เอาให้ชัด! ‘คลัง’ แจงเงิน5พัน ไม่ได้ทุกคน ต้องเข้า3เกณฑ์ ‘ประกันสังคม’ ยันจ่าย7.5พันลูกจ้าง

“ประกันสังคม” ยันจ่าย 7,500 บาทลูกจ้างได้รับผลกระทบโควิด-19 ยุติธรรมและแฟร์ ด้าน “คลัง” แจงแจก 5,000 แรงงานนอกระบบ ไม่ได้ทุกคน! ต้องเข้า 3 เกณฑ์หลัก

รายการโหนกระแสวันที่ 26 มี.ค. “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ยังเกาะติดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 วันนี้ทำเพื่อลูกจ้างทั้งในระบบและนอกระบบที่ได้รับผลกระทบ โดยเปิดใจสัมภาษณ์ “รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ “นายลวรณ แสงสนิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

กระทรวงแรงงานดูแลแรงงานที่อยู่ในระบบ มีประกันสังคม ทีนี้มันครอบคลุมอะไร ช่วยเหลืออะไรคนทำงานที่ตอนนี้อยู่ในภาวะต้องหยุดงาน?

รศ.ดร.จักษ์ : “ขออธิบายให้ชัดก่อน คำว่าแรงงานนอกระบบและในระบบ วิธีการแบ่งชัดๆ ง่ายๆ เลยคือว่าถ้าแรงงานนั้นมีนายจ้าง สองได้รับเงินเป็นประจำจากนายจ้างนั้นมั้ย สามมีกฎหมายบังคับให้ส่งประกันสังคม ทั้งนายจ้างและลูกจ้างหรือไม่ ถ้าครบ 3 อย่างนี้เราถือว่าอยู่ในระบบ ซึ่งนั่นหมายถึงผู้ประกันตนในมาตรา 33 ก็คือเป็นลูกจ้างที่อยู่ในบริษัท ห้างร้าน ที่เขาต้องส่งเงินประกันสังคมในส่วนของเขา 5 เปอร์เซ็นต์ นายจ้าง 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนนอกเหนือจากนี้เราถือว่าเป็นแรงงานนอกระบบ”

Advertisement

ประกันสังคม ตอนนี้ช่วยอะไรได้บ้าง รักษาโควิดได้ฟรีมั้ย หรือป่วยไข้ขึ้นมา หรือคนหยุดงาน ประกันสังคมช่วยมั้ย?

รศ.ดร.จักษ์ : “เอาเรื่องนี้ก่อน รัฐบาลประกาศหยุดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล กรณีมีการระบาดโควิด ประกาศหยุดถึง 12 เม.ย. ซึ่งจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในจังหวัดอื่นหรือไม่ยังไม่รู้ กรณีนี้นายจ้างไม่ได้มีความผิดอะไร เขาไม่ได้อยากจะหยุด แต่รัฐให้เขาหยุด ฉะนั้นนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าแรงให้ลูกจ้าง ขณะที่ลูกจ้างไม่ได้ไปทำงาน จะไปรับเงินจากนายจ้างไม่ได้ แต่ลูกจ้างต้องอยู่ต้องกิน ตรงนี้กระทรวงแรงงานโดยประกันสังคมจะเข้ามาดูแล เพราะทุกดือนที่ผ่านมา ลูกจ้างส่ง 5 เปอร์เซ็นต์ให้กองทุนเรา และ 0.5 เปอร์เซ็นต์ใน 5 เปอร์เซ็นต์ ถูกจัดไว้เป็นเงินประกันการว่างงานของเขา ตรงนี้กระทรวงแรงงานก็จะดูแลเงินทดแทนที่เขาต้องหยุดงาน 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของเขา แต่มีเพดาน 15,000 บาท”

Advertisement

สมมุติผมได้เงินเดือน 2 หมื่น วันนี้ผมถูกพักงาน เพดานคือ 15,000  ผมก็ได้ 7,500 มันยุติธรรมเหรอ?

