สธ.-ข่าวสด จัด “อีเวนต์ออนไลน์” ปรึกษาสุขภาพจิต “หมอตี๋” ชี้กว่า50% เครียดจาก “โควิด-19”

สธ.จับมือ “ข่าวสด” จัด “อีเวนต์ออนไลน์” ปรึกษาสุขภาพจิต 8 ชม. “หมอตี๋” เผยครั้งแรกของไทย ชี้กว่า 50% เครียดจาก “โควิด-19”

กรมสุขภาพจิต- เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสุขภาพจิต สธ.ได้ร่วมกับหนังสือพิมพ์ข่าวสด จัดกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์ โครงการการต่อสู้กับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 “พลังใจ พลังฮีโร่ สู้โควิด-19” นับเป็นครั้งแรกและจะเป็นต้นแบบในการจัดอีเวนต์ออนไลน์

นายสาธิต กล่าวว่า ในการร่วมมือครั้งนี้เป็นการจัดอีเวนต์ออนไลน์ ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้แก่การจัดงานอีเวนต์ต่อไป โดยงานนี้จะเริ่มขึ้นวันที่ 25 เมษายนนี้ เป็นการจัดงานอีเวนต์ในช่วงระยะเวลา 8 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. โดยจะมีกิจกรรมตามช่วงเวลา เช่น การสัมภาษณ์อธิบดีกรมสุขภาพจิต การสร้างแรงบันดาลใจด้วยดาราศิลปิน โดยจะมีสาระที่นำเสนอแตกต่างกันออกไป พร้อมทั้งปิดท้ายด้วยคอนเสิร์ตจากศิลปิน “โป่ง หินเหล็กไฟ” และ “เป้ ไฮร็อก” กิจกรรมนี้ประชาชนสามารถติดตามได้ทางเพจเฟซบุ๊กของ Khosod – ข่าวสด

“การจัดอีเวนต์ออนไลน์เป็นเรื่องที่ดี พร้อมทั้งยังเป็นต้นแบบให้แก่การจัดอีเวนท์ในสภาวะที่มีโรคระบาด และมีข้อห้ามในการนำคนไปรวมตัวกัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค สิ่งนี้จะเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ หากมีการดำเนินการส่วนนี้แล้วมีผลสำเร็จก็จะมีการเปิดช่องทางในการสร้างอีเวนต์ออนไลน์ โดยอาจจะมีการนำผู้สนับสนุนเข้าไปช่วยเหลือ ผู้ชมเองก็สามารถเข้าชมทาง   ออนไลน์ได้ ทั้งนี้ เป็นการปรับพฤติกรรมเพื่อเข้าสู่ New normal ซึ่งเป็นบรรทัดฐานของพฤติกรรมใหม่ของคนในสังคม นับว่าเป็นเรื่องที่ดี และควรให้การสนับสนุน” นายสาธิต กล่าว

Advertisement

นายสาธิต กล่าวว่า นอกจากสุขภาพกายแล้วสุขภาพใจก็เป็นเรื่องที่สำคัญ จึงอยากให้ประชาชนคนไทยทุกคนต่อสู้กับสภาวะวิกฤตนี้ไปด้วยกัน โดยต้องมีการจัดการกับความเครียดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต ผลกระทบสุขภาพจิตจากการระบาดของโรคโควิด-19 สามารถแบ่งคนออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.ผู้ที่ถูกกักกัน/ ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 2.กลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต 3.บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฎิบัติงานด้านการติดเชื้อ โควิด-19 ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่จะต้องดูแลรับผิดชอบชีวิตของประชาชนผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งเกิดความเครียดได้จากการปฎิบัติหน้าที่ และ 4.ประชาชนทั่วไป /ชุมชน การติดตามสถานการณ์ เป็นประจำ โดยเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะเกิดความเครียดได้ ทั้งนี้คนทั้ง 4 กลุ่มนี้ อาจเกิดเป็นภาวะเครียดเรื้อรัง โรคซึมเศร้าไปจนถึงการฆ่าตัวตาย ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในสภาวะวิกฤตเช่นนี้

นายสาธิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต มีโรงพยาบาลศูนย์สุขภาพจิตให้บริการทั่วประเทศพร้อมให้คำแนะนำกับประชาชนเกี่ยวกับภาวะเครียดที่เกิดขึ้น และมีสายด่วนสุขภาพจิตเบอร์ 1323 เพื่อเปิดบริการให้กับประชาชน และมีการเปิดเพิ่มจาก 10 คู่สาย เป็น 20 คู่สาย และเมื่อวันที่ 13 เมษายน ได้เพิ่ม 41 หมายเลข เพื่อเปิดบริการให้คำปรึกษาแก่ประชาชนโดยบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ให้คำแนะนำ รวมไปถึงการเปิดบริการเชิงรุกคือ ให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ต่อสายตรงถึงประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในการเกิดความเครียด แต่ไม่ถึงกับขั้นบังคับสอบถามข้อมูลหากประชาชนไม่เต็มใจ ซึ่งจะเป็นการทิ้งข้อมูลไว้ให้ประชาชนติดต่อกลับมาได้

Advertisement

“สายด่วนสุขภาพจิตในสถานการณ์โควิด-19 ช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ พบว่า มีผู้โทรเข้ามาปรึกษาน้อย แต่ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน จะเริ่มมีผู้โทรเข้ามาปรึกษามากขึ้น โดยสามารถจัดกลุ่ม 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มเครียดวิตกกังวลร้อยละ 51.85 กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเดิมร้อยละ 37.99 และสอบถามข้อมูล ร้อยละ 6.57 ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตมีคู่มือในการจัดการสุขภาพจิตสำหรับสถานพยาบาลทั่วประเทศ โดยการยึดหลัก 4 สร้าง 2 ใช้ คือ 1.สร้างให้เกิดความปลอดภัย 2.สร้างความสงบ 3.สร้างความหวัง 4.สร้างความเข้าใจเห็นใจกันและกันในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วน 2 ใช้คือ 1.ใช้ศักยภาพขององค์กรอย่างเต็มที่ 2.ใช้สายสัมพันธ์สร้างความเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังสามารถใช้คู่มือนี้กับประชาชนทั่วไปได้ด้วย” นายสาธิต กล่าว

ทั้งนี้ นายสาธิต กล่าวว่า หากปล่อยให้ความเครียดอยู่สะสมภายในตัวเราโดยที่ไม่ได้มีการจัดการ ก็จะสะสมทำให้เกิดเป็นโรคเครียด และพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้า ดังนั้น จึงต้องทำการเรียนรู้สร้างความเข้าใจและได้รับคำปรึกษาจากผู้ที่มีวิชาชีพด้านนี้โดยเฉพาะจิตแพทย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image