หมอธีระ ชี้โควิดโลกทะลุ 459 ล้าน ไทยติดเชื้อมาก อ้างงานวิจัย ‘การ์ดเข้ม’ ยังสำคัญที่สุด

หมอธีระ ชี้โควิดโลกทะลุ 459 ล้าน ไทยติดเชื้อมาก อ้างงานวิจัย ‘การ์ดเข้ม’ ยังสำคัญที่สุด

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า

15 มีนาคม 2565 ทะลุ 459 ล้าน

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 973,604 คน ตายเพิ่ม 3,707 คน รวมแล้วติดไปรวม 459,222,287 คน เสียชีวิตรวม 6,070,220 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และรัสเซีย

Advertisement

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.31 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 77.79

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 51.77 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 40.27

Advertisement

สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน 66 คน สูงเป็นอันดับ 18 ของโลก

สถิติจำนวนผู้เสียชีวิตในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 17% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยทวีปเอเชียลดลงเฉลี่ย 8% แต่ของไทยเราน่าเป็นห่วง เพราะเพิ่มขึ้น 38% (จากข้อมูล Worldometer)

อัพเดตงานวิจัย
Vivaldi G และคณะ ได้ทำการศึกษาติดตามประชากรอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 14,713 คน ตั้งแต่มกราคมปีก่อนจนถึงกุมภาพันธ์ปีนี้ โดยประชากรที่ศึกษาทั้งหมดนั้นได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว และจำนวน 10,665 คน ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น

หากเปรียบเทียบกันเรื่องชนิดวัคซีนที่ฉีด พบว่ากลุ่มที่ได้วัคซีน ChAdOx1 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อในช่วงที่ติดตามผล (breakthrough infection) มากกว่ากลุ่มที่ได้วัคซีน BNT162b2 1.63 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 1.41-1.88 เท่า)

โดยหากเปรียบเทียบทั้งสองกลุ่มหลังได้รับเข็มกระตุ้น โดยกลุ่มที่ได้ ChAdOx1 มาก่อนและได้รับเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA-1273 เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้ BNT162b2 มาก่อนและรับเข็มกระตุ้นด้วย BNT162b2 ผลก็ออกมาคล้ายกันคือ 1.29 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 1.03-1.61 เท่า)

นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่สำคัญคือ ประชากรที่มีระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าจะมีโอกาสติดเชื้อมากกว่า และประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน คือการเข้าไปในสถานที่ปิด/พื้นที่ภายในอาคารบ่อยๆ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ (indoor public space)

ผลจากการวิจัยในสหราชอาณาจักรชิ้นนี้ ตอกย้ำถึงความสำคัญของการให้ความรู้ และกระตุ้นเตือนให้เกิดความตระหนักของประชาชนในสังคม ที่จะป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน

การใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้กับผู้อื่น ระมัดระวังการไปในสถานที่อับ ระบายอากาศไม่ดี

หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน ไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน การไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นมีความจำเป็น

ด้วยสถานการณ์ของไทยที่ยังมีการติดเชื้อมาก กระจายทั่ว หัวใจสำคัญที่สุดตอนนี้คือเรื่องพฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้นครับ


อ้างอิง
Vivaldi G et al. Risk factors for SARS-CoV-2 infection after primary vaccination with ChAdOx1 nCoV-19 or BNT1262b2 and after booster vaccination with BNT1262b2 or mRNA-1273: a population-based cohort study (COVIDENCE UK). medRxiv. 13 March 2022.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image