ศูนย์จีโนมฯ แนะไทยจับตาอีก 1 เดือน รู้โอมิครอนระบาดใหญ่หรือไม่

แฟ้มภาพ

ศูนย์จีโนมฯ แนะไทยจับตาอีก 1 เดือน รู้โอมิครอนระบาดใหญ่หรือไม่

วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก และสถานการณ์ในประเทศไทย ที่ล่าสุดกำลังเฝ้าระวังเชื้อโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ว่า “อายุผู้ติดเชื้อ” และ “ประเภทของสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนที่ระบาดระลอกก่อน” เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการระบาดใหญ่ของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.4” และ “BA.5” ที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้

เป็นที่ชัดเจนว่าการติดเชื้อเพิ่มขึ้นของโอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถของ BA.4 และ BA.5 ในการแพร่เชื้อไปยังผู้ที่เคยติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกันต่อโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 และ BA.2 ที่ระบาดมาก่อนหน้า โดย BA.4 และ BA.5 พบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ในเดือนเมษายน 2565 หลังจากมีการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (B.1.1.529) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ตามมาด้วยการระบาดของสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 (ภาพ1)

เดือนมิถุนายน 2565 มีการระบาดใหญ่ของ BA.4 และ BA.5 ในยุโรป จากนั้นแพร่กระจายไปทั่วโลก (ภาพ 1,3) เนื่องจาก BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ประมาณ 85 ตำแหน่งทำให้มีความสามารถในการแพร่ติดต่อได้เร็วกว่าโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอื่น (ภาพ2) ซึ่งส่วนใหญ่เป็น BA.2 ซึ่งมีการระบาดมาตั้งแต่ต้นปี 2565 แต่จนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตน้อยกว่าในช่วงการระบาดของ BA.2 เมื่อช่วงต้นปีมาก ซึ่งเป็นสัญญาณว่าภูมิคุ้มกันของประชากรที่เพิ่มขึ้นกำลังบรรเทาผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโอมิครอน สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5

Advertisement

ความรวดเร็วและรุนแรงในการแพร่ระบาด BA.4 และ BA.5 จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ บางประเทศพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เพียง 5% ในขณะที่บางประเทศสูงถึง 30% ทุกอย่างขึ้นอยู่กับโปรไฟล์ของภูมิคุ้มกันต่อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 หรือ BA.2 ที่เคยระบาดมาก่อน รวมทั้งอายุเฉลี่ยของประชาชนในประเทศนั้นๆ

เนื่องจาก BA.4 และ BA.5 มีรหัสพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับ BA.2 มากกว่า BA.1 ภูมิคุ้มกันที่ผู้ติดเชื้อได้รับจากการติดเชื้อ BA.2 ตามธรรมชาติจะปกป้องการติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ได้ดีกว่าการติดเชื้อจาก BA.1 (ภาพ3)

Advertisement

BA.4 และ BA.5 มีตำแหน่งการกลายพันธุ์บนหนามแหลมต่างจาก BA.1 และ BA.2 2 ตำแหน่งคือ L452R และ F486V ทำให้มีการแพร่ระบาดและหลบเลี่ยง ภูมิคุ้มกันได้รวดเร็วและดีขึ้น (ภาพ4)

การระบาดของ BA.4 และ BA.5 ในยุโรปจนถึงปัจจุบันโดยภาพรวมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตน้อยกว่าการระบาดใหญ่ของของ BA.1 และ BA.2 เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา (ภาพ5)

การระบาดของ BA.4 และ BA.5 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยในภาพรวมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตเริ่มขยับไปใกล้เคียงกับในยุโรป (ภาพ6)

การระบาดของ BA.4 และ BA.5 ในยุโรป พบว่าหากประเทศใดมีการระบาดใหญ่ของ BA.2 มาก่อนจะพบว่าประชากรจะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติป้องกันการระบาดของ BA.4 และ BA.5 ได้ดี มีผู้ติดเชื้อต้องเข้ารับการรักษาตัวใน รพ. ไม่มาก เมื่อเทียบกับประเทศที่มีการระบาดของโอไมครอนมาก่อนหน้าเป็น BA.1 (ภาพ3)

ที่น่าสนใจคือการติดเชื้อแพร่ระบาดของ BA.4 และ BA.5 ในประเทศแอฟริกาใต้และประเทศโปรตุเกส

ประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศแรกที่มีการระบาดของ BA.4 และ BA.5 แต่พบผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. 35% และมีผู้เสียชีวิตน้อย ปัจจุบันการระบาดของ BA.4 และ BA.5 ได้ลดลงมากแล้ว (ภาพ3) แม้ประเทศแอฟริกาใต้จะมีการระบาดใหญ่ของ BA.1 มาก่อนหน้าไม่ใช่ BA.2 รวมทั้งประชากรส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนกันน้อยเพียง 37% แต่จุดสำคัญแตกต่างจากประเทศอื่นคือประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้สูงวัย ประชากรของแอฟริกาใต้มีอายุเฉลี่ยเพียง 64 ปี ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ภาพ7)

ในขณะที่โปรตุเกสซึ่งพบการระบาดของ BA.4 และ BA.5 สูงที่สุดในโลก มีการระบาดของ BA.1 มาก่อนเช่นเดียวกับประเทศแอฟริการใต้ ประชากรถึงร้อยละ 96 ได้รับการฉีดวัคซีน (ภาพ8) แต่ก็ไม่อาจป้องกันการติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ได้เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย มีอายุเฉลี่ย 82 ปี (ภาพ7) โดยมีผู้ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ที่ต้องเข้า รพ. ถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว (ภาพ3) จำนวนหนึ่งเสียชีวิต

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯร่วมมือกับกลุ่ม “นักวิจัยนานาชาติ” ที่ร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมมนุษย์ของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันประกอบด้วยโครโมโซม 23คู่ จำนวน3,000 ล้านเบส โดยมียีนทั้งหมดจำนวน 25,000 ยีนที่สร้างโปรตีน พบว่ากว่า 20 % ของผู้ที่เป็นโรคโควิด-19 ที่มีอาการปอดบวมรุนแรง เพราะในร่างกายมีการสร้าง “แอนติบอดีต่อร่างกายตนเอง (Auto-antibodies)” เข้าทำลาย “อินเตอร์เฟียรอน” ซึ่งเป็นโปรตีนต่อต้านไวรัสที่ร่างกายสร้างขึ้นมา และปริมาณของ Auto-antibodies จะถูกสร้างเพิ่มขึ้นตามอายุและจะพบมากในผู้มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนอีกประมาณ 3.5 เปอร์เซ็นต์พบว่าเป็นผู้ติดเชื้อที่มียีนกลายพันธุ์มาแต่กำเนิด ทำให้ร่างกายสร้างอินเตอร์เฟียรอนได้เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนปรกติ หรือไม่สร้างเลย (inborn errors of immunity) ซึ่งในทั้งสองกรณี (Auto-antibodies และ inborn errors of immunity) ส่งผลให้ร่างกายผู้ติดเชื้อผลิตอินเตอร์เฟียรอนลดลง ทำให้ไวรัสสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดโดยไม่มีอะไรมายับยั้งก่อให้เกิดอาการติดเชื้อที่รุนแรง (ภาพ9)

ข้อมูลจากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” บ่งชี้ว่าประเทศไทยขณะนี้มีไวรัส BA.2, BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1 ระหว่างวันที่ 7-24 มิถุนายน 2565 ร้อยละ 28.4, 13.6, 22.2, และ 9.9 ตามลำดับ (ภาพ 10-11) ส่วนจะมีการระบาดต่อเนื่องจนเกิดเป็นการระบาดใหม่หรือไม่คงต้องรอดูจากนี้ไปอีก 1 เดือน

https://www.nature.com/articles/d41586-022-01730-y?WT.ec_id=NATURE-20220630&sap-outbound-id=CE9260FD1387D7CE55B1F6B30048AEB48DB7D33A

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image