รศ.ดร.จักษ์ : “ยุติธรรมครับ เหตุผลเพราะ ณ เวลาเก็บเงินส่งกองทุนประกันสังคม ไม่ว่าท่านเงินเดือนเท่าไหร่เราก็เก็บที่เพดาน 1.5 หมื่น คือ 5 เปอร์เซ็นต์ของ 1.5 หมื่น ตอนท่านได้รับก็ได้รับที่เพดาน 1.5 หมื่นเท่ากัน แฟร์ๆ กันสองฝ่าย”

คนเป็นพนักงานบริษัทนายจ้าง แรงงานในระบบ ยังไงก็ได้เงินชดเชย ต่อให้มีเงินเดือน 1 แสน แต่วันนี้คุณหยุดไปคุณได้ 7,500 บาทเท่านั้น?

รศ.ดร.จักษ์ : “เรามีกำหนดรอบนี้ไม่เกิน 60 วัน ตอนนี้รัฐประกาศหยุด เมื่อกลับไปทำงานก็ไปรับเงินเดือนปกติ แต่ถ้ารัฐประกาศหยุดต่อ เราก็ขยับต่ออีก 60 วัน ในรอบการประกาศครั้งนี้”

เอาง่ายๆ ได้แค่ 7,500 บาท?

รศ.ดร.จักษ์ : “ถูกต้องครับ”

กรณีการรักษาดูแล เจ็บไข้ได้ป่วยจากโควิด รักษาฟรี?

รศ.ดร.จักษ์ : “อันนี้รักษาฟรีทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะว่าผู้ประกันตนมีเงินในส่วนการรักษาพยาบาล ฉะนั้นวันนี้อาการไม่สบาย แล้วต้องไป รพ. ตามสิทธิ์ที่ตัวเองแจ้งไว้ ไปถึงปั๊บคุณหมอตรวจแล้วส่งแล็บแล้วไม่ต้องจ่ายแม้แต่บาทเดียว แต่ไม่ใช่ว่านึกจะไปตรวจก็เดินไปขอตรวจ ประกันสังคมไม่ได้ดูแล แต่ถ้าแพทย์สั่งให้ดำเนินการ ประกันสังคมดูแลให้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เต็มวงเงิน ฟรีครับ”

ตอนนี้ประชาชนหยุดงาน และไม่ได้เป็นแรงงานในระบบ คนหาเช้ากินค่ำ กระทรวงแรงงานไม่ได้มีส่วนตรงนั้น?

รศ.ดร.จักษ์ : “ขออธิบายว่าตอนนี้มีความสับสนระหว่างมาตรา 39 กับ 40 คือมาตรา 39 คือแรงงานที่เคยอยู่ในมาตรา 33 เคยอยู่ในระบบแล้วลาออก หรือถูกเลิกจ้าง หรือหมดสัญญาจ้าง กรณีนี้เขาไม่จำเป็นต้องส่งประกันเลย แต่เขาส่งโดยสมัครใจ กฎหมายไม่ได้บังคับ เขาส่งฝ่ายเดียวไม่มีนายจ้าง ส่วนมาตรา 40 คือบุคคลทั่วไปที่เขาอยากมีหลักประกันก็เดินมาทำประกัน กับเรา ฉะนั้นมาตรา 39 และ 40 เขาส่งโดยสมัครใจ ไม่มีนายจ้าง เขาจะถูกกันออกมาเป็นแรงงานนอกระบบ”

ทั้งที่เขาจ่ายก็ไม่ได้เหรอ?

รศ.ดร.จักษ์ : “แต่เขาจ่ายเรื่องอื่น เรื่องการดูแลสุขภาพ เรื่องเสียชีวิต ทุพพลภาพ แต่ไม่ได้ประกันเรื่องการว่างงาน เพราะเขาไม่ได้มีงานทำ”

ยกตัวอย่างผมมีพนักงานของผม วันนี้ผมจ่าย 5 เปอร์เซ็นต์ เขาจ่ายเอง 5เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกิดเขาออกไป ผมหยุดจ่าย แต่ลูกจ้างนั่งเย็บผ้าอยู่ที่บ้าน เขาจ่ายเอง 5 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ยังไง?

รศ.ดร.จักษ์ : “เขาไม่ได้จ่ายเอง 5 เปอร์เซ็นต์ เขาจ่ายเองเดือนละ 432 บาท อันนี้ถือว่าเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่ได้อยู่ในระบบของการประกันสังคม”

กรณีที่เราจะรับเงินหรือยื่นเรื่องต้องทำยังไง 7,500 บาทถึงจะถึงมือเรา?

