‘ผอ.เวชศาสตร์ฯ’ ยัน ปรับแนวทางรักษาโควิดเป็นระยะ ย้ำผู้ป่วย ‘ไร้อาการ-ไม่รุนแรง’ ต้องอยู่ รพ.2-7 วัน

‘ผอ.เวชศาสตร์ฯ’ ยัน ปรับแนวทางรักษาโควิดเป็นระยะ ย้ำผู้ป่วย ‘ไร้อาการ-ไม่รุนแรง’ ต้องอยู่ รพ.2-7 วัน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 31 มีนาคม ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ว่า ได้มีการปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม จากแนวทางที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดยมีการปรับแนวทางเป็นระยะเนื่องจากข้อมูล ทั้งจำนวนผู้ป่วย ทรัพยากรทางการแพทย์ และสถานที่ เปลี่ยนทุกวัน โดยคณะทำงานประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ จากโรงเรียนแพทย์ สมาคมวิชาชีพ และกรมวิชาการต่างๆ จากกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมทำไกด์ไลน์ ซึ่งไม่ใช่เวอร์ชั่นสุดท้าย โดยมีการปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

นพ.สกานต์กล่าวว่า รายละเอียดของไกด์ไลน์โดยย่อเป็นประเด็นที่ประชาชนควรรู้ เพื่อปฏิบัติตามแนวทาง ซึ่งจะกระจายไปยังสถานพยาบาล ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้แนวทางเดียวกัน โดยแบ่งกลุ่มผู้ติดเชื้อเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ 2.ผู้ติดเชื้อที่มีอาการเบา คล้ายไข้หวัด และไม่มีโรคเสี่ยงร่วมด้วย 3.ผู้ติดเชื้อที่มีอาการเบา แต่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น อ้วน กินยากดภูมิ มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน โรคตับแข็ง ฯลฯ ตามรายละเอียด 4.ผู้ป่วยที่ปอดบวม แต่อาการยังไม่รุนแรง ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และ 5.ผู้ป่วยกลุ่มปอดบวมที่มีอาการรุนแรง

“กลุ่มที่อยากจะสื่อสารคือ 3 กลุ่มแรก เพราะกลุ่มปอดบวมต้องรักษาในโรงพยาบาลจนหาย แต่ 3 กลุ่มแรกมีการปฏิบัติแตกต่างกันไปซึ่งไม่เป็นไปตามแนวทางเดียวกัน คือกลุ่มติดเชื้อที่ไม่มีอาการ และกลุ่มติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรง โดยสรุป ไม่ว่าจะไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรงก็จำเป็นจะต้องรับไว้ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 2-7 วัน กลุ่มที่ไม่มีอาการจะสังเกตอาการ ไม่ได้ให้ยา แต่กลุ่มที่มีอาการน้อยจะเฝ้าสังเกตไปก่อน เมื่อเริ่มอาการมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น แพทย์จะปรับสูตรยาตามความเหมาะสม ดังนั้น ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ ต้องอยู่โรงพยาบาล 2-7 วัน เพราะจากผลการศึกษาทั้งในและต่างประเทศพบว่า แม้ไม่มีอาการช่วง 2-7 วัน แต่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นกลุ่มที่มีอาการรุนแรงได้ เพื่อความปลอดภัยของท่าน จึงต้องอยู่โรงพยาบาลก่อน เมื่ออาการไม่รุนแรงจะยังไม่ให้กลับบ้าน จนกว่าจะครบ 14 วัน โดย อาจจัดอยู่ในโรงพยาบาลเฉพาะกิจ หรือหอผู้ป่วย ซึ่งจะต้องเข้าสู่ระบบผ่านโรงพยาบาลต้นสังกัด และหลังจากครบ 14 วัน หากอาการปกติก็สามารถกลับบ้าน และสามารถไปทำงานได้ตามปกติ แต่ 1.ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกไปนอกบ้าน 2.ต้องแยกตัวจากผู้อื่น แยกห้องทำงาน ไม่ร่วมรับประทานอาหาร ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน และจะต้องรักษามาตรการนี้ต่อไปเป็นระยะเวลาครบ 1 เดือน นับจากตรวจพบเชื้อ หรือมีอาการ ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มเสี่ยง ที่ต้องกักตัวอยู่กับบ้าน 14 วันหลังครบ 14 วัน สามารถทำงาน และใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่จะต้องรักษามาตรการที่ทำอยู่ คือ เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ คือภาพรวมในการรักษา” นพ.สกานต์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image