มอย่างแน่นอน

ส่วนการจัดสรรงบประมาณจัดหาวัคซีนมาเพิ่มนั้น ต้องยอมรับว่าตอนนี้ อบจ.มีงบประมาณจำกัด ที่สำคัญ คือ ขณะนี้แต่ละพื้นที่ตำบลและอำเภอ จัดสร้างสถานที่กักตัวในชุมชน และการกักตัวที่บ้าน รองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวเข้ามาดูแลในชุมชน/หมู่บ้าน ทราบว่าหลายชุมชนขาดแคลนงบประมาณ จึงขอให้ อบจ.ช่วยเหลือ ซึ่ง อบจ.ต้องเตรียมงบประมาณสำรองไว้ช่วยเหลือเรื่องนี้พอสมควร โดยจะพิจารณาช่วยเหลือตามความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละพื้นที่

ต้องขอวิงวอนไปถึงรัฐบาล เร่งจัดสรรวัคซีนมาให้ประชาชนใน จ.นครราชสีมา โดยเร็ว เพราะเวลานี้ทุกคนอยู่ในภาวะวิตกหวาดกลัวการติดเชื้อโควิดอย่างมาก ขณะที่มีหลายคนใช้ชีวิตด้วยความประมาท ไม่รับผิดชอบต่อสังคม การเร่งจัดหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนอย่างพอเพียงและรวดเร็ว จะทำให้ประชาชนมีกำลังใจต่อสู้ และไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image