รศ.ดร.จักษ์ : “ง่ายๆ ปกติออกจากงานต้องไปแจ้งที่กรมการจัดหางานก่อน แต่กรณีนี้ไม่ต้องนะครับ ไม่ต้องไปยื่นเรื่องที่กรมการจัดหางาน แต่ให้มายื่นเรื่องตรงสำนักงานประกันสังคมเลย ที่เว็บไซต์ sso.go.th หรือจะไปโดยตนเองก็ได้ ไปรษณีย์ก็ได้ ไลน์ก็ได้ อีเมล์ก็ได้ ตามนี้เลย ไม่ยาก”

ไม่ใช่ทุกคนได้ 7,500 บาทหมด สมมุติคุณทำงานได้เงินเดือน 8 พัน คุณยื่นเรื่องไป ทางเขาจะดูเลยว่าคุณทำงานได้เงินเดือนเท่าไหร่ ถ้าคุณได้ 8 พันบาท คุณจะถูกตัดมา 50 เปอร์เซ็นต์ คุณจะได้เงิน 4 พันบาท แต่ถ้าคุณทำงานได้ 2 หมื่น ระบบเขาวางมาตรการไว้แล้วว่าเงินเดือนจ่ายให้สูงสุดคือ 1.5 หมื่นบาท คุณได้สูงสุดคือ 7,500 บาท นอกนั้นลดไปตามอัตราเงินเดือนของคุณ ชัดเจนแบบนั้น คนว่าเยอะมั้ย?

รศ.ดร.จักษ์ : “ไม่นะ เพราะเป็นสิทธิที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 เขาเข้าใจดีมาโดยตลอดที่มาทำประกันตนกับเรา”

จะมาบอกว่าเอาเปรียบไม่ได้?

รศ.ดร.จักษ์ : “ใช่ครับ”

ทางแรงงานบอกว่าเรื่องแรงงานนอกระบบที่ไม่มีนายจ้าง คนที่ทำงานอิสระ เกณฑ์มีใครบ้าง?

ลวรณ : “เรื่องของเรื่องคือรัฐบาลมองเห็นปัญหาว่าเกิดขึ้นกับแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบหรืออาชีพอิสระได้รับผลกระทบวันนี้ จะถูกเลิกจ้างก็ดี ค้าขายไม่ดีเหมือนเดิม ถูกลดเงินเดือนก็ดี รัฐบาลเล็งเห็น จะไปรับไม้ต่อจากกระทรวงแรงงาน เราเริ่มจากกลุ่มประกันสังคมก่อน ใครที่กระทรวงแรงงานไม่ได้ดูแลจะรับมาเยียวยาให้ หลักเกณฑ์มี 3 ข้อ หนึ่งต้องเป็นแรงงาน ลูกจ้าง หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ สองต้องไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือเยียวยาจากประกันสังคม ท่านได้สองเด้งไม่ได้ ท่านต้องได้ทางใดทางหนึ่ง สามท่านต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด นี่คือเงื่อนไขที่ท่านมีสิทธิได้รับเงินเยียวยา 5 พัน”

หมายถึงเขาปิดสถานบันเทิง-สนามมวย แบบนี้เข้ามั้ย?

ลวรณ : “เข้าครับ ผู้ที่ทำงานในร้านถ้าไม่อยู่ในระบบมาตรา 33 อย่างที่ว่าก็ถือว่าเข้าหลักเกณฑ์นี้ได้ทั้งหมด”

แรงงานก่อสร้าง คนตัดหญ้า พนักงานตัดเย็บที่บ้าน ถือว่าเป็นแรงงานนอกระบบมั้ย?

ลวรณ : “เป็นนะครับ คือต้องมีงานทำ เป็นผู้ใช้แรงงาน แต่ถ้าท่านไม่มีอาชีพ อยู่บ้านเฉย มารับ 5 พันก็ไม่ได้ เราจะมีระบบคัดกรองที่เข้มข้นเราขอให้ท่านไปลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ชื่อ ‘เราไม่ทิ้งกันดอทคอม’ เปิดวันเสาร์นะครับ บางท่านใจร้อนเข้าไปแล้ว ตอนแรกคิดว่าจะเปิด 8 โมงเช้าเลิก 6 โมงเย็น แต่ตอนนี้เพื่อความสะดวกเราเซ็ทเวลาใหม่ เปิด 24 ชม. ไม่ปิดเลย เพื่อให้การลงทะเบียนได้สะดวกต่อเนื่อง จนกว่าจะมั่นใจว่าพี่น้องที่ได้รับความเดือดร้อน ได้รับการเยียวยาทุกคน”

กรณีคนเข้าไม่เป็น ทำยังไง?

