สธ.เร่งช่วย ‘อสม.-นวดแผนโบราณ’ เจอภัยโควิด-19 แนะกลุ่มนวดอุทธรณ์รับ 5 พัน

สธ.เร่งช่วย ‘อสม.-หมอนวดไทย’ ประสบภัยโควิด-19

เมื่อวันที่ 14 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนระดับชุมชนในการป้องกันและคัดกรองผู้ป่วย และผู้ที่ประกอบอาชีพนวดแผนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศปิดสถานบริการเนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19

นายสาธิตกล่าวว่า ในวันนี้มี 2 เด็นคือ เรื่องที่ 1 การปฏิบัติหน้าที่ของ อสม.ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 1,040,000 คน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 15,000 คน ที่ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้ดำเนินงานตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของเชื้อไวรัสจนถึงวันนี้ โครงการ “อสม. เคาะประตูบ้าน” ได้ดำเนินการไปแล้ว 11,800,000 หลังคาเรือน การเฝ้าระวังและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงจำนวน 660,000 ราย และในขณะนี้การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในต่างจังหวัดโดยคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดมีทิศทางของโรคที่ลดลง ทั้งนี้ สธ.ได้เป็นกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้หารือกันว่าจะมอบกรมธรรม์ประกันชีวิต ให้แก่ อสม.ทั่วประเทศ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและเป็นการลดความเสี่ยงรวมถึงเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่

นายสาธิตกล่าวว่า เรื่องที่ 2 การช่วยเหลืออาชีพนวดแผนโบราณ มี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สบส. ประมาณ 140,000 คนทั่วประเทศ กลุ่มที่อยู่ในระหว่างการขึ้นทะเบียนและกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน ซึ่งโดยหลักการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ดำเนินการโดยกระทรวงการคลัง คนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบคืออาชีพนวดแผนโบราณ เนื่องจากจะต้องทำงานเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวโดยตรง แต่มีผู้ลงทะเบียนไปแล้วพบว่าระบบการตรวจสอบขึ้นสถานะไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น ระบุว่าเป็นนักศึกษา เจ้าของกิจการ หรือเกษตรกร จึงถูกปฏิเสธและไม่ได้รับการเยียวยา ทั้งนี้ สธ. ขอแนะนำว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะต้องยื่นอุทธรณ์ เพื่อรักษาสิทธิ โดยจะต้องเขียนอุทธรณ์ในแง่ของความเป็นจริงว่าขณะนี้มีสถานะประกอบอาชีพนวดแผนโบราณ ส่วนสถานะอื่นเป็นสถานะเก่าหรือเป็นข้อมูลที่กระทรวงการคลังหยิบยกมา ส่งผลให้เสียสิทธิในการรับการเยียวยา ในกลุ่มที่อยู่ในระหว่างการขึ้นทะเบียน กับ สบส. ทางกรมจะต้องเร่งตรวจสอบให้ทันในการรับสิทธิเยียวยาจากกระทรวงการคลัง และกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน เช่น ผู้นวดแผนโบราณที่เกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพงัน ก็จะหาทางในการสนับสนุนเพื่อให้ได้รับการเยียวยาจากกระทรวงการคลังต่อไป

นายสาธิตกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสภากาชาดไทยที่มีหน้าที่จัดการเรื่องถุงยังชีพของประชาชนคนไทย โดยจะต้องเข้ามาดูแลผู้ประกอบ อาชีพนวดแผนโบราณที่มีภูมิลำเนาอยู่อีกที่หนึ่งแต่ได้ไปทำงานอีกที่หนึ่ง แต่ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ นอกจากจะไม่มีรายได้แล้วยังไม่มีทุนทรัพย์ในการยังชีพ จึงขอให้ทางสภากาชาดสนับสนุนคนกลุ่มนี้ในจังหวัดนั้นๆ เพื่อบริจาคถุงยังชีพ ให้กับคนกลุ่มอาชีพนี้

Advertisement

ด้าน นพ.ธเรศกล่าวว่า อสม.มีบทบาทสำคัญร่วมกับภาคส่วนต่างๆ และได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม จึงให้แนวทางกับ อสม.แนะนำประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้มีการสรงน้ำพระที่บ้าน หากจะแสดงความเคารพผู้ใหญ่ก็ควรเว้นระยะห่างกันมากกว่า 2 เมตร รวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตลอดเวลา หรือทางที่ดีที่สุดคือการสื่อสารทางแอพพลิเคชั่นไลน์และอื่นๆ และทาง สธ.ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีโครงการขยายการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง จึงมอบหมายให้ อสม.ดูแลผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงในชุมชนเพื่อเข้าถึงการตรวจคัดกรอง โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

“ส่วนเรื่องขวัญและกำลังใจ สบส.ทำหนังสือไปยัง สปสช.เพื่อซักซ้อมหลักเกณฑ์การเยียวยา ผู้ให้บริการที่ได้รับการบาดเจ็บหรือความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข ซึ่งทาง สปสช.ได้ออกการเยียวยาตามมาตรา 44 ซึ่งระบุว่า บุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุข หากบาดเจ็บจะจ่าย 100,000 บาท หากพิการจะจ่ายไม่เกิน 240,000 บาท หากเสียชีวิตจ่ายได้ถึง 400,000 บาท โดยท่านรัฐมนตรีว่าการ สธ.และรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ได้นำเรื่องนี้เพิ่มอัตราเป็น 2 เท่าสำหรับช่วงโควิด-19 คาดว่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ อสม.ที่เป็นจิตอาสาและมาช่วยเป็นส่วนหนึ่งของการบริการสาธารณสุขมีความมั่นใจ รวมถึงขณะนี้มีผู้ประสงค์มอบสนับสนุนกรมธรรม์ประกันภัย ให้ซึ่งอยู่ในระหว่างการพูดคุยเรื่องสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ” นพ.ธเรศ กล่าว

Advertisement

นพ.ธเรศกล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบอาชีพนวดแผนไทยโบราณ ทาง สบส.ได้ส่งข้อมูลไปยังกระทรวงการคลัง จำนวน 140,000 คน และจากการตรวจสอบเพิ่มเติมก็จะนำส่งข้อมูลเข้าไปเพิ่มอีก 18,000 คน รวมทั้งจะตรวจสอบและประสานไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ถึงสาเหตุที่ผู้ประกอบอาชีพนวดแผนโบราณอีก 50,000 คน ที่ไม่ได้รับการเยียวยา ส่วนเรื่องของการรับมอบถุงยังชีพขณะนี้ทางสภากาชาดไทยได้ประสานงานกับ อสม. เพื่อใช้บริการแอพพลิเคชั่น “พ้นภัย” ซึ่งสามารถให้ข้อมูลกับผู้ประสบภัยและผู้ที่มีปัญหาด้านการดำรงชีพ ทางสภากาชาดไทยจะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบหากเป็นไปตามข้อกำหนดก็จะมีการสนับสนุนถุงยังชีพลงไปในพื้นที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image