หมอเคลียร์เคส “สาวชัยภูมิ” ไม่ติด “โควิด-19” ซ้ำ เชื่อป่วยจากเหตุอื่นมากกว่า

สธ.เคลียร์เคส “สาวชัยภูมิ” ติดโควิด-19 รอบ2 – ยันสวม “หน้ากากอนามัย” นานไม่ใช่เหตุเลือดเป็นกรด

โควิด-19 กรณีหญิงสาวที่ จ.ชัยภูมิ อายุ 38 ปี ที่เคยป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ภายหลังพบว่าตรวจพบเชื้อไวรัสซ้ำในเวลาที่ใกล้เคียงกัน จึงเกิดข้อสงสัยว่าเชื้อมีความรุนแรง หรือไม่และควรป้องกันอย่างไรนั้น

เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขอย้ำว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคใหม่เกิด 3-4 เดือน ทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยซ้ำในประเทศจีน กับญี่ปุ่น ประเทศละ 1 ราย โดยที่ญี่ปุ่นชัดเจนว่าป่วยซ้ำหลังออกจากโรงพยาบาล (รพ.) ส่วนกรณีผู้ป่วยที่ จ.ชัยภูมิ ขณะนี้เข้ารับการรักษาที่ รพ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ

“จากการตรวจสอบประวัติพบว่า ผู้ป่วยรายนี้เริ่มป่วย และเข้ารับการรักษาที่รพ.เอกชน แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร พบเชื้อโควิด-19 จริง แต่อาการไม่มาก โดยมีอาการไข้หวัด ทั้งนี้ รักษาใน รพ.เอกชน จนครบ 14 วัน นับตั้งแต่วันที่มีอาการ เมื่อดีขึ้นแพทย์ให้กลับบ้านได้และแนะให้แยกตัวที่บ้าน ซึ่งก็พบว่าคนไข้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดีมาก ด้วยการแยกตัวเองและให้มีคนส่งอาหารแขวนไว้ที่หน้าบ้าน” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้สอบถามไปยังแพทย์ที่ รพ.หนองบัวแดง ทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ประมาณวันที่ 3-4 พบอาการครั่นเนื้อตัว รู้สึกเหมือนมีไข้ มีน้ำมูกเล็กน้อย ทาง รพ.ทราบว่ามีประวัติป่วยติดเชื้อ จึงได้เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งในลำคอเพื่อตรวจซ้ำ จึงพบว่ามีเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เมื่อวัดไข้แล้ว ผู้ป่วยไม่มีไข้ เอกซเรย์ปอดปกติ

Advertisement

“ถามว่าลักษณะนี้เป็นการติดเชื้อไวรัสซ้ำหรือไม่ ก็เป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ 1.เป็นการติดเชื้อซ้ำอาจจะเป็นไปได้ และ 2.ผู้ป่วยไม่ได้ป่วยใหม่ เนื่องจากดูประวัติจาก รพ.พบว่าผู้ป่วยมีอัตราการหายใจแรกรับ 20 ครั้งต่อนาที คือ ปกติ ไม่มีไข้ ตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ทุกอย่างปกติ ยกเว้นเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มขึ้นอาจจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียด้วยซ้ำ” นพ.สมศักดิ์ กล่าวและว่า เฉพาะรายนี้ คาดว่าไม่ได้ติดเชื้อซ้ำ

“การป่วยครั้งใหม่ที่มีน้ำมูก น่าจะเป็นอย่างอื่นมากกว่า ส่วนเชื้อที่เจอ สันนิษฐานว่าเป็นซากไวรัส ซึ่งข้อมูลต่างประเทศสามารถตรวจเจอซากเชื้อไวรัสได้นานถึง 30 วัน และข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาได้ออกแนวทางมาว่า หากคนไข้อาการไม่มาก เมื่อผู้ป่วยดีขึ้นแล้วให้อยู่ รพ.เพียง 7 วัน นับจากวันที่มีอาการแล้ว ก็กลับได้โดยไม่ต้องตรวจซ้ำ ในขณะที่ของเราใช้ 14 วัน ด้วยซ้ำไป” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับซากเชื้อคือ เชื้อที่ไม่มีชีวิต ไม่สามารถแพร่ได้ แต่ก็ยังต้องให้ผู้ป่วยแยกตัว อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์จะลองแยกเชื้อจากคนกลับบ้านแล้วมาทำการศึกษาต่อว่าแบบนี้จะเพาะเชื้อขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ขึ้นก็คือตายแล้ว

Advertisement

“ส่วนกกรณีข้อสงสัยเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยนานแล้วทำให้เลือดเป็นกรดหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่า คงไม่ถึงกับทำให้เลือดเป็นกรด แต่อาจจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คั่งค้าง เนื่องลมหายใจถูกกักในหน้ากาก ส่งผลให้เหนื่อยล้า ง่วงนอน ดังนั้น หากอยู่คนเดียวไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย ควรสวมเมื่อไปในที่ชุมชน ส่วนเลือดเป็นกรดนั้น แพทย์ได้ทำการศึกษาแล้วว่า ไม่จริง แต่อาจจะเกิดอาการอ่อนเพลียบ้าง” นายสมศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image