‘หมอ’ ชี้ขาย ‘ชุดตรวจภูมิโควิด-19’ ออนไลน์ผิด กม.แถมไม่ได้ผล ยันต้องหา ‘สารพันธุกรรมไวรัส’ เป็นหลัก

‘หมอ’ ชี้ขาย ‘ชุดตรวจภูมิโควิด-19’ ออนไลน์ผิด กม.แถมไม่ได้ผล ยันต้องหา ‘สารพันธุกรรมไวรัส’ เป็นหลัก

ชุดตรวจโควิด-19 เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ว่า การตรวจหาเชื้อไวรัสที่องค์การอนามัยโลกรับรองและเป็นวิธีมาตรฐานการ คือ การตรวจหาสารพันธุกรรม RT-pcr เป็นการตรวจที่ไวที่สุดหลังจากเริ่มมีอาการ ประเทศไทยมีเครือข่ายห้องแล็บ124 แห่ง ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วทั่วประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องยากในการตรวจหาเชื้อ ทั้งนี้หลายโรงพยาบาล (รพ.) มีการส่งตัวอย่างตรวจออนไลน์ จึงสามารถส่งผลตรวจและรอผลได้ภายใน 1 วัน

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนเรื่องของการตรวจหาภูมิคุ้มกัน หรือ แอนติบอดี้ ของโรคโควิด-19 โดยพื้นฐานภูมิคุ้มกันจะขึ้นในระยะ 7 วันหลังจากที่ได้รับเชื้อสู่ร่างกาย จากการทดลองการนำตัวอย่างของผู้ป่วยที่ตรวจด้วย RT-pcr ผลเป็นบวก จำนวน 34 ราย นำมาตรวจหาภูมิคุ้มกัน พบว่า หลังจากแสดงอาการในระยะ 1-7 วันแรก ภูมิคุ้มกันขึ้นเพียงร้อยละ 17.65 ในระยะ 8-14 วัน ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 .41 และในระยะมากกว่า14 วันภูมิคุ้มกันขึ้นร้อยละ 85

“ช่วงเวลาการตรวจวินิจฉัยด้วยการหาภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่จะต้องรอให้คนไข้ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ผลการตรวจจึงจะออกมาเป็นบวก ซึ่งตามหลักการแล้วนับว่าเป็นเวลาที่ค่อนข้างช้าสุด เนื่องจากหากมีอาการแล้ว 2 สัปดาห์ แพทย์จะสามารถทราบโดยอาการและตรวจหาเชื้อทางรหัสพันธุกรรมเจอแล้ว ดังนั้น เมื่อเรามีอาการทางควรใช้การตรวจแบบหาสารรหัสพันธุกรรม RT-pcr ซึ่งตรงกับที่องค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญประเทศไทยได้บอกไว้ว่า การตรวจอุณหภูมิกัน หรือที่คนไทยชอบเรียกว่า rapid test ไม่ค่อยมีประโยชน์ในการวินิจฉัยและรักษา รวมทั้งการสอบสวนโรค แต่จะมีประโยชน์ในบางกรณีเท่านั้นซึ่งค่อนข้างมีจำกัด” นพ.โอภาส กล่าวและว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคที่ใหม่ ดังนั้นภูมิคุ้มกันที่ขึ้นอาจจะไม่สามารถป้องกันโรคในร่างกายได้

Advertisement

นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อสำคัญคือ การโฆษณาขายชุดตรวจหาภูมิคุ้มกัน rapid test ทางอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากการตรวจเช่นนี้จะต้องกระทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ และจะต้องทำในสถานพยาบาลเท่านั้น และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เน้นย้ำว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image