สธ.แจงความพร้อม “เตียง-ยา” รับมือ “โควิด-19” เล็งใช้ซ้ำ N95

สธ.แจงความพร้อม “เตียง-ยา” รับมือ “โควิด-19” เผยเตรียมหาเครื่องทำความสะอาดหน้ากาก N95 หวังนำกลับมาใช้ใหม่

โควิด-19 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.ว่า กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า เช่น สนามมวย สถานบันเทิง การสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ ผู้มีประวัติเดินทางมาจากต่างประเทศ บุคลากรทางการแพทย์ อาชีพเสี่ยง อาทิ พนักงานโรงแรม พนักงานขับรถ ขายบริการ ผู้ป่วยในเรือนจำ 1 ราย ที่มีการติดเชื้อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และที่ไม่ระบุอื่นๆ จากสถานการณ์เหล่านี้จะต้องดำเนินการ 2 ด้าน คือ 1.ความร่วมมือของประชาชน เพื่อลดการออกนอกเคหสถานหากไม่จำเป็น 2.การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข โดยการเตรียมเตียง

“ขณะนี้ในกรุงเทพมหานครมีจำนวนกว่า 1,000 เตียง รวมถึงส่วนที่ได้หาเพิ่มเติมมารวมได้ 2,000 เตียง มี โดยขณะนี้มีผู้ป่วยอยู่ประมาณ 700 ราย ในจำนวนนี้มีทั้งผู้ป่วยอาการหนักและอาการเบา การเตรียมเครื่องช่วยหายใจ มีจำนวนประมาณ 300 เครื่อง โดยขณะนี้มีผู้ป่วยที่ใช้อยู่ประมาณ 20 ราย ส่วนในความพร้อมต่างจังหวัด มีจำนวนเตียงประมาณ 120,000 เตียง สำรองไว้สำหรับผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อประมาณ 10,000 เตียง โดยขณะนี้มีผู้ป่วยอยู่ประมาณ 500 ราย การเตรียมเครื่องช่วยหายใจที่พร้อมใช้งานประมาณ 1,000 เครื่อง หากมีการระบาดหนักเครื่องมือเหล่านี้จะไม่เพียงพอ ดังนั้นการไม่เป็นโรคการไม่ป่วยรักษาร่างกายให้แข็งแรง หากมีอาการป่วยก็อย่าไปซ้ำเติมให้ร่างกายแย่ลง เช่น การไปสถานที่แออัดในการรับเชื้อใหม่” นพ.สุขุม กล่าว

ทั้งนี้ นพ.สุขุม กล่าวว่า สธ.ได้มีการเตรียมรองรับขยายเตียงเพื่อดูแลผู้ป่วยอาการหนักหรือผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยการเร่งสำรวจและเตรียมห้องแยกความดันลบรวมไปถึงห้องไอซียูแบบพิเศษ ซึ่งได้การสนับสนุนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ขณะนี้อยู่ในการดำเนินแผนการจัดสรรทรัพยากร โดยหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ได้รับการจัดสรรเพิ่มในระบบสาธารณสุข จำนวน 1.5 ล้านชิ้น ซึ่งได้กระจายผ่านระบบขนส่งไปรษณีย์ไทยไปในทั่วประเทศ ส่วนในเรื่องของยาต้านไวรัสฟาวิพิลาเวียร์ ซึ่งจะต้องใช้ในผู้ป่วยรายที่อาการรุนแรงและไม่ได้ใช้กับผู้ป่วยทุกราย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ได้รับเพิ่มแล้ว 40,000 เม็ด โดย 18,000 เม็ด ส่งไปที่ต่างจังหวัด และอีก 18,000 เม็ด อยู่ในสถานพยาบาลของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

นพ.สุขุม กล่าวว่า ขณะนี้หน้ากาก N95 มีปัญหาเรื่องของการผลิตดังนั้นจึงต้องใช้หน้ากากทดแทนจากประเทศจีน เช่น FFP2 ซึ่งในความจริงแล้ว ไม่ใช่หน้ากากที่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้เนื่องจากมีการซึมของน้ำเข้าไปภายในหน้ากากได้ แต่ในสภาวะแบบนี้ต้องมีการประยุกต์ แต่ขณะนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ดำเนินการสร้างต้นแบบเพื่อผลิตภายในประเทศให้ได้ประมาณ 100,000 ชิ้นต่อวัน ทั้งนี้ จากความร่วมมือโรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ และ รพ.ศิริราช มีแนวทางในการนำชุดหน้ากาก N95 มาใช้ซ้ำด้วยความปลอดภัย และมีข้อเสนอว่าหากมีความจำเป็น สธ.จะประกาศให้หน่วยงานของตนเองนำหน้ากากเหล่านี้มาทำความสะอาดและกำจัดเชื้อโรคเพื่อนำไปใช้ใหม่ รพ.รามาธิบดี มีการใช้เครื่องทำความสะอาดแสงอุลตราไวโอเลต หรือเครื่อง UV จำนวน 50 เครื่อง เพื่อนำหน้ากากกลับมาใช้ซ้ำ สธ.จึงมอบให้กรมการแพทย์ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นำหลักการมาศึกษาหลักการใช้กำจัดเชื้อไวรัส

Advertisement

“ถึงแม้รัฐบาลจะหาอุปกรณ์มาพอเพียง แต่หากมีการระบาดระยะยาวจะต้องมีการเตรียมการจึงจะต้องมีการเตรียมเทคนิคในการทำความสะอาดด้วยสเตอร์ไลน์” นพ.สุขุม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image