อนามัยโลกสรุป 6 ข้อ ไทยรับมือ “โควิด-19” ระลอกแรก ชี้ภาวะผู้นำดี

อนามัยโลกสรุป 6 ข้อ ไทยรับมือ “โควิด-19” ระลอกแรก ชี้ภาวะผู้นำดี

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นมา มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลก เพิ่มขึ้นกว่าวันละ 2 แสนราย ซึ่งหมายความว่า ในทุก 4-5 วัน จะมีผู้ป่วยสะสม 1 ล้านคน ในหลายประเทศที่เคยมีสถานการณ์ค่อนข้างดี มีแนวโน้มของผู้ป่วยในแนวขนาน คือ ไม่ได้มีการเพิ่มสูงขึ้น แต่มีบางประเทศอาจจะสถานการณ์แย่ลง หรือมีการระบาดระลอกที่ 2 ส่วนบางประเทศ เช่น สวีเดน ที่มีมาตรการบังคับน้อย ปิดเมืองค่อยข้างน้อย แต่กลับพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยน้อยลง ส่วนประเทศไทยหากพูดตามเนื้อผ้าคือพบผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ 5 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ

“สถานการณ์เช่นนี้ หากถามว่าประเทศไทยจะกลับมามีผู้ป่วยรายใหม่หรือไม่ ก็ตอบว่า มี จากลักษณะเหตุการณ์คือ 1.มีผู้ป่วยหลงเหลือในประเทศ 2.ผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้าในสถานกักกันโรค จะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นจริงๆ เพราะผู้ปฏิบัติงานอาจจะเกิดติดเชื้อได้ และนำเชื้อเข้าประเทศโดยบังเอิญ ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วที่ประเทศออสเตรเลีย และ 3.กลุ่มผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวถึงการระบาดในฮ่องกงที่เกิดขึ้นขณะนี้ว่า มีการตั้งสมมติไว้ 3 อย่าง คือ 1.การจัดการสถานกักกันโรคฯ ที่มีการยกเว้นให้ผู้เดินทางบางคนสามารถไปกักกันตนเองได้ในสถานที่ส่วนตัว ซึ่งประเทศไทยมีระบบการกักกันโรคฯ ที่มีมาตรฐานเป็นอย่างดี 2.การผ่อนปรนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ทำให้เกิดการแพร่โรคได้อย่างรวดเร็ว และ 3.การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญบางคนระบุว่า ประเด็นนี้อาจจะไม่เกี่ยวกัน หรือ หากเกี่ยวกันก็มีผลค่อนข้างน้อย

ทั้งนี้ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว องค์การอนามัยโลกได้เข้ามาประเมินการจัดควบคุมโควิด-19 ในไทยระลอกที่ 1 ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อส่งให้กับรัฐบาลไทยรับทราบต่อไป วัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้ไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการรับมือการระบาดระลอกที่ 2 โดยเบื้องต้นมีข้อสรุปว่า 1.การลงทุนระยะยาวในระบบสาธารณสุขด้านการป้องกันควบคุมโรค เช่น ระบบเชิงโครงสร้าง เรื่องกำลังคน ทั้งด้านระบาดวิทยา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) 2.ระบบจัดการทรัพยากรบุคคล ที่มีความยืดหยุ่นที่สามารถดึงกำลังคนมาในระบบเพื่อจัดการกับภาวะฉุกเฉิน ทำให้สามารถตอบโต้กับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 3.มีภาวะการนำที่ดี โดยภาวะการนำร่วมที่ผู้นำประเทศและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีภาวะการนำที่ดี มีการนำหลักฐานวิทยาศาสตร์มาใช้อย่างเหมาะสม 4.การสื่อสารที่ชัดเจน มีข่าวที่ไม่ตรงกัน หรือ มีความสับสนค่อนข้างน้อย 5.การให้ความร่วมมือจากเอกชน ประชาสังคมและประชาชนที่ค่อนข้างสูง และ 6.สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องปรับปรุงคือระบบข้อมูล เพื่อการตัดสินใจที่เหมาะสม ทางทีมประเมินมองว่า สธ.สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ดี จึงอยากให้มีการปรับปรุงระบบข้อมูลให้มีความเร็ว ทันเหตุการณ์มากขึ้น

Advertisement

“สถานการณ์ของไทยในปัจจุบัน ยังมีความเสี่ยงอยู่ ไม่ใช่จะกลับไปใช้ชีวิตแบบก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกคนควรร่วมมือกันเข้าใจในความเสี่ยง และเข้าใจว่าเราควรทำอะไร ช่วยกันลดความเสี่ยง ทั้งเอกชน สถานประกอบการ ร้านค้า ต้องดูแลและลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด ส่วนบุคคลคือปฏิบัติตามสุขอนามัยที่เหมาะสม เลี่ยงแออัด สวมหน้ากาก ล้างมือ เพื่อประเทศไทยเอง หากเรามีโรคในระดับต่ำหรือไม่มีเลย ก็สามารถเปิดสังคม เปิดประเทศ เปิดเศรษฐกิจของเราได้ ซึ่งเศรษฐกิจกับโควิด เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่สามารถมองแยกกันหรือมองเป็นขั้วตรงข้ามได้ เมื่อโควิดลดลง เศรษฐกิจก็จะเดินได้ และขณะเดียวกันเศรษฐกิจเดินได้ คนไทยก็จะมีสุขภาพดีด้วย” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การจัดการความเสี่ยงอีกด้านคือ การเฝ้าระวังผู้ป่วยหลุดเข้ามาในพื้นที่ สามารถช่วยได้ตั้งแต่ระดับบุคคล สามารถคัดกรองอาการป่วย ไข้ ไอ เจ็บคอ ก็ควรหยุดอยู่บ้าน การจัดระบบคัดกรองในสถานที่ต่างๆ การเว้นระยะห่าง การปรับปรุงทางวิศวกรรม เช่น การใช้ฉากกั้น ระบบระบายอากาศ การจัดระบบงานที่ลดการสัมผัสระหว่างบุคคลให้น้อยที่สุด และต้องมีการป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย

“อยากเน้นย้ำว่า ถ้าเรามีผู้ป่วยเข้ามาในประเทศไทยซักหนึ่งคน และประเทศไทยมีความพร้อม ทุกคนเตรียมตัวเป็นอย่างดี เราอาจจะมีผู้ติดเชื้อในประเทศตามมา ไม่มาก และมันจะสงบไป ถ้าจะเทียบให้เทียบกับกองฟืนที่แห้งสนิท เมื่อมีลูกไฟตกลงมา ก็สามารถติดไฟได้ง่ายและลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินเข้ามาในประเทศไทย อาจะเป็นเม็ดไฟที่ตกลงมาในกองฟืน ฉะนั้นการทำให้กองฟืนเปียกชื้นเสมอ ก็เหมือนกับการสังคมไทยร่วมใจกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง แม้มีผู้ป่วยในประเทศก็จะไม่ลุกลามใหญ่โตและสามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image