“ศิริราช” หวั่นยอดตาย-ติดเชื้อ “โควิด-19” พุ่งไม่หยุด “เตียง-หมอ” ไม่พอ วอนปชช. “อยู่บ้าน”

คณบดีศิริราชพยาบาลย้ำยอดตาย “โควิด-19” พุ่งอีก ถ้าไม่ “อยู่บ้าน” ชี้ตึก-เตียง ขยายได้ แต่เพิ่มหมอ พยาบาลไม่ได้ ด้าน สสส.ปรับทัพงานชุมชน เน้นไม่ตีตราผู้ป่วย 

โควิด-19 เมื่อวันที่ 3 เมษายน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้อัตราผู้เสียชีวิตของไทยจะต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน แต่ก็สูงขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา และจะสูงขึ้นอีกถ้าคนไทยประมาท ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม

“ขณะนี้โรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยโควิด-19 มีคนไข้จำนวนขึ้นมาก การขยายเตียง ขยายตึกทำได้ แต่จะผลิตหมอ พยาบาล ให้เท่าจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มเป็นหลักร้อยทุกวัน ทำไม่ได้ และอุปกรณ์การแพทย์ที่ทุกประเทศแย่งกันซื้อ จึงขาดแคลน ไม่ว่ามีเท่าไรจะไม่มีทางพอ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุด คือ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ด้วยยุทธวิธี อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ล้างมือ สวมหน้ากากผ้า และรักษาระยะห่างทางสังคม กรณีเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องรายงานตัว ต้องแจ้งข้อมูล ผมขอร้องอย่าปกปิดข้อมูล บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อยู่ในความเสี่ยง และทุกคนพร้อมที่จะเสี่ยง แต่พวกเขาก็เป็นคนธรรมดาที่มีความกลัว ไม่ได้กลัวตัวเองจะติดเชื้อ แต่กลัวจะเอาเชื้อกลับบ้านไปติดคนในครอบครัว คนที่รักเซฟพวกเค้า มันจะเซฟเรา และเซฟชาติในที่สุด ถ้าเราเป็นคนโชคร้ายที่ติดเชื้อ จงหยุดเชื้อ หยุดความโชคร้ายไว้ที่ตัวเรา โควิด-19 รักษาได้ ขอแค่อย่าปกปิด อย่าแพร่เชื้อ ไม่เพียงบุคลากรทางการแพทย์จะเสี่ยง แต่คนที่คุณรักจะเป็นอันตรายด้วย ผู้มีความเสี่ยง สามารถแสดงตัวรับการตรวจรักษาได้ เรายินดีดูแลท่าน มีเหตุการณ์ที่ต้องเสียบุคลากรให้กับผู้ป่วยที่ปิดบังว่ามีปัจจัยเสี่ยง ถามแล้วถามอีกก็ปฏิเสธ แต่ผลตรวจเป็นบวก จึงค่อยสารภาพ ทำให้เราเสียบุคลากรไป 40-50 คน คนเหล่านี้ต้องโดนกักตัว และถ้าคนใดคนนึงเกิดมีเชื้อเป็นบวกคนที่ทำงานกับเค้าอีก หลายสิบคนก็ต้องโดนกักตัวหยุดงาน ในขณะที่บุคลากรก็ขาดแคลน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า กรณีการให้ผู้ติดเชื้อที่อาการดีขึ้นกลับไปอยู่ที่อยู่ในชุมชนนั้น มีกระบวนการคัดกรอง ตรวจสอบมาตรฐาน จนแน่ใจว่าสถานที่ที่ย้ายไปอยู่ มีระบบจัดเก็บและควบคุมปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเสื้อผ้า อาหาร ขยะ จนแน่ใจว่าจะไม่แพร่กระจายเชื้อ เพียงรอกลับบ้านให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันกำจัดไวรัสออกไป หากให้กลับบ้านได้ ก็แสดงว่าปลอดภัยแล้ว

Advertisement

“ดังนั้น อย่ารังเกียจพวกเขาเลย เพราะเราคือคนไทยด้วยกัน ท่านจะไม่เข้าไปในพื้นที่นั้นก็ไม่ว่า แต่อย่าถึงขนาดต้องไปขับไล่ ตนคิดว่านี้ไม่ใช่นิสัยคนไทย จงกลับมาเป็นคนไทยที่มีน้ำใจ เอื้ออาทรต่อกัน หากสังคมแสดงออกต่อพวกเขาด้วยความรังเกียจ เพราะคนเหล่านี้จะไม่แจ้งข้อเท็จจริงให้กับบุคลากรที่ตั้งใจจะดูแลเขา หากเรากลัวติดเชื้อ และผลักไสให้ผู้ป่วยทุกคนต้องอยู่ใน รพ.จนเกินศักยภาพที่จะรับไหว จะเหมือนลูกโป่งที่กำลังป่องออกๆ และถ้าลูกโป่งนี้แตกเมื่อไหร่ ประเทศไทยจะแพ้เมื่อนั้น” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ด้าน ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ได้ปรับทัพการทำงานในชุมชน และการสื่อสารต่อสังคม จากที่เน้นย้ำสนับสนุนการทำงานในเรื่องของมาตรการชุมชน การเฝ้าระวัง ป้องกันตนเอง มีระยะห่างทางสังคม และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐแล้ว ซึ่งเชื่อว่า ขณะนี้ชุมชน และสังคมตื่นตัวแล้ว แต่ต้องไม่ตระหนกจนเกิดการตีตรา รังเกียจ และกีดกันผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะขณะนี้ที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การตีตรายิ่งไปเพิ่มปัญหาอีกด้านหนึ่ง คือ ทำให้ผู้ติดเชื้อปกปิดข้อมูล ไม่ให้ความร่วมมือในด้านการรักษา เป็นการซ้ำเติมปัญหาและส่งผลกระทบในวงกว้างได้ ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ สสส. ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการผลิตสื่อในรูปแบบคลิปวิดีโอ ภาพนิ่ง และอื่นๆ เผยแพร่ในทุกช่องทางสื่อ และกระจายลงไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่ www.Thaihealth.or.th/ไทยรู้สู้โควิด

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image