ลวรณ : “จริงๆ เราใช้ระบบลงทะเบียนออนไลน์ทั้งหมด เพื่อลดการเดินทางไปที่ใดที่หนึ่ง ไม่ต้องการให้คนไปอยู่ที่เดียวกันมากๆ แต่ถ้าท่านไม่คุ้นเคย ขอให้ท่านอาศัยไหว้วานคนใกล้ตัวให้ช่วยท่านลงทะเบียนได้ เราไม่อยากให้ท่านต้องเดินทาง ลูกหลานท่านอยู่ที่บ้านลงทะเบียนได้มั้ย จะกรอกด้วยตัวเองหรือไหว้วานคนชำนาญ จะสะดวกกว่า”

เกณฑ์เข้า 3 ข้อ หนึ่งเอาบัตรประจำตัวประชาชนต้องมี สองข้อมูลส่วนบุคคล สามข้อมูลนายจ้างต้องมีมั้ย?

ลวรณ  : “แล้วแต่กรณี ถ้าเกิดเป็นลูกจ้างก็ต้องมีข้อมูลนายจ้าง”

อย่างคนตัดหญ้า เขามีนายจ้างหลายคน จะเอาคนไหน?

ลวรณ : “อันนี้ผมว่าเป็นอาชีพอิสระ ขอพูดในกรณีอย่างร้านนวดแผนโบราณเล็กๆ มีคนงาน 3-4 คน ไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม และมีเจ้าของร้าน ซึ่งก็คือนายจ้างท่านชื่ออะไร ขอแค่นี้พอ บางทีเราต้องสอบถาม”

ถ้ามีคนแปลกปลอมเข้ามา บอกว่าเป็นแรงงาน ต้องการเงิน 5 พัน เราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาทำงานมาแน่ๆ?

ลวรณ : “ประเด็นแรกเลย ลงทะเบียนไปไม่ได้ยืนยัน การันตีว่าท่านจะได้ทุกคน ระบบมีการคัดกรองจากฐานข้อมูลต่างๆ ที่ศูนย์ราชการมี เพื่อคัดกรองว่าท่านมีคุณสมบัติ 3 ข้อท่านถึงจะได้รับเงิน ถ้าท่านบอกว่าค้าขาย ท่านค้าขายอะไร อยู่ที่ไหน อาจต้องมีว่ารายได้เท่าไหร่ จะมีรายละเอียดของแต่ละอาชีพซึ่งไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างขับแท็กซี่ เราจะมองว่าเขาเป็นอาชีพอิสระ ไม่มีนายจ้าง ไม่ต้องกรอกข้อมูลนายจ้าง คนขับรถแท็กซี่ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ก็ให้กรอกหมายเลขใบขับขี่สาธารณะ ถ้าตรงกันท่านก็ขับแท็กซี่จริง แล้ววันนี้แท็กซี่ได้รับความเดือดร้อนแน่นอน เพราะคนหลีกเลี่ยงการเดินทาง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากอาชีพนี้”

จำกัดไว้กี่คน?

ลวรณ : “ตรงนี้มีความสับสนกันเยอะเราพูดว่า 3 ล้านคนคือการกะประมาณการเพื่อขอรับงบประมาณจากรัฐบาล แต่ไม่ได้หมายความว่า 3 ล้านเต็มแล้วปิดนะครับ อ้นนี้คนสับสนเยอะ ไม่ใช่มาก่อนได้ก่อน เราจะลงทะเบียนเรื่อยๆ ถ้ามันเกินเราคัดกรองเรียบร้อยแล้วได้ครบทั้ง 3 ข้อ 4.5 ล้านคน สมมตินะครับ ก็เป็นหน้าที่กระทรวงการคลังเพื่อไปของบรัฐบาลมาจ่ายให้ได้ทุกคน”

แม่ค้าตลาดนัด แม่ค้าออนไลน์ จะมีสิทธิได้รับเงินนี้มั้ย?

ลวรณ : “ก็เป็นอาชีพอิสระค้าขาย เรามองว่าถ้าตลาดถูกปิด คนไม่สะดวกออกไปซื้อของ ก็ทำให้เขากระทบรายได้ เขาก็มีสิทธิได้รับ”

เอาเกณฑ์ไหนไปตัดสิน?

ลวรณ : “เวลาคัดกรอง จะบอกคนได้ 3 กลุ่ม คนที่เข้าเงื่อนไขครบทุกข้อ อันนี้จ่ายเงินเลย กับกลุ่มที่ไม่เข้าเงื่อนไขอะไรเลยก็ตัดออก มีกลุ่มที่ได้เลยกับกลุ่มที่ไม่ได้เลย และกลุ่มที่ยังกลางๆ เราจะมีการขอรายละเอียดเพิ่มเติม ค้าขายที่ไหน จริงหรือเปล่า มีคนในพื้นที่ลงไปดูข้อมูล เพื่อยืนยันความถูกต้อง”

กรณีกระทรวงแรงงาน มองว่าประกันสังคม กลับได้น้อยกว่าแรงงานนอกระบบ ไม่ดูแปลกไปหน่อยเหรอ?

ลวรณ : “อันนี้มาคนละฐาน เรามองว่าเงินเดือนสักเท่าไหร่ ค่าเยียวยาสักเท่าไหร่เขาถึงจะอยู่ได้ 1 เดือน ผมว่ามาคนละฐาน ต้องคิดคนละชุดข้อมูล”

แรงงานรายวัน เรตสูงสุดเท่าไหร่?

ลวรณ : “ต่ำสุด 300 บาท”

ตกเดือนนึงทำงาน 22 วัน ตก 6,600 ได้เงิน 5,000 บาท?

ลวรณ : “เราไม่ได้มองว่ารายได้ขั้นต่ำเท่าไหร่ แต่เรามองว่าต่อให้รายได้  2 หมื่น 5 หมื่นท่านก็ได้ 5 พันอยู่ดี”

ในมุมระบบเกรงว่าจะล่มมั้ย?

ลวรณ : “เรามีประสบการณ์จากการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ลงทะเบียนชิมช้อปใช้ อันนั้นก็โกลาหล อยากประชาสัมพันธ์ว่าไม่ต้องเร่งรีบมาลงทะเบียนพร้อมๆ กันในวันแรกๆ ไม่ใช่มาก่อนได้ก่อน กรณีนี้ถ้าท่านมีคุณสมบัติครบท่านก็ได้ เราเปิดเว็บไซต์ 24 ชม. ไม่มีปิด เปิดยาวเลย”

กระทรวงแรงงานสามารถยื่นเรื่องได้เลย?

รศ.ดร.จักษ์ : “ครับ ตอนนี้เข้าไปกรอกข้อมูลได้แล้ว ตอนนี้เปิดเรียบร้อย ถ้ากรอกข้อมูลถูกทุกอย่างเสร็จ เงินได้ภายใน 7 วัน”

อยากบอกอะไรถึงลูกจ้าง?

รศ.ดร.จักษ์ : “อยากให้ฝ่าวิกฤตตรงนี้ไปให้ได้ ทั้งนายจ้างและลูกจ้างคือครอบครัวเดียวกัน”

หลังวิกฤตผ่านไปแล้ว จะมีมาตรการเยียวยาตรงนี้ยังไง?

รศ.ดร.จักษ์ : “ตอนนี้เราเปิดศูนย์งานพาร์ทไทม์แล้ว เพราะตอนนี้นายจ้างก็ไม่อยากเปิดเต็มเวลา ลูกจ้างก็อยากทำบางเวลา มีตำแหน่งว่าง 2.8 หมื่นกว่าตำแหน่ง ติดต่อไปได้ และมีการเตรียมพร้อมเรื่องการฝึกอบรม เราดูแลทุกประการ”

ลวรณ : “ผมอยากให้การเยียวยาของเรารวดเร็วและตรงตามคนที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ ท่านที่ไม่ได้รับความเดือดร้อน ขอความกรุณาอย่ามาลงทะเบียนเพราะจะเสียเวลาประมวลผล เราอยากให้การจ่ายเงินเร็วที่สุด และแม่นยำที่สุด”

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image