ลุ้น! ‘กรุงเทพฯ’ ผ่อนปรนหลัง 30 เม.ย. แต่ยังต้องเข้มตามคำแนะนำ สธ.

แพทย์เตือนแม้ไทยพบป่วย “โควิด-19” น้อยลง แต่อย่าวางใจ! ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ สธ.เคร่งครัด

โควิด-19 เมื่อวันที่ 13 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ในระยะหลังประเทศไทยพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มในจำนวนที่ลดน้อยลง ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังมีความจำเป็นมากที่จะต้องคงความเข้มข้นของมาตรการต่างๆ ไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า กรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อมี 102 ราย ที่เพิ่มขึ้น เพราะมีการปรับนิยามเพื่อให้ตรวจจับบุคลกรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อได้เร็วขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบกับทั้งบุคลากร และประชาชนเอง ทั้งนี้ในจำนวนบุคลากรที่ติดเชื้อไวรัส พบว่าติดจากการดูแลรักษาผู้ป่วยร้อยละ 65 ติดเชื้อจากชุมชนประมาณร้อยละ 20 ที่เหลือไม่สามารถระบุว่าติดเชื้อจากที่ไหน แยกเป็นพยาบาล ร้อยละ 40 แพทย์ ร้อยละ 10 ผู้ช่วยพยาบาล/ผู้ช่วยแพทย์ ร้อยละ 10 ที่เหลือเป็นตำแหน่งหน้าที่อื่นๆ

“สำหรับช่วงนี้ที่มีฝนตกหลายพื้นที่ ทั้งความชื้น และอากาศที่เย็นขึ้น ทำให้เชื้อจะสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น สิ่งที่ประชาชนต้องทำเหมือนเดิมคือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว หลีกเลี่ยงการไปในที่ที่คนมากๆ แต่ที่แนะนำเพิ่ม เนื่องจากประชาชนต้องใช้หน้ากากชนิดผ้า เพราะฉะนั้นมันจะมีความชุ่ม จึงขอให้สำรองหน้ากากผ้าไว้วันละหลายชิ้น ถ้าโดนฝน หรือละอองฝนแล้วหน้ากากชื้น ขอให้เปลี่ยนใหม่ อย่าใช้หน้ากากผ้าทั้งๆ ที่มีความชื้น” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้ตัวเลขผู้ป่วยลงมาต่อเนื่อง เกือบเท่าสถานการณ์ก่อนปิดพื้นที่ เพราะฉะนั้นจะมีการผ่อนคลายให้พื้นที่ไหนพิเศษหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ผู้ป่วยในประเทศไทยดีขึ้นค่อนข้างมาก แต่ยังต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ.อย่างเคร่งครัด

Advertisement

“ส่วนเรื่องการผ่อนคลายมาตรการเข้มในบางพื้นที่นั้น ตรงนี้เริ่มๆ จะผ่อนคลายไปบ้างแล้ว ดูเป็นบางพื้นที่ยังต้องปิดเด็ดขาดคือ สถานที่ที่เอาคนไปรวมกลุ่มกันมาก เช่น สนามมวย สถานบันเทิง ฯลฯ ส่วนร้านค้า ร้านอาหาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป็นพิจารณาเปิดได้ แต่ต้องจัดการใหม่ เช่น การจัดโต๊ะต้องห่างกัน รวมถึงธนาคารซึ่งมีความสำคัญ ในขณะนี้อาจจะต้องพิจารณาจัดเว้นระยะห่างของตู้เอทีเอ็มเพิ่มเติม จากที่เคยวางติดกัน ก็ต้องเพิ่มความห่าง” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ถ้าให้พิจาณาผ่อนคลายเป็นพื้นที่ๆ แสดงว่าเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัดยังต้องห้าม หรือเข้มงวดต่อไปหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ก็ต้องพิจารณาเป็นพื้นที่อีกเช่นกัน หากผู้เดินทางที่มีการเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงไปยังพื้นที่ที่ไม่มีการระบาด ต้องมีการกักตัวอย่างเข้มข้น 14 วัน ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีการระบาดไปยังพื้นที่มีการระบาดก็ต้องทำเรื่องการเว้นระยะห่าง

“ส่วนในกรุงเทพฯ ตามประกาศของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีผลถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ คิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่มีการขยายเวลาเพิ่มเติม แต่อย่างที่บอกว่า การกลับมาใช้ชีวิตก็ต้องมีระยะห่าง และที่ยังย้ำเสมอคือ การทำงานที่บ้าน การเหลื่อมเวลาทำงาน การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัวต้องทำเข้มข้นเหมือนเดิม” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

Advertisement

เมื่อถามต่อว่า ขณะนี้สถานการณ์ของประเทศไทยเริ่มพบผู้ป่วยน้อยลง การคาดการณ์หรือการปลดล็อกประเทศไทยจากโควิด-19 จะมีโอกาสอย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า หากสถานการณ์เริ่มดีขึ้น จะตีความอย่างไรได้ คือ 1.โรคนี้หมดจากประเทศไทยแล้ว หรือ 2.ยังมีโรคอยู่ เพียงแต่ยังหาไม่เจอ

“หากตีความว่า โรคนี้หมดจากประเทศไทยแล้ว เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก แต่จากที่ผ่านมาของหลายประเทศ มีรายงานที่ดูเหมือนว่า เรื่องนี้จะไม่จริง เช่น สิงคโปร์ จีน ที่ยังมีการระบาดอยู่” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ดังนั้นการที่จะให้โรคระบาดหายจากประเทศไทยอย่างสิ้นซาก ความเป็นไปได้ ไม่สูงมากนัก แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ทั้ง 2 ข้าง คือ 1.หากไม่สามารถกำจัดผู้ป่วยให้หมดจากประเทศไทยได้ อาจจะมีผู้ป่วยหลงเหลืออยู่ และหากควบคุมได้ไม่ดี ก็จะมีการแพร่ระบาดใหม่ได้ และ 2.หากมีจำนวนผู้ป่วยไม่มากนัก แต่มาตรการยังเข้มข้นต่อไป แม้จะตรวจหาผู้ป่วยไม่พบ ก็สามารถกวาดออกไปได้หมด

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สมมติหากในกรุงเทพฯ เหลือผู้ป่วยอยู่จำนวน 200 ราย แต่อาการไม่รุนแรง จึงไม่ได้ไปโรงพยาบาล (รพ.) และหากในจำนวนนี้แพร่โรคได้ไม่เก่ง เนื่องจากทุกคนยังเข้มงวดในการป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากอยู่ จากเดิมที่มีความสามารถแพร่โรคให้กับ 2 คน ก็อาจจะเหลือเพียง 0.7 คน ดังนั้น 200 รายตอนนี้ อีก 14 วัน ก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ จาก 200 ราย ก็จะเหลือ 140 ราย จาก 140 ราย ก็จะเหลือ 100 ราย จนในที่สุดก็จะหยุดไปเอง แม้เราจะตรวจไม่เจอ แต่มันก็หยุดได้ของมันเอง

“ดังนั้นความเป็นไปได้มีอยู่หลายทาง อยู่ที่ว่าเราจะกวาดล้างมันได้สมบูรณ์แบบไปจนถึงการกวาดล้างให้จำนวนผู้ป่วยเหลือน้อย ซึ่งในจำนวนนี้ก็มี 2 ทางออก คือ เดี๋ยวมันก็หมดไปเองและมันจะเกิดการแพร่ระบาดใหม่อีกครั้ง ขณะนี้เราไม่สามารถที่จะคลายมาตรการใดๆ ให้กลับไปเหมือนวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ได้ มันจะต้องทำงานที่บ้าน หรือมาตรการอื่นๆ ยังคงจะต้องทำอยู่” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image