ศูนย์จีโนมฯ ชี้โควิดจะเข้า ‘โรคประจำถิ่น’ ต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70% ประชากรทั่วโลก

ศูนย์จีโนมฯ ย้ำข้อแนะนำฮู โควิดจะเข้าโรคประจำถิ่น ต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70% ในทุกกลุ่มประชากรและทุก ปท.สกัดกลายพันธุ์

เมื่อวันที่ 15 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงาน เพจเฟซบุ๊กศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี โพสต์ข้อความระบุว่า จำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อยร้อยละ 70 ในทุกกลุ่มประชากรและในทุกประเทศ เพื่อยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้กลายพันธุ์ โดยยกตัวอย่างการเกิดสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่ามีต้นกำเนิดจากประเทศที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันน้อย และมีความเป็นไปได้สูงว่า BA.5 จะเข้าไปแทนที่เชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้

 

ทั้งนี้ ข้อความระบุว่า “จำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70% ในทุกกลุ่มประชากรและในทุกประเทศ เพื่อยับยั้งไวรัสมิให้กลายพันธุ์

Advertisement

WHO เห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลกขณะนี้ สามารถปรับลดระดับให้กลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ (อยู่ภายใต้การควบคุมของสาธารณสุขของแต่ละประเทศ) ภายในปี 2565 นี้ หากมีความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงวัคซีนและยาต้านไวรัส และที่สำคัญต้องมีการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70% ในทุกกลุ่มประชากรและในทุกประเทศ เพื่อยับยั้งไวรัสมิให้กลายพันธุ์

โควิด-19 เป็นปัญหาของโลก ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ไวรัสโคโรนา 2019 จะหลบไปกลายพันธุ์ในประเทศที่ประชาชนมีการฉีดวัคซีนป้องกันน้อย และใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ในการแพร่ระบาดไปยังประเทศอื่นๆ แม้ว่าประชากรของประเทศนั้นจะได้รับการฉีดวัคซีน >70% ในทุกกลุ่มประชากร เพราะวัคซีนที่เราใช้ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ได้ลดลงทุกที เช่น วัคซีน mRNA ที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ได้เพียง 50%

จะสังเกตได้ว่าไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์ล่าสุดคือ โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีต้นกำเนิดมาจากประเทศที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนน้อย เช่น Geuteng (BA.4) และ KwaZulu-Natal (BA.5) ในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น”ถึง 90 และ 100 ตำแหน่งตามลำดับ ซึ่ง WHO คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงว่า BA.5 อาจจะระบาดเข้ามาแทนที่โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2”

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image