“โควิด-19” ทำ “ครอบครัว” อ่อนแอ สธ.แนะทางฟื้นจากวิกฤต ต้องดูแลสุขภาพจิตควบเศรษฐกิจ 7กลุ่มพิเศษ

“โควิด-19” ทำ “ครอบครัว” อ่อนแอ สธ.แนะทางฟื้นจากวิกฤต ต้องดูแลสุขภาพจิตควบเศรษฐกิจ 7 กลุ่มพิเศษ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัวครัวไทยต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีอยู่ 3.8 ล้านครอบครัว ซึ่ง 1 ครอบครัว เฉลี่ยมีสมาชิก 4-6 คน บางครอบครัวมีการขาดแคลนปัจจัย 4 ซึ่งไม่ได้หาได้จากตู้ปันสุข

“ปัญหาเศรษฐกิจครอบครัว จะส่งผลไปถึงสุขภาพจิต นำไปสู่การฆ่าตัวตายอย่างวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2541 ซึ่งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็มีคนฆ่าตัวตายนับพันราย สิ่งที่ตามมาอีกคือ ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางด้านจิตใจ ร้อยละ 32 ส่วนด้านร่างกาย ร้อยละ 10 ส่วนความรุนแรงทางเพศ ร้อยละ 4.5 และปัญหาการหย่าร้าง จึงจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญ 7 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มมีสภาวะยากจน ขาดแคลน ซึ่งมีการลงทะเบียนเอาไว้จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ กลุ่มที่ 2 ผู้สูงอายุและผู้พิการ กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วย เช่น เบาหวาน ความดัน กลุ่มที่ 4 ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 50% ของครอบครัวไทย กลุ่มที่ 5 กลุ่มที่เข้าไม่ถึงสิทธิ์ เช่น เมื่อมีการลงทะเบียนผ่านโทรศัพท์มือถือเขาเข้าไม่ถึงสิทธิ์เพราะไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ หรือไม่มีบัญชีธนาคาร นอกจากเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือแล้ว ความรู้สึกหดหู่เมื่อเห็นคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่ากลับได้รับความช่วยเหลือ ในขณะที่ตัวเองลำบากมากกว่าแต่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือจะทำให้เกิดสภาวะจิตใจหดหู่ ซึมเศร้าได้ กลุ่มที่ 6 กลุ่มคนไร้สถานะ แรงงานต่างด้าว และกลุ่มที่ 7 กลุ่มชาติติพันธ์ตามชายขอบ ในเขตเมือง เขตอุตสาหกรรมหรือจังหวัดชายแดน” นพ.โกมาตร กล่าว

นพ.โกมาตร กล่าวว่า เมื่อมองเชิงเปรียบเทียบผลกระทบครอบครัวไทยแล้ว อยากจะย้ำไปที่ครอบครัวกลุ่มเปราะบางในเขตเมือง เพราะในชนบทจะมีอาสามสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ติดตามถึงบ้านให้กำลังใจผู้คน ก็พอช่วยเหลือได้ แต่ในเขตเมืองกลไกการดูแลจะยากลำบาก ดังนั้น ในเขตเมืองจะมี 2 กลุ่มที่ต้องเน้นหนักเป็นพิเศษ คือ กลุ่มคนไร้บ้าน และกลุ่มชุมชนแออัด ซึ่งเสี่ยงเรื่องปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวจากเศรษฐกิจไม่ดี

นพ.โกมาตร กล่าวว่า สรุปว่ากลไกต่างๆ ที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือให้มองผลกระทบออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นระยะเร่งด่วน กลุ่มเปราะบางเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลืออะไรควรเข้าไปตอบสนอง ระยะที่ 2 ระยะกลาง ซึ่งจะมีการคลายล็อกมากขึ้นในอนาคตจะมีผลกระทบตามมา เช่น การเปิดโรงเรียน ซึ่งในต่างประเทศพบมีการระบาดของโควิด-19 กลับมา ที่สำคัญมีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า เด็กที่เรียนอยู่กับบ้าน เมื่อกลับไปเรียนที่โรงเรียนจะมีปัญหาความรู้ตกหล่น ไม่สามารถจะเรียนได้ตามเนื้อหาที่คาดหวังไว้มาก โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวที่ไม่มีอุปกรณ์สำหรับเรียนที่บ้าน พบตกหล่นเรียนไม่ทันเพื่อนมากกว่าร้อยละ 50 เพราะฉะนั้นหลังคลายล็อกเปิดเรียนแล้ว ครู อาจารย์ต้องติดตามความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการเรียนรู้และสร้างกระบวนการสนับสนุนรองรับ และสุดท้ายระยะที่ 3 คือ ระยะยาว เป็นการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ อาจจะควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลมีนโยบายอยู่แล้ว เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image