กทม.ตั้งรับโควิดระบาดเพิ่ม ชัชชาติ สั่งเปิด ‘ศูนย์กักตัว’ ชุมชนแออัด ทวิดา ยันเตียง-สต๊อกยาเพียงพอ วอนฉีดวัคซีนบูสเตอร์

กทม.ตั้งรับโควิดระบาดเพิ่ม เตรียมตั้งศูนย์กักตัวในชุมชน-ยันเตียง/สต๊อกยาเพียงพอ วอนฉีดวัคซีนบูสเตอร์ลดป่วยหนัก

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 8 กรกฎาคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมด้วยผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. แถลงข่าวการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ

ผศ.ดร.ทวิดากล่าวว่า จำนวนนักเรียนสังกัด กทม. ที่ติดเชื้อยังมีจำนวนไม่มาก ซึ่งยังจัดหารเรียนการสอนในโรงเรียนได้ อีกทั้งยังมีมาตรการเตรียมพร้อมให้ผู้ปกครองรับเด็กกลับบ้านได้ พร้อมการจัดทำแพลตฟอร์มการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ มาตรการงดการเรียนการสอน รวมถึงการสลับวันเรียน เมื่อพบคลัสเตอร์กลุ่มเล็ก ทั้งนี้ได้สั่งห้ามทำกิจกรรมรวมกลุ่มขนาดใหญ่ แต่การทำกิจกรรมกลุ่มเล็กในที่โล่งยังสามารถทำได้ ทั้งนี้ผู้บริหารสถานศึกษามีอำนาจสั่งปิดสถานศึกษาชั่วคราวได้ 3 วัน เพื่อทำความสะอาด ส่วน

ผศ.ดร.ทวิดากล่าวว่า ยอดผู้ติดเชื้อประมาณ 2,000 คนต่อวัน โดยส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้ออยู่ในกลุ่ม608 อย่างไรก็ตาม แม้ในอีก 2-3 วันข้างหน้า จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่จำนวนยาและเตียงรักษายังรับมือสถานการณ์ได้ โดยจำนวนเตียงสามารถรองรับได้ 40-50% แต่เตียงผู้ป่วยโรงพยาบาลกลางเมืองอย่าง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลกลาง มีอัตราการครองเตียงในระดับสูง ทำให้การส่งตัวผู้ป่วยหนักรายใหม่ อาจจะต้องไปโรงพยาบาลรอบนอกที่ไกลจากที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ พบเจอคลัสเตอร์กลุ่มเล็ก ในสถานที่พักคนชรา จึงใช้วิธี Bubble and Seal ให้คนของสถานที่พักเป็นผู้ดูแล ส่วนปริมาณสต๊อกยามีเพียงพอ มีปริมาณล่วงหน้าได้สูงสุด 3 วัน

Advertisement

ผศ.ดร.ทวิดากล่าวว่า สายด่วน 1669 ศูนย์เอราวัณ กทม. ยังมีรถไปรับเพียงพอ แต่ถ้าไม่ก็มีอาสาสมัคร ภาคเอกชนต่างๆ เข้ามาร่วมช่วยด้วย ส่วนตอนนี้การรอสายใช้เวลาประมาณ 10 วินาที อย่างช้าที่สุดประมาณ 2-3 นาที โดยในระยะอันใกล้จะเพิ่มผู้รับสาย 30 กว่าคน

ผศ.ดร.ทวิดากล่าวว่า ส่วนผู้ป่วยควรไปรับยาที่โรงพยาบาลตามสิทธิที่มีอยู่ก่อน เพื่อความสะดวก แต่ถ้าไม่สะดวกไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิ ก็สามารถรับยาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ของกทม.ได้

“อยากให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายมาแล้ว 4 เดือน มาฉีดควัคซีนบูสเตอร์เพิ่ม ต้องมองว่าเราสามารถนำเชื้อไปติดคนที่บ้านได้ อย่างน้อยลดอาการรุนแรงของโรคได้” ผศ.ดร.ทวิดากล่าว

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวว่า กลุ่มที่เป็นห่วง คือกลุ่ม 608 ที่เป็นกลุ่มผู้มีอายุเกิน 60 ปี กลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง เพราะมีกลุ่มคนแข็งแรง เช่น เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน นำเชื้อไปแพร่ต่อภายในบ้าน ทำให้เตียงในโรงพยาบาลเกิดความตึงตัว จึงได้สั่งการเปิดศูนย์กักตัวในชุมชน (Community Isolation) ในชุมชนแออัดตามเขตต่างๆ เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดภายในที่อยู่อาศัย

นายชัชชาติกล่าวว่า ต่อมาเรื่องยารักษา ได้ประสานกับกระทรวงสาธารสุข (สธ.) ให้ไว้เพียงพอ ทั้งนี้ยาตัวใหม่ “โมนูพิราเวียร์” มีผลการรักษาดี แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถ้ามีการขึ้นทะเบียน อย.แล้ว กทม. สามารถจัดซื้อเองได้ ปัจจุบันยังต้องขอยาตัวนี้จาก สธ.

นายชัชชาติกล่าวว่า ต่อมาอยากให้กลุ่ม 608 ฉีดวัคซีนบูสเตอร์ เพราะสามารถลดอาการรุนแรงของโรคได้ พร้อมต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา ทั้งนี้ กลุ่ม 608 ในกทม. ฉีดวัคซีนบูสเตอร์ไปแล้วมากกว่า 50 %

“การจัดกิจกรรมหนังกลางแปลง ดนตรีในสวน ยังคงจัดอยู่ แต่ขอให้สวมใส่หน้ากาก เพราะอยู่ใกล้กันไม่ถึง 1 เมตร รวมไปถึงแนะนำการใส่หน้ากากในที่ชุมนุม ในขนส่งสาธารณะ ต้องใส่หน้ากากตลอด เพื่อลดความเสี่ยง” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า โรงเรียนในสังกัดกทม. ส่วนใหญ่เป็นเด็กอนุบาล เด็กประถม มีผู้คิดเชื้อประมาณ 1% แต่ที่ระบาดเยอะอยู่ในเด็กมัธยม เพราะมีการทำกิจกรรมหลังเลิกเรียน ทั้งนี้จากบทเรียนครั้งที่แล้ว ครั้งนี้น่าจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางกทม.จะมีการออกกฎบังคับใส่หน้ากากใหม่หรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า ต้องล้อตาม ศบค.ชุดใหญ่ ทางกทม.เพียงแค่แนะนำ ให้ใส่หน้ากาก ตามที่แออัด ตามที่การจัดกิจกรรม

“ผมเองต้องเป็นตัวอย่างด้วย ต่อไปเวลาวิ่งต้องใส่เป็นตัวอย่างให้กับประชาชน สธ.กับกทม. ทำงานด้วยกันอย่างดี” นายชัชชาติกล่าว

“ตอนนี้มีวัคซีนเหลือเฟือ ขอให้ไปฉีด ผมเชื่อว่าถ้าไม่คิดเพื่อตัวเอง ก็คิดเพื่อคนที่คุณรัก คุณจะได้ไม่ไปเป็นภาระให้เขา ต้องช่วยกันดูแลตนเองด้วยส่วนหนึ่ง ที่เหลือกทม.จะดูแลให้” นายชัชชาติกล่าว

ส่วนเรื่องการประชุมหารือเรื่องแนวนโยบายสัตว์จร นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องหมาแมวเป็นเรื่องที่มีคนร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue คิดเป็น 1 ใน 3 สุดท้ายแล้วทางกทม.ทำคนเดียวคงไม่สำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆ จะทำให้ปัญหาบรรเทาลงได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image