มติ ศบค.ลดพื้นที่ควบคุมเหลือ 20 จว. เพิ่มพื้นที่สีฟ้าเป็น 10 จว. ย้ำยังไม่ให้เปิดผับ-บาร์

มติ ศบค.ปรับระดับ ลดพื้นที่ควบคุม เหลือ 20 จว. เพิ่มเพชรบุรี เชียงใหม่ สีฟ้านำร่องท่องเที่ยว ยังไม่เปิดผับ-บาร์-สถานบันเทิง

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธานว่า ที่ประชุมหารือการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ใน 8 ประเด็น โดยนายกฯห่วงใยประชาชนโดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ที่เป็นฤดูกาลผลไม้ออกสู่ตลาดโลก ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้บูรณาการเพื่อให้การส่งออกผลไม่ของไทยไปถึงผู้ซื้อได้โดยไม่ทำให้สถานการณ์ต่างๆ มาเป็นผลกระทบ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับประเด็นแรกที่มีการหารือ ปลัด สธ.ได้นำเสนอภาพรวมการติดเชื้อทั้งประเทศ โดยให้เทียบเคียงกับสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ของทั่วโลก ซึ่งตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อรวม 466,472,159 ราย อัตราการเสียชีวิต 6,087,899 ราย คิดเป็น 1.13% ส่วนประเทศไทยยังอยู่ในอันดับการควบคุมคุมโรคที่ค่อนข้างดี ขณะที่ประเทศแถบเอเชีย อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ ติดดเชื้อกว่า 407,000 คนต่อวัน เสียชีวิตประมาณ 301 ราย ญี่ปุ่นอยู่ที่กว่า 55,000 คน เสียชีวิต 164 ราย ส่วนประเทศทางยุโรปลดลงกว่าเดิม แต่ตัวเลขก็ยังสูงกว่าประเทศไทยพอสมควร

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า อัตราการเสียชีวิตเป็นตัวเลขที่สำคัญ เนื่องจาก สธ.เสนอก้าวเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น โดยอัตราการเสียชีวิตของไทยยังอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่น อาทิ สหรัฐอเมริกา เสียชีวิตไปแล้ว 900,000 คน มากว่าประเทศไทยถึง 10 เท่า ซึ่งต้องขอบคุณผู้ประกอบการที่ช่วยดูแลชีวิตและความเจ็บป่วยได้เป็นอย่างดี ส่วนสถานการณ์ติดเชื้อรายใหม่ รวม 27,071 ราย เสียชีวิต 80 คน คิดเป็น 0.22% และมีการบริหารจัดการให้ผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาล 68,776 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 161,827 ราย อาการหนักอยู่ที่ 1,391 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 511 ราย อัตราการครองเตียงยังอยู่ที่ 27% มีเตียงใช้ไป 1 ใน 4 ของเตียงที่มีอยู่ ตรงนี้เป็นปัจจัยสำคัญ ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพ เพื่อให้เตียงใช้สำหรับผู้ป่วยหนักจริงๆ

“สำหรับ 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุด ดังนี้ กรุงเทพฯ 3,325 ราย นครศรีธรรมราช 1,717 ราย ชลบุรี 1,256 ราย สมุทรปราการ 976 ราย สมุทรสาคร 942 ราย พระนครศรีอยุธยา 677 ราย ฉะเชิงเทรา 656 ราย ปทุมธานี 653 ราย นครปฐม 642 รายและระยอง 628 ราย

Advertisement

“ผลการดำเนินงานเจอ แจก จบ ศบค.ให้ สธ.ไปปรับใช้ดูแลผู้ป่วย พบว่ามีการกระจายไปใช้ทั่วประเทศตามเขตสุขภาพ โดยเฉพาะจังหวัดอยู่รอบกรุงเทพฯและปริมณฑลที่มีอัตราการติดเชื้อสูง มีการดำเนินการถึง 901 แห่ง อาการไม่มากให้ยาตามอาการ มีมากกว่า 52% มีใช้ฟ้าทะลายโจรและฟาวิพิราเวียร์ไม่ถึง 1 ใน 4 เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าระบบสาธารณสุขของเรายังอยู่ได้” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบมาตรการยูเซ็ปพลัส ให้ผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง เข้าถึงการบริการ รักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้โดยไม่เสียโอกาส พบว่า ดำเนินการไปได้ด้วยดี ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลไม่ต่างจากเดิม แต่มีระบบการดูแลจากหลายระบบให้สอดคล้องกับความต้องการ ขณะที่สถานพยาบาลยังสามารถรองรับผู้ป่วยจากโรคอื่นๆ และสำคัญได้ เพราะเรายังมีผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ยังต้องใช้เตียง

Advertisement

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า  ที่ประชุมเห็นชอบปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ และการปรับมาตรการป้องกันโรคแบบบูรณาการ โดย พื้นที่สีส้ม หรือพื้นที่ควบคุม ลดเหลือ 20 จังหวัด พื้นที่สีเหลือง หรือพื้นที่เฝ้าระวังสูง เพิ่มเป็น 47 จังหวัด และ พื้นที่สีฟ้า นำร่องการท่องเที่ยว ทั้งจังหวัด เพิ่มเป็น 10 จังหวัด โดยจังหวัดที่เพิ่มคือ เพชรบุรี และ เชียงใหม่ ทั้งนี้ ทุกพื้นที่ยังให้ปิดสถานบันเทิง และสถานบริการอื่นๆ ในลักษณะที่คล้ายกันอยู่เช่นเดิม แม้จะมีข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการ แต่ที่ประชุมยังไม่เห็นชอบ โดยขอให้ปรับพื้นที่การดำเนินการเป็นร้านอาหารตามมาตรการ Covid Free Setting

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ส่วนการนำมาตรการบริหารจัดการโควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น สธ.ได้นำเสนอแผนนี้อย่างเป็นทางการต่อที่ประชุม สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในช่วงที่เราต้องต่อสู้ ถ้าเดือนมีนาคมถึงต้นเมษายนควบคุมได้ดี ระยะที่สองคือเมษายน-พฤษภาคม จะเป็นระยะคงตัว และจะลดลงในปลายพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน และ 1 กรกฎาคม น่าจะเห็นตัวเลขที่ลดลงไปได้ ทั้งหมดนี้เป็นแผนที่ชี้นำให้ทั้งประเทศได้ช่วยกัน กดให้ตัวเลขติดเชื้อลดลงให้ได้ ซึ่งนายกฯเห็นชอบ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำไปด้วย แต่ต้องดูสถานการณ์ 1 กรกฎาคม หากมีความเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ ก็ต้องต้องเปลี่ยนแผนด้วย

“จะมีมาตรการ 4 ด้าน ด้านสาธารณสุข คือเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากว่า 60% ปรับระบบการเฝ้าระวัง เน้นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนและผู้ป่วยปอดอักเสบ ปรับแนวทางการแยกกักตัวผู้ป่วย และกักกันผู้สัมผัส ด้านการแพทย์ ปรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยนอก ดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรง และมีอาการรุนแรง รวมทั้งลองโควิด ด้านกฎหมายและสังคม บริหารจัดการด้วยกฎหมายของทุกหน่วยงานให้สอดคล้อง กับการปรับตัวเข้าสู่โรคประจำถิ่น ผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ลดการจำกัดการเดินทางและการรวมตัวของคนหมู่มาก ทุกภาคส่วนต้องส่งเสริมมาตรการ UP และ Covid Free Setting

“และ ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกอย่างครอบคลุม เป้าหมายที่จะต้องได้คือการเสียชีวิตไม่เกิน 0.1% ถึงจะเป็นโรคประจำถิ่นได้ ความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะต้องได้มากกว่า 60% ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญอัตราการฉีดยังต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงผู้สูงอายุ ยังอยู่แค่ 20-30% ดังนั้น ต้องขอความร่วมมือ รวมถึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ เพราะบางคนเข้าใจว่าประกาศเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ผ่อนคลายทันที อาจทำให้ไม่ถึงจุดหมาย เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าการเป็นโรคประจำถิ่นยังไม่ใช่ในขณะนี้” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image