ศบค.เห็นชอบ ปรับแผนสู่โรคประจำถิ่น 1 ก.ค. ต้องเสียชีวิตไม่เกิน 0.1%

ศบค.เห็นชอบ ปรับแผนสู่โรคประจำถิ่น เสียชีวิตไม่เกิน 0.1%-ฉีดเข็มกระตุ้นมากกว่า 60%

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยภายหลังการประชุมศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผน/มาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น มีรายละเอียดดังนี้ ระยะ Comdatting (12 มีนาคม-ต้นเมษายน) ระยะ Plateau (เมษายน-พฤษภาคม) ระยะ Declining (ปลายพฤษภาคม-มิถุนายน) และระยะ Post Pandemic (1 กรกฎาคมเป็นต้นไป) โดยที่ประชุมมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปบริหารจัดการต่อไป

“สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในช่วงที่เราต้องต่อสู้ ถ้าเดือนมีนาคม-ถึงต้นเมษายนควบคุมได้ดี ระยะที่สอง คือ เมษายน-พฤษภาคม จะเป็นระยะคงตัว และจะลดลงในปลายพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน และ 1 กรกฎาคม น่าจะเห็นตัวเลขที่ลดลงไปได้ ทั้งหมดนี้เป็นแผนที่ชี้นำให้ทั้งประเทศได้ช่วยกัน กดให้ตัวเลขติดเชื้อลดลงให้ได้ ซึ่งนายกฯเห็นชอบเพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำไปด้วย แต่ต้องดูสถานการณ์ 1 กรกฎาคม หากมีความเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ ก็ต้องเปลี่ยนแผนด้วย”

“โดยจะมีมาตรการ 4 ด้าน คือ ด้านสาธารณสุข คือเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากกว่า 60% ปรับระบบการเฝ้าระวัง เน้นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนและผู้ป่วยปอดอักเสบ ปรับแนวทางการแยกกักตัวผู้ป่วย และกักกันผู้สัมผัส ด้านการแพทย์ ปรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยนอก ดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรง และมีอาการรุนแรง รวมทั้ง ลองโควิด ด้านกฎหมายและสังคม บริหารจัดการด้วยกฎหมายของทุกหน่วยงานให้สอดคล้อง กับการปรับตัวเข้าสู่โรคประจำถิ่น ผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ลดการจำกัดการเดินทางและการรวมตัวของคนหมู่มาก ทุกภาคส่วนต้องส่งเสริมมาตรการ UP และ Covid Free Setting

และด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกอย่างครอบคลุม เป้าหมายที่จะต้องได้คือ การเสียชีวิต ไม่เกิน 0.1% ถึงจะเป็นโรคประจำถิ่นได้ ความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะต้องได้มากกว่า 60% ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญอัตราการฉีดยังต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงผู้สูงอายุ ยังอยู่แค่ 20-30% ดังนั้นต้องขอความร่วมมือ รวมถึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ เพราะบางคนเข้าใจว่า ประกาศเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ผ่อนคลายทันที อาจทำให้ไม่ถึงจุดหมาย เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่าการเป็นโรคประจำถิ่นยังไม่ใช่ในขณะนี้” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

Advertisement

ส่วนแผนการให้บริการวัคซีน-19 พบว่าในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีประมาณ 12,704,543 ล้านคน รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 10,587,376 คิดเป็นร้อยละ 83.3 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 10,0213,912 โดส คิดเป็นร้อยละ 78.9 และเข็มที่ 3 จำนวน 4,125,226 โดส คิดเป็นร้อยละ 32.5 จะเห็นว่ามีผู้สูงอายุหลายล้านที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี มี 5,150,082 รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 1,554,763 โดส คิดเป็นร้อยละ 30.2 เข็มที่ 2 จำนวน 24,125 โดส คิดเป็นร้อยละ 0.5 ต่อไปจะเร่งเพิ่มการฉีดวัคซีนให้กับเด็ก และผู้สูงอายุต่อไป ขอให้ผู้ปกครองและผู้สูงอายุทำความเข้าใจและเปลี่ยนใจมารับวัคซีนเพื่อลดป่วย ลดตาย หลายประเทศที่เปิดประเทศได้ เพราะเหตุผลว่าประชาชนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นจำนวนมาก เหตุผลนี้จึงทำให้สิ่งต่างๆ ที่ ศบค.เริ่มผ่อนคลายขึ้นอยู่กับปริมาณการฉีดวัคซีนด้วย

“ที่ประชุมรับทราบอัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ จากข้อมูลวันที่ 1 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ พบผู้เสียชีวิต 928 ราย เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่ามีผู้สูงอายุไม่ได้รับวัคซีน 2.17 ล้านคน เสียชีวิต 557 อัตราเสียชีวิต (ต่อล้านคน) 257 ส่วนผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 0.58 ล้านคน เสียชีวิต 77 คน อัตราการเสียชีวิต (ต่อล้านคน) 133 ได้รับวัคซีนเข็ม 2 จำนวน 6.25 ล้านคน จำนวนเสียชีวิต 271 คน อัตราการเสียชีวิต (ต่อล้านคน) 43 จะพบว่าวัคซีนป้องกันการเสียชีวิตลดลง 6 เท่า ได้รับวัคซีนเข็ม 3 จำนวน 3.70 เสียชีวิต 23 คน อัตราเสียชีวิต (ต่อล้านคน) 6 พบว่าวัคซีนป้องกันการเสียชีวิตลดลง 41 เท่า จึงขอเรียนร้องให้ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข้ามารับวัคซีนโดยด่วน ขอให้ลูกหลานนำข้อมูลนี้ไปพูดคุยกับผู้สูงอายุให้มารับวัคซีน ต้องเร่งตัดสินใจฉีดตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ทันช่วงหยุดยาวสงกรานต์ที่ลูกหลานจะกลับบ้าน และยืนยันว่าเรามีวัคซีนเพียงพอ โดยที่ประชุมตั้งเป้าว่าจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้ร้อยละ 70 ก่อนเทศกาลสงกรานต์” นพ.ทวีศิลป์

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image