ติด ‘โควิด-19’ 33 รายใหม่ ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ สธ.เตือนอย่าชะล่าใจ! คุมเข้มจนพ้นสงกรานต์

ไทยรักษา “โควิด-19” หายได้เป็นลำดับต้นของโลก สธ.ชี้ 33 รายใหม่ ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ แต่อย่าชะล่าใจ! คงมาตรการจนพ้นสงกรานต์

กระทรวงสาธารณสุข- เมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ว่า วันนี้มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ 33 ราย ต่ำที่สุดในรอบ 3 สัปดาห์ แสดงให้เห็นว่าการควบคุมโรคได้ผลดี แต่อย่าชะล่าใจ ประมาทไม่ได้ โรคนี้ติดต่อง่าย หากมีผู้ป่วยไม่ป้องกันตัวเองคนที่ร่างกายแข็งแรงหากอยู่ใกล้ผู้ป่วยจะติดโรคได้เช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็ก ผู้สูงอายุ โดยผู้ป่วยรายใหม่เกือบครึ่งได้รับเชื้อจากผู้ป่วยจากการที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่อยู่ในระบบเฝ้าระวัง

นพ.โสภณ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนงดกิจกรรมเทศกาลวันสงกรานต์ และดำเนินการตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เนื่องจากข้อมูลของประเทศไทย พบว่าผู้สูงอายุที่มากกว่า 70 ปีขึ้นไป มีอัตราป่วยตายของโรคโควิด-19 สูงถึงร้อยละ 10 จึงต้องร่วมกันปกป้องผู้สูงอายุ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีการติดเชื้อ พบว่าร้อยละ 60 เป็นการติดเชื้อขณะปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย ร้อยละ 20 เป็นการติดเชื้อในการใช้ชีวิตประจำวัน และอีกร้อยละ 20 เป็นการติดเชื้อที่เป็นไปได้ทั้งในการปฏิบัติงานและการใช้ชีวิตประจำวัน

“ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์จะต้องมีการตระหนักในการใช้ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น และปัญหาเรื่องของอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคในโรงพยาบาล (รพ.) ขณะนี้ได้คลี่คลายไปในทางที่ดี ดังนั้นจะต้องนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ให้ถูกต้องในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อไวรัสได้” นพ.โสภณ กล่าว

Advertisement

นพ.โสภณ กล่าวว่า ในส่วนผู้ป่วยที่กลับจากต่างประเทศ ยังพบ 2 รายในจังหวัดภาคใต้เป็นผู้กลับจากปฏิบัติศาสนกิจ ส่วนชาวต่างชาติที่เข้ามาไม่มีผู้ป่วยรายใหม่จากมาตรการห้ามเดินทางที่งดเที่ยวบินตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เหลือ คนไทย 1 คน ที่กลับจากประเทศอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 ซึ่งอยู่ในรายงานการเฝ้าระวังเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ขอประชาชนทุกคนอย่าประมาท คงเข้มมาตรการภาครัฐต่อเนื่องจนพ้นเทศกาลสงกรานต์

นพ.โสภณ ยังกล่าวถึงการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน (Active case finding) ว่า เช่น จ.ภูเก็ต ที่ดำเนินการค้นหาผู้ป่วยโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 และสำนักงานศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมุ่งเป้าไปยังผู้ป่วยในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยมาก่อน และสอบสวนโรคไปยังผู้ที่มีประวัติเกี่ยวข้อง

นพ.โสภณ กล่าวว่า จากข้อมูลรายงานว่า การค้นหาในกลุ่มเสี่ยง พบผู้ติดเชื้อร้อยละ 9 กลุ่มที่มีอาการป่วยแต่ประวัติการสัมผัสโรคไม่ชัดเจน พบผู้ติดเชื้อร้อยละ 3.9 กลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อยเป็นการคัดกรองในวงกว้าง พบผู้ติดเชื้อร้อยละ 1.1 ดังนั้น จะเห็นว่าการดำเนินการช่วงที่ผ่านมาดำเนินการตรวจไปแล้วกว่า 3,000 ราย พบว่าการระบาดอยู่ในวงจำกัด ในบางจุด เช่น เป็นพื้นที่ที่เคยพบผู้ป่วยมาก่อน แต่การค้นหาเช่นนี้ทำให้พบผู้ป่วยติดเชื้อในระยะแรกและสามารถนำเข้าสู่การรักษาและกักกันได้ทันท่วงที เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อไปยังประชาชนทั่วไป มีการประเมินว่าสถานการณ์จะพบผู้ป่วยจำนวนลดลงเรื่อยๆ

Advertisement

“ดังนั้น ข้อเสนอของทางพื้นที่ คือการตรวจคัดกรองยังคงต้องทำในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้พบผู้ป่วยและดำเนินการป้องกันควบคุมได้และเกิดความคุ้มค่า ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่มีการตรวจพบเพียงร้อยละ 1 ซึ่งหากมีการตรวจอย่างไม่มีเป้าหมายก็เกิดการใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่า เนื่องจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะต้องใช้ทั้งชุดการเก็บตัวอย่าง ชุดป้องกันสำหรับผู้ที่ไปเก็บตัวอย่าง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจก็จะต้องใช้ไปกับกลุ่มที่ไม่พบการติดเชื้อ ดังนั้นเราจะต้องชั่งน้ำหนักและบริหารจัดการให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 สะสม 2,551 ราย แต่อยู่ในระหว่างการรักษาเพียง 1,295 ราย คิดเป็นร้อยละ 51 ของจำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิตสะสม 38 ราย คิดเป็นร้อยละ 1 และรักษาหายแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว 1,218 ราย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ป่วย นับเป็นลำดับต้นๆ หากเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลกที่มีการรักษาผู้ป่วยจนหายและออกจาก รพ.

นพ.โสภณ กล่าวว่า ในส่วนของจำนวนเตียงรองรับ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีกว่า 1,900 เตียง หากคิดรวมกับจำนวนในต่างจังหวัด คาดว่ามีถึง 10,000 เตียง คาดว่าจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ จะไม่เกิดปัญหา ดังนั้นสิ่งที่ต้องสนใจคือ การรักษาผู้ป่วยใน รพ.ให้หายและกลับบ้านได้ให้มากที่สุด และหากสัปดาห์นี้ อัตราการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นไม่สูงมาก ยังอยู่ในระดับคงที่ ก็มีจะอัตราผู้ที่รักษาหายกลับบ้านมากกว่าผู้ที่อยู่ในการรักษาที่ รพ.

“ส่วนใหญ่ผู้ที่อยู่ในการรักษาขนาดนี้มีอาการน้อย เพียงแต่ว่ามาตรฐานการรักษาคือจะต้องอยู่ใน รพ.อย่างน้อย 14 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดเชื้อแล้ว แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ และเมื่อกลับไปถึงชุมชนก็สามารถต้อนรับกลับบ้านได้อย่างสบายใจและปลอดภัย ดังนั้น ผู้ที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว อยากจะให้เราเข้าใจว่าเขาเป็นผู้ที่ปลอดภัย และหลายคนมีภูมิคุ้มกันแล้ว อาจจะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือคนอื่นได้ต่อไปในอนาคตด้วยซ้ำ” นพ.โสภณ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image