กรมวิทยาศาสตร์ฯ ยันไม่มีทุจริต “แล็บ” ตรวจโควิด-19 เผยหาเชื้อแล้วกว่าแสนตัวอย่าง

กรมวิทยาศาสตร์ฯ ยันไม่มีทุจริต “แล็บ” ตรวจโควิด-19 เผยหาเชื้อแล้วกว่าแสนตัวอย่าง 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์- เมื่อวันที่ 13 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความสามารถในการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ของประเทศไทย ว่า ประเทศไทยใช้การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐาน คือ การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสทางคอ จมูก และระบบทางเดินหายใจ หรือเรียกว่า RT-pcr โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. และ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. มีนโยบายให้กรมวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการขยายขีดความสามารถของห้องแล็บในการตรวจหาเชื้อไวรัส ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ให้มีความพร้อมรองรับตรวจอย่างน้อย 20,000 ตัวอย่างต่อวัน ซึ่งเป็นที่มาของโครงการ “1 จังหวัด 1 แล็บ 100 ห้องปฏิบัติการ” เป็นร่วมมือของ สธ. หน่วยงานของมหาวิทยาลัย ภาครัฐ และภาคเอกชน

“ขณะนี้ภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการของเราทั้งหมด 28 ห้องแล็บ และเป้าหมายการตั้งห้องแล็บให้ได้ 100 แห่ง ขณะนี้สามารถดำเนินการเปิดไปแล้ว 93 แล็บ ที่ได้รับรองจากกรมวิทยาศาสตร์ เหลือเพียง 7 แล็บ ที่จะครบเป้าหมาย และเท่าที่ทราบคือ ความต้องการเปิดทางห้องแล็บ โดยเฉพาะของเอกชนและต่างจังหวัดมีค่อนข้างสูง คาดว่าจะเกิน 100 แห่ง แน่นอน ขอให้เชื่อมั่นว่าการตรวจ RT-pcr ของเราจะไม่ขาดแคลน” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.มีห้องแล็บ 46 แห่ง แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานปลัด สธ. 23 แห่ง กรมวิทยาศาสตร์ฯ 15 แห่ง และกรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ ส่วนภาคเอกชนมี 28 แห่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯและปริมณฑล 22 แห่ง และต่างจังหวัด 6 แห่ง และเป็นหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งในหน่วยงานของมหาวิทยาลัยอีก 19 แห่ง โดยภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดหาเครื่องมือ น้ำยาตรวจเอง โดยรัฐบาลไม่ได้เข้าไปสนับสนุนใด

“กรมวิทยาศาสตร์ฯ หน่วยงานมหาวิทยาลัย และภาครัฐบาลอื่นๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการจัดซื้อเครื่องมือใหม่ เนื่องจากมีเครื่องมือเดิมอยู่แล้ว และในหน่วยงานที่ยังไม่มีเครื่องมือก็จะจัดซื้อเพียงน้ำยาตรวจ และทางบริษัทก็จะนำเครื่องตรวจมาวางให้ โดยไม่ต้องจัดซื้อเครื่องมือเอง แต่มีเพียง 4 แห่งเท่านั้น ที่จัดหาเครื่องตรวจ RT-pcr ด้วยเงินของโรงพยาบาลเอง คือ รพ.ใน จ.เชียงใหม่ จ.อุตรดิตถ์ จ.อุดรธานี และจ.พิษณุโลก” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า จะเห็นว่าการดำเนินงานในโครงการนี้ ไม่มีการกำหนดการซื้อเครื่องมือแบบรวม ไม่ได้มีการกำหนดสเปก แต่ให้หน่วยงานจัดการตามความเหมาะสมของตนเอง เนื่องจากการจัดตั้งห้องแล็บจะต้องมีนักเทคนิคการแพทย์ ความปลอดภัยทางระบบชีวะ (Bio safety)

“ดังนั้นข่าวที่บอกว่า จะพัฒนาห้องแล็บ RT-pcr ที่ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไม่เป็นความจริง และเป็นไปไม่ได้ที่ รพ.สต.จะมีนักเทคนิคการแพทย์ไปประจำอยู่ และระบบความปลอดภัยทางระบบชีวะ รวมทั้งที่บอกว่า เราจะตั้งงบหลายพันล้านบาท เพื่อพัฒนาซื้อเครื่องตรวจ ก็ไม่เป็นความจริง รวมถึงประเด็นที่โยงไปของการทุจริต 30-40% กับนักการเมือง ไม่เป็นความจริง และเราทำไปเกือบ 100 ห้องแล็บแล้ว แต่ยังไม่ได้ของบกลาง หรืองบเพิ่มเติมแม้แต่บาทเดียว” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ห้องแล็บทั้งหมดในภาครัฐและเอกชนได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว 100,498 ตัวอย่าง โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 4-10 เมษายน ตรวจแล้ว 16,490 ตัวอย่าง ขอย้ำว่าโครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการ 1 จังหวัด 1 แล็บ 100 ห้องปฏิบัติการ สามารถดำเนินการได้ค่อนข้างดี

“ขอความกรุณาสื่อรายงานข่าวให้ตรงความเป็นจริง เพราะว่าข้อมูลที่ปราศจากข้อเท็จจริง จะทำให้ประชาชนสับสนแล้ว ยังทำให้เจ้าหน้าที่ที่ตั้งใจทำงานหนัก เกิดความท้อแท้ หมดกำลังใจในการปกป้องประชาชนจากโรคโควิด-19” นพ.โอภาส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image