สธ.ไขข้อสงสัย ‘โควิด-19’ เผยกว่า 35 สถาบันเร่งพัฒนา ‘วัคซีน’ คาดเร็วสุด 6 เดือน

สธ.ไขข้อสงสัย ‘โควิด-19’ เผยกว่า 35 สถาบันเร่งพัฒนา ‘วัคซีน’ คาดเร็วสุด 6 เดือน

โควิด-19 เมื่อวันที่ 5 เมษายน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวทบทวนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่าผู้ป่วยโควิด-19 ร้อยละ 80 ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายเองได้

“แต่ประชาชนอาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมจึงต้องวิตกกังวลกันขนาดนี้ คำตอบของโรคนี้คือ 1.โรคนี้มีการระบาดเร็ว ผู้ป่วย 1 คน มีความสามารถในการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้มากกว่า 2 คน ถ้าไม่ระวังและไม่ควบคุม ในระยะหนึ่งจะพบผู้ป่วยจำนวนมาก ถึงแม้สัดส่วนของผู้ป่วยอาการรุนแรงจะมีต่ำ แต่ส่งผลให้พบผู้ป่วยอาการรุนแรงมากตามไปด้วย และอาจจะเกินศักยภาพทางการแพทย์ในการรับมือ ดังนั้น จึงจะต้องเพิ่มมาตรการ 2 ส่วนคือ 1.ชะลอการแพร่ระบาดของโรค และ 2.เพิ่มศักยภาพดูแลผู้ป่วยอาการรุนแรงให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ แต่สถานการณ์ประเทศไทยค่อนข้างดี เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุ 20-40 ปี ดังนั้น จะต้องกดการแพร่ระบาดให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพของ สธ.” นพ.ธนรักษ์กล่าว

นพ.ธนรักษ์กล่าวถึงการจัดการกับปัญหาดังกล่าวว่า รัฐบาลได้ผนึกกำลังจากทุกกระทรวงจัดการกับปัญหา ในลักษณะของการนำทุกหน่วยงานของรัฐ และในระดับประเทศคือ ทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาลและเอกชนให้ความร่วมมือกัน เช่น การให้พนักงานเอกชนทำงานที่บ้าน จึงต้องขอความร่วมมือจากเอกชน การเหลื่อมเวลาการทำงาน ภาครัฐบาลจะต้องจัดการให้มีการกำหนดเวลา โดยเป้าหมายในการแก้ปัญหามี 3 ด้าน คือ

Advertisement

ด้านที่ 1 ป้องกัน สกัดกั้น การนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย ใช้มาตรการจากเบาไปหนัก การระบาดในต่างประเทศมีความรุนแรงมากขึ้น ประเทศไทยพบผู้ป่วยที่เดินทางเข้าประเทศมากขึ้น จึงใช้มาตรการเข้มข้นขึ้น จากเดิมผู้เดินทางเข้ามาต้องมีใบรับรอง หนังสือรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศ ประกันสุขภาพส่วนตัวที่มีวงเงินมากกว่า 1 แสนเหรียญสหรัฐ ต่อมาเพิ่มมาตรการเป็นการกักกันในพื้นที่จังหวัด และเพิ่มขึ้นเป็นให้กักกันในพื้นที่ที่รัฐบาลจัดไว้ให้ ไปจนถึงมาตรการงดเข้าประเทศเป็นการชั่วคราว

นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ในการป้องกันสกัดกั้นเชื้อไวรัสมี 2 ทางคือ 1.มาตรการทางสาธารณสุข ค้นหา/แยกผู้ป่วย รวมถึงผู้สัมผัสผู้ป่วยให้ได้รวดเร็วเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด การให้ความรู้กับประชาชน การป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล (รพ.) อย่างเคร่งครัด มาตรการป้องกันโรคอีกส่วนหนึ่งคือ การเพิ่มระยะห่างทางสังคม มาตรการการรักษา เช่น การจัดตั้งคลินิกโรคไข้หวัด การกำหนดบทบาทหน้าที่สถานพยาบาลแต่ละแห่ง การบูรณาการผู้เชี่ยวชาญและกำลังคนไปจนถึงการสำรองเวชภัณฑ์ต่างๆ และประชาชนจะต้องป้องกันการติดเชื้อด้วยตนเอง คือการรับฟังข่าวสารที่เหมาะสม เพิ่มระยะห่างทางสังคม สวมใส่หน้ากากผ้า หมั่นล้างมือให้สะอาด ขอเน้นย้ำว่าการล้างมือที่ดีที่สุดคือการใช้น้ำและสบู่ แอลกอฮอล์เจลเป็นเพียงของทดแทนและสะดวกกว่า รับประทานอาหารร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และสำหรับผู้ที่ป่วยและมีประวัติเสี่ยงให้รีบไปพบแพทย์ แต่หากไม่มีประวัติเสี่ยงและอาการเบาแนะนำให้รับประทานยารักษาอาการเบื้องต้น และเว้นระยะห่างทางสังคมก่อน ด้านที่ 2 ยับยั้งการแพร่ระบาดภายในประเทศ คือการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ปลอดภัย และ ด้านที่ 3 ลดผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า กรณีที่ประชาชนตั้งคำถามว่าการวัดอุณหภูมิร่างกายเพียงอย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ ข้อเท็จจริงคือสามารถช่วยได้มาก เนื่องจากอาการในผู้ใหญ่ร้อยละ 89 มีอาการไข้ แต่ต้องใช้ร่วมกับมาตรการอื่นๆ เช่น การสวมหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ ดังนั้น สถานที่สาธารณะจะต้องวางแอลกอฮอล์เจลล้างมือให้ทั่วถึง และหากป่วยให้พักอยู่บ้าน ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ทุกฝ่ายควรสนับสนุน ส่วนเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ในขณะนี้มีหลายหน่วยงาน สถาบันวิจัยไม่น้อยกว่า 35 แห่ง ที่กำลังพัฒนาขึ้น คาดว่าอย่างเร็วที่สุดคือ 6 เดือน แต่ผู้เชี่ยวชาญจะให้เวลาประมาณ 1 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image