หมอยงยันโควิด-19 เป็นแล้วเป็นอีกได้ เผยทีมวิจัยศึกษาภูมิผู้ติดเชื้อระยะ 1 ปี

หมอยงยันโควิด-19 เป็นแล้วเป็นอีกได้ เผยทีมวิจัยศึกษาภูมิผู้ติดเชื้อระยะ 1 ปี เสริมองค์ความรู้พัฒนาวัคซีน

วันนี้ (31 สิงหาคม 2563) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงความเป็นไปได้ที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ถ้าเคยเป็นแล้วก็สามารถเป็นใหม่ได้อีกพร้อมทั้งระบุว่า ระบบภูมิต้านทานกับการติดเชื้อซ้ำของโควิด-19 จะมีความสำคัญมากกับวัคซีนที่กำลังพัฒนาเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว

ศ.นพ.ยง ระบุว่า การศึกษาภูมิระยะยาวของผู้ที่หายป่วยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ล่าสุด ตนและคณะได้ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ อยู่ระหว่างทำการศึกษาติดตามภูมิต้านทานในผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 ระยะยาวให้ถึง 1 ปี ขณะนี้เข้าสู่เดือนที่ 6 แล้ว

ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวระบุว่า

“โควิด-19 เป็นแล้วเป็นอีกได้หรือไม่
เพิ่งให้สัมภาษณ์วารสารชื่อดัง ถึงเรื่องการเป็นซ้ำของ โควิด-19
ขณะนี้ทั่วโลก มีการยืนยันว่าเป็นแล้วเป็นอีก 4 ราย คือใน ฮ่องกง เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และ รัฐเนวาด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา

Advertisement

มีการยืนยันว่าเป็นแล้วเป็นอีก ในฮ่องกงระยะห่างกัน 4 เดือนครึ่ง
ผู้ป่วยในอเมริกาเป็นครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรกไม่ถึง 50 วัน
ผู้ป่วยเป็นครั้งที่ 1 ไม่รุนแรง ส่วนการเป็นครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่ก็ไม่รุนแรง ยกเว้นในผู้ป่วยของอเมริกา ที่เป็นครั้งที่ 2 มีอาการปอดอักเสบ ส่วนครั้งแรกไม่รุนแรง

การติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำ ต้องแยกจากการตรวจพบเชื้อซ้ำในผู้ที่หายจากโควิด-19 หรือที่เราชอบพูดกันว่าตรวจพบซากไวรัส

จากการศึกษาของเราในการติดตาม ผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19
มีการตรวจพบเชื้อซ้ำได้อีก หลังจากผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 14 ราย จากจำนวน 212 ราย (6.6%) ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 5 สัปดาห์ จนถึง 15 สัปดาห์หลังจากที่มีอาการ

Advertisement

ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากผู้ป่วยที่มีอาการน้อย จะมีภูมิต้านทานต่ำกว่าผู้มีอาการมาก หรือปอดบวม
การตรวจภูมิต้านทาน จากการติดตามของเราในผู้ป่วย 217 ราย ที่หายจากโควิด-19 แล้วในช่วง 4 สัปดาห์ถึง 14 สัปดาห์ จะตรวจไม่พบภูมิต้านทาน IgG ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีอาการน้อย เราตรวจทั้งภูมิต้านทานต่อ spike protein และ neucleocapsid

จากการศึกษาในอดีต coronavirus ทั่วไปที่ทำให้เกิดหวัด ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นค่อนข้างต่ำ และลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นแล้วเป็นอีกได้

เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจทั่วไป เช่น RSV Rhinovirus เป็นแล้วเป็นอีกได้
ไม่แปลกเลยที่ RSV ในเด็กบางคนเป็นทุกปี เพราะเชื้อจะอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนต้นเป็นส่วนใหญ่ และภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจึงไม่อยู่นาน และไม่สามารถปกป้องกันเป็นซ้ำได้

เช่นเดียวกันโควิด-19 ในผู้ที่มีอาการน้อย และถ้าภูมิต้านทานต่ำ และไม่อยู่นาน ก็จะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก คงจะต้องติดตามต่อไปว่า จะพบได้บ่อยแค่ไหน เพราะการระบาดของโรคนี้ เพิ่งเป็นมาแค่ 9 เดือน คงจะก็มีข้อมูลการเป็นซ้ำเพิ่มขึ้น

ระบบภูมิต้านทานกับการติดเชื้อซ้ำของโควิด-19 จะมีความสำคัญมากกับวัคซีนที่กำลังพัฒนา ในการป้องกันโรค รวมทั้งภูมิที่เกิดขึ้น จะส่งเสริมการเกิดโรคครั้งที่ 2 หรือไม่

การศึกษาภูมิระยะยาวของผู้ที่หายป่วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษา ขณะนี้ผมและคณะ ร่วมกับสำนักอนามัย ของกรุงเทพมหานคร และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กำลังทำการศึกษาติดตามภูมิต้านทานในผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 ระยะยาวให้ถึง 1 ปี ขณะนี้เข้าสู่เดือนที่ 6 แล้ว ขอเชิญชวนผู้ที่หายจากโรค ติดตามระดับภูมิต้านทาน เพื่อเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาวัคซีนต่อไป

ยง ภู่วรวรรณ 31 Aug 2563″

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image