นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในวันที่ 23 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 1024.46 จุด ทำให้เฉพาะในเดือน เมษายนนี้ ดัชนีเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว 13% และ ฟื้นตัวสูงถึง 24% จากจุดต่ำสุด ถือว่าเป็นอัตราการฟื้นตัวที่เร็วกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตในช่วงที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤต หลังจากที่เคยปรับตัวลดลงแรงถึง 33% จากจุดสูงสุดช่วงกลางเดือนมกราคม ที่ผ่านมา เนื่องจากระดับความเสี่ยงโดยภาพรวมทั่วโลกลดลง โดยเฉพาะต้นเหตุของวิกฤตครั้งนี้คือ ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยมีอัตราชะลอตัวลง ในขณะที่จำนวนผู้ที่หายป่วยแล้วมีเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในหลายๆ ประเทศรวมถึงไทย ประกอบกับความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในตลาดการเงิน และความเสี่ยงด้านเครดิต ที่ล้วนปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา
“ผลจากการที่ธนาคารกลางรวมถึงรัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ได้เร่งออกมาตรการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดการเงิน และ ภาคธุรกิจ รวมถึง มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจและประชาชนที่รวดเร็วและมีขนาดของเม็ดเงินที่สูง (มากกว่า 10% ของจีดีพี) เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้มีการออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจมาแล้ว3 ชุด จึงส่งผลทำให้นักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นและกลับเข้าลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์เพื่อการลงทุนทุกกลุ่ม แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะยังไม่จบ รวมถึงความเสี่ยงต่อเนื่องที่อาจจะตามมาได้อีก เช่น ล่าสุดเกิดขึ้นในตลาดน้ำมันดิบยังคงมีโอกาสกระทบบรรยากาศการลงทุนต่อไป แต่เชื่อว่าด้วยความพร้อมของมาตรการด้านต่างๆ จะทำให้โอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม มีโอกาสน้อยลงจึงเชื่อว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดผ่านพ้นไปแล้ว” นายสุกิจกล่าว
นายสุกิจกล่าวว่า การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยดูเหมือนจะเกิดขึ้นเร็วและแรงเกินไป ทําให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดความผิดหวังหากการกลับมาดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องเลื่อนออกไป เพราะเกิดการระบาดระลอก 2 จึงมองว่ายังเร็วเกินไปที่ดัชนีจะฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากคาดว่ากําไรในปี 2564 จะตํ่ากว่าปี2562 นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมหลายกลุ่มก็เผชิญกับความท้าทายที่จะกลับมาเติบโตในระดับก่อนเกิดจากโควิด-19 ด้วย เนื่องจากภาพใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยตํ่าและการเติบโตต่ำ และหากพิจารณาจากมูลค่าหุ้นปัจจุบันมีระดับพีอีปี 2563 เท่ากับ 16.8 เท่า หรือเท่ากับระดับ +1เอสดีของค่าพีอีเฉลี่ย 7 ปี ก็ถือได้ว่าสะท้อนผลการดำเนินงานของปี 2563 ไปมากแล้ว จึงทำให้เราประเมินว่า ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่2/2563 จะเริ่มจำกัด แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาว ยังประเมินเป้าหมายของดัชนีในปี 2564 ที่ระดับ 1400-1450 จุด
นายสุกิจกล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนในปัจจุบันยังคงแนะนำให้เลือกซื้อหุ้นปลอดภัยและคุณภาพสูง โดยยังคงมุมมองระมัดระวังต่อแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว และอัตราการฟื้นตัวในระยะสั้นที่ยังไม่แน่นอน โดยคาดผลประกอบการฟื้นตัวในรูปแบบตัวยู ส่วนตลาดหุ้นเหมือนกำลังฟื้นตัวในรูปแบบตัววี แนะนำเลือกลงทุนกลุ่มที่กำไรสุทธิมีโอกาสฟื้นตัวรูปแบบวี เมื่อประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยกำลังจะกลับมาดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ อย่างน้อยคงทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น หากมีการเริ่มเปิดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ได้ตามที่คาด โดยปกติแล้วจีดีพีมักจะใช้เวลา 5-7 ไตรมาส ก่อนที่จะกลับคืนมาเติบโตตามปกติ อย่างไรก็ตาม ในแง่มูลค่าของกําไรสุทธิของหุ้นอาจจะยังไม่ฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับปี 2562 จนกว่าจะถึงปี 2565 สะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ ของบางธุรกิจ เช่น ธนาคาร อาหาร อสังหาริมทรัพย์ และ ท่องเที่ยว เป็นต้น ส่วนธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมี ยังคงต้องประเมินทิศทางของราคาน้ำมันดิบต่